หวั่น‘พิโคไฟแนนซ์’เปิดทางเจ้าหนี้ฟอกตัว

26 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
คลัง-ธปท. จ่อทบทวนคำ จำกัดความเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบ หวั่นซํ้าซ้อน “พิโค ไฟแนนซ์”-“นาโนไฟแนนซ์” มั่นใจไม่เป็นเหตุทำหนี้เสียระบบเพิ่ม ด้านเอกชนห่วงมาตรการรัฐคุมเข้มไม่ดีพอ หวั่นแค่ถือใบอนุญาตบังหน้า เปิดทางเจ้าหนี้นอกระบบฟอกตัว แนะควรจัดหาหน่วยกลางจัดทำฐานข้อมูล “เครดิตบูโร” รายย่อย พร้อมวางไฟล์บังคับ กำหนดระยะเวลาถือครองใบอนุญาต ชี้ไม่ง่ายจูงใจเจ้าหนี้นอกระบบมารับในดอกเบี้ย 3% ต่อเดือน

[caption id="attachment_56395" align="aligncenter" width="700"] หลักเกณฑ์การจัดตั้งระหว่าง พิโคไฟแนนซ์ กับ นาโนไฟแนนซ์ หลักเกณฑ์การจัดตั้งระหว่าง พิโคไฟแนนซ์ กับ นาโนไฟแนนซ์[/caption]

แนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และช่วยลดภาระประชาชนโดยเฉพาะรายย่อยต่างจังหวัดที่ถูกนายทุนขูดรีดดอกเบี้ยในอัตราแพง ด้วยการจัดตั้งโครงการสินเชื่อเพื่อประชาชนใช้บริโภคกรณีฉุกเฉินหรือ PICO Finance โดยเกณฑ์เบื้องต้น กำหนดให้ปล่อยกู้ต่อรายได้ไม่เกิน 5หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกินเพดานที่ 36% ต่อปี ทุนจดทะเบียนจัดตั้งไม่เกิน 5 ล้านบาท
*คลังเตรียมร่างคำจำกัดความ

ต่อความคืบหน้าในเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการพิโคไฟแนนซ์ ยังอยู่ระหว่างการร่างกรอบการนิยาม การให้บริการสินเชื่อ เนื่องจากหากประเมินรูปแบบแล้ว พิโค ไฟแนนซ์ จะเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีขนาดเล็กสุดในระบบ หรือเล็กกว่า นาโนไฟแนนซ์ ดังนั้นการจำกัดความ จึงมีความจำเป็นเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับนาโนไฟแนนซ์

"ขณะนี้ยังไม่มีสรุปหลักเกณฑ์ เพราะในเบื้องต้นต้องสรุปให้ได้ว่า การจะหาผู้ที่สนใจดำเนินธุรกิจ ต้องกำหนดรายละเอียดของผู้ให้สินเชื่อให้ชัดเจน และต้องไม่ไปทับซ้อนกับนาโนไฟแนนซ์ที่มีอยู่แต่เดิม รวมทั้งยังไม่สามารถสรุป เรื่องทุนจดทะเบียน ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ใหม่ ว่าจะสามารถผ่อนเกณฑ์ โดยลดทุนจดทะเบียนลงจากปัจจุบัน 50 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาทตามที่มีผู้เสนอได้หรือไม่ หรือจะผ่อนผันเกณฑ์ด้านใด"

 เปิดเกณฑ์เบื้องต้นพิโคไฟแนนซ์

สำหรับเกณฑ์เบื้องต้นของผู้ที่จะยื่นขอใบอนุญาต พิโค ไฟแนนซ์ จะปล่อยสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท เพดานอัตราดอกเบี้ย 36 % ต่อปี หรือ 3% ต่อเดือน ถือเป็นอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนอกระบบที่คิดกันสูงกว่า 100% ต่อปี หรือเฉลี่ย 10-20% ต่อเดือน ส่วนทุนจดทะเบียนอาจไม่มากที่ 1-5 ล้านบาท โดยต้องกำหนดระดับให้มีความเหมาะสม โดยเกณฑ์ดังกล่าวขณะนี้ยังตั้งเป็นตุ๊กตา เพื่อจะเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา โดยอยู่ภายใต้มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยและหนี้นอกระบบ หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะออกเป็นประกาศกระทรวงให้มีผลบังคับใช้ในทันที

 มั่นใจหนี้เสียรายย่อยไม่เพิ่ม

ส่วนข้อกังวลว่าจะทำให้หนี้เสียในส่วนของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพิ่ม หากพิจารณาจากการกำหนดเพดานการปล่อยกู้ต่อรายไว้ที่ระดับต่ำสุด คือไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย ดังนั้นโอกาสที่หนี้เสียจากการผิดนัดชำระหนี้ จะเกิดขึ้นได้น้อย เช่นปล่อยกู้ 5 หมื่นบาท กำหนดชำระขั้นต่ำ 10% ดังนั้นวงเงินที่ผู้กู้ต้องชำระเงินต้นบวกดอกเบี้ย คือ 5 พันบาทบวก 1.5 พันบาท หรือขั้นต่ำที่ 6.5 พันบาทต่อเดือน และข้อดีคือเป็นการลดต้นลดดอก ต่างจากการกู้หนี้นอกระบบที่เกือบทั้งหมดที่จ่าย เป็นค่าดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ทางการอาจต้องปรับเกณฑ์ จากเดิมที่กำหนดว่าผู้สนใจที่ยื่นจดทะเบียนพิโค ไฟแนนซ์ ที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถปล่อยกู้ข้ามเขตหรือข้ามจังหวัดได้ ตรงนี้ยอมรับว่า หากเป็นผู้ที่ยื่นจดทะเบียนอยู่ในต่างจังหวัด อาจไม่เป็นปัญหา แต่หากเป็นรายที่ยื่นจดในกรุงเทพฯ อาจมีปัญหาเรื่องการกำหนดพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เพราะล้วนแต่อยู่ติดกรุงเทพฯ ดังนั้นอาจเป็นไปได้ที่จะขยายกรอบว่า หากเป็นรายที่จดทะเบียนในจังหวัดเหล่านี้ ก็อาจอนุญาตให้ปล่อยกู้ข้ามเขตได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ต้องรอผลสรุปจากการศึกษาอีกครั้ง"

ธปท.จ่อทบทวนเกณฑ์ไม่ให้ซ้ำซ้อน

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงการคลัง มีแผนชัดเจนจัดตั้ง พิโคไฟแนนซ์ คงต้องมาหารือร่วมกัน เพื่ออย่างน้อยจะไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับนาโนไฟแนนซ์ โดยที่ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ก็ยังเดินหน้าไปต่อได้ รวมไปถึงนโยบายก่อนหน้าที่มีแผนจะลดทุนจดทะเบียน นาโนไฟแนนซ์รายใหม่ ฯ จาก 50 ล้านบาท เหลือ 10 ล้านบาท ก็ต้องพับแผนไปก่อน โดยขอรอดูนโยบายความชัดเจน ในเรื่องการตั้ง พิโคไฟแนนซ์ ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

"ท้ายสุดแล้ว แบงก์ชาติและคลัง คงต้องมาดูในภาพรวมว่า การตั้งพิโคไฟแนนซ์, นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อบุคคล ก็ดีจะมุ่งเน้นไปเซ็กเตอร์ไหนอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ส่วนการดำเนินของของนาโนไฟแนนซ์ ที่ผ่านมายอมรับว่ายังต่ำกว่าที่คาดหวัง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว"

ยันเพดานดอกเบี้ย 36% เหมาะสม

ธปท.จะขอดูการดำเนินของนาโนไฟแนนซ์ ไปสักระยะหนึ่งก่อน เนื่องจากยังดำเนินการไม่กี่ปี หากยังมีปัญหาอุปสรรค ก็อาจเรียกมาหารือเป็นราย ๆไป ก่อนจะพิจารณาว่าต้องทบทวนปรับเงื่อนไขหรือไม่ ส่วนที่ผู้ประกอบการ เรียกร้องให้ปรับเพดานดอกเบี้ยเงินกู้จากปัจจุบันที่กำหนด 36% ต่อปี ตนเห็น เพดานอัตราดอกเบี้ยที่ 36% สำหรับนาโนไฟแนนซ์และ 28% กรณีสินเชื่อบุคคล อยู่บนพื้นฐานเมื่อ 10 ปีที่แล้วซึ่งดอกเบี้ยขณะนั้นสูงมาก แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยต่ำโดยดอกเบี้ยนโยบาย เหลือเพียง 1.5% แต่ที่เราให้คิดที่อัตราดอกเบี้ยได้ถึง 36% ก็เพื่อให้ครอบคลุมหนี้เสีย ซึ่งหากบริหารดี ก็สามารถทำกำไร

"ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะประสบความสำเร็จ หัวใจสำคัญคือต้องรู้จักลูกค้า และไลเซนส์ที่เปิดให้ ณ วันนี้ 30 ราย ก็เป็นการกระจายในแต่ละพื้นที่ที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเราคำนึงว่าผู้ประกอบการจะรู้จักลูกค้าในพื้นที่ของตนเป็นอย่างดี" นายรณดล กล่าว

ภาครัฐต้องมีมาตรการคุมเข้ม

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (MTLS) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าแนวนโยบายดังกล่าว เป็นเจตนารมณ์ดีที่ทางการจะเปิดให้ผู้ให้บริการเงินกู้นอกระบบเข้าสู่ระบบ โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่หากมองในแง่ของผู้ประกอบการนั้น การจะเปิดให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ ภาครัฐควรจะมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น และควรจะจัดตั้งหน่วยงานกลาง หรือบริษัทจัดเก็บฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย ที่เรียกว่า "ศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโร" เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ในการเป็นฐานใช้อ้างอิงการันตีความเสี่ยง และเพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้บริการเอง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงิน

"ถ้าทางการเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าทางตรอก ออกทางประตูก็ต้องมีไฟล์บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่นผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ในระบบฐานภาษี,สิทธิประโยชน์ พร้อมกำหนดระยะเวลาการถือครองใบอนุญาต การประกอบธุรกิจที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นทุกคนก็แห่กันจดทะเบียน ไม่ต่างกับการขออนุญาตจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ ที่บางแห่งก็แค่ถือใบอนุญาตบังหน้า"

แนะต้องมี"เครดิตบูโร"รายย่อย

นายชูชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวมองว่าแนวคิดในการจัดตั้งพิโค ไฟแนนซ์ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ อาจไม่ใช่เรื่องถูกทาง เพราะแม้ทางการจะลดทุนจดทะเบียน ผ่อนผันเกณฑ์ให้ต่ำกว่านาโน ไฟแนนซ์แต่ในทางปฏิบัติไม่แตกต่างกัน ดังนั้นที่สำคัญประเทศไทยต้องมีศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น บุคคลที่ไม่ค้างชำระค่าบริการมือถือ หรือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า แม้กระทั่งบัตรเครดิต เป็นต้น ไม่ว่าจะดำเนินการจัดเก็บโดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชนก็ตาม ทั้งนี้เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลเก็บประวัติทางการเงินให้ผู้ประกอบการได้เป็นหลักยึดว่าปล่อยกู้ไปแล้ว หนี้ไม่สูญหายหรือปล่อยกู้ไปแล้วจะไม่กลายเป็นหนี้เสียให้ต้องกลับมาแก้แล้วแก้อีก

