สมาร์ท เอ็กซิบิชัน วิสัยