สศก.แจงภัยแล้งฉุดเปอร์เซ็นต์แป้งลดบางส่วนขาดแคลนต้นพันธุ์

26 พ.ค. 2559 | 04:37 น.
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ภัยแล้งกระทบพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบางส่วนได้รับความเสียหาย หัวมันสำปะหลังมีขนาดเล็ก เชื้อแป้งลดลง โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่กิโลกรัมละ 1.87 บาท ด้านภาครัฐเร่งเดินหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด ปี 2558/59 เพื่อสนับสนุนเงินทุน ช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตแล้ว

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดมันสำปะหลังในแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของภาคกลางและภาคเหนือว่า มันสำปะหลังได้ออกสู่ตลาดมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่า ปีนี้หัวมันสำปะหลังส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เชื้อแป้งลดลงประมาณ 1- 3% รวมทั้งผลผลิตต่อไร่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะภัยแล้ง โดยเกษตรกรบางส่วนขุดมันสำปะหลังไม่ครบอายุ ประกอบกับใช้พันธุ์มันสำปะหลังไม่เหมาะสมกับพื้นที่ หรือใช้พันธุ์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากทางราชการ และใช้พันธุ์ตามเพื่อนบ้าน เช่น พันธุ์น้องแบม ที่ให้น้ำหนักดีแต่มีเชื้อแป้งต่ำ เพราะมีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงของผู้จำหน่ายพันธุ์มันสำปะหลัง ทำให้เมื่อกระทบแล้ง มันสำปะหลังพันธุ์นี้จึงให้เชื้อแป้งลดต่ำลงมาก
สำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ พบว่า มันสำปะหลังที่ปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2558 ประสบภาวะภัยแล้ง ส่งผลให้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบางส่วนได้รับความเสียหาย เกษตรกรต้องปลูกซ่อมหรือบางรายต้องปลูกใหม่ ส่วนเกษตรกรที่เตรียมต้นพันธุ์เพื่อปลูกในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2559 บางพื้นที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้ จึงส่งผลให้พันธุ์มันสำปะหลังที่เตรียมไว้ตาย เกิดปัญหาขาดแคลนต้นพันธุ์

ด้านการตลาด พบว่า ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ยังคงอ่อนตัวลง จากราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.09 บาท ในเดือนตุลาคม 2558 เหลือกิโลกรัมละ 1.87 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2559 เนื่องจากจีนชะลอการสั่งซื้อมันเส้น ประกอบกับเชื้อแป้งมันสำปะหลังต่ำ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด ปี 2558/59 เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยดให้แก่เกษตรกร และช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยให้เกษตรกรกู้เงินจาก ธ.ก.ส. วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งรัฐชดเชยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ FDR+1 ต่อปี ระยะเวลา 24 เดือน เกษตรกรสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส. ใกล้บ้าน ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 30 กันยายน 2559