 เอกชนหวั่นเปิดช่องเจ้าหนี้ฟอกตัว

นายสมชาย โฆศิริมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) แบรนด์ "เงินกู้สมใจ " กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับภาครัฐ ที่มีนโยบายจัดตั้งโครงการสินเชื่อเพื่อบริโภคกรณีฉุกเฉิน หรือพิโคไฟแนนซ์ ( PICO Finance ) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ แต่ทั้งนี้รัฐต้องมีสามารถในการควบคุมให้ได้ อย่างไรก็ดีตนมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งข้อสังเกต 2 ข้อคือ 1. เจ้าหนี้นอกระบบเดิมที่ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 10 % ต่อเดือน หากต้องมาปล่อยในอัตราดอกเบี้ยที่ 3% ต่อเดือน และยังมีความเสี่ยงคุณภาพหนี้เนื่องจากเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน ทั้งยังต้องถูกกำกับโดยภาครัฐ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะดึงกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบสนใจเข้ามายื่นขอใบอนุญาต หรือหากจะมีก็เพียงบางส่วน

2.การกำกับของภาครัฐ หากไม่มีเครื่องมือเครื่องไม้ ดูแลตรวจสอบจะยิ่งเป็นการสร้างปัญหา เปิดช่องให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาฟอกตัวได้ และท้ายสุดก็ไม่พ้นว่าเจ้าหนี้กลุ่มนี้ ยังต้องคิดอัตราดอกเบี้ยแพงเหมือนเดิม

"หากรัฐไม่มีเครื่องมือคอนโทรลที่ดีพอ และให้ใบอนุญาตหลายรายจนเกินความพอดี จะทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรง ท้ายสุดบรรดาเจ้าหนี้นอกระบบอาจไม่สามารถแบกรับอัตราดอกเบี้ยที่ 3% ต่อเดือน เนื่องจากต้นทุนที่สูง จนอาจต้องล้มหายไปจากระบบ หรือหากยังดำเนินธุรกิจก็ต้องปล่อยกู้ในอัตราเกินกว่า 3 % ต่อเดือนอยู่ดี ซึ่งก็ไม่ต่างกับการเปิดให้ฟอกตัว"

"ไทยเอชฯ" เชื่อจูงใจเจ้าหนี้ท้องถิ่น

ขณะที่นายคณิตเชษฐ์ วัยอัศว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด กล่าวว่า นโยบายการจัดตั้งพิโค ไฟแนนซ์ น่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ในระดับหนึ่ง ถือเป็นก้าวแรก ซึ่งคิดว่าน่าจะมีเจ้าหนี้นอกระบบ ยื่นความสนใจ แต่จะมากหรือน้อยยังตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยประโยชน์ที่ได้รับคือ การดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย สามารถให้บริการลูกค้าในพื้นที่จากเกณฑ์ของทางการที่ระบุว่า ผู้ประกอบการที่ขอใบอนุญาตจัดตั้งต้องอยู่ในพื้นที่ ๆที่เปิดให้บริการลูกค้า ไม่สามารถบริการข้ามเขต แต่ทั้งนี้ก็ต้องแลกกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยจากที่เคยได้รับในอัตราสูง ๆ ก็ต้องปล่อยกู้ในเพดานไม่เกิน 36% ต่อปี

"ผมมองเป็นนิมิตหมายที่ดี ถือเป็นก้าวแรกๆ แสดงถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จากที่ออกมาตรการออกมาต่อเนื่อง และคาดว่านโยบาย พิโค ไปแนนซ์ จะจูงใจผู้ประกอบการ/เจ้าหนี้นอกระบบในท้องถิ่น ได้ในระดับหนึ่ง ส่วนจะมีผู้สมัครมากน้อยเพียงไร ต้องรอดูผล ทั้งยังเป็นการเปิดทางให้รายย่อยมีทางเลือกมากขึ้น นอกเหนือจากการใช้บริการนาโนไฟแนนซ์ "

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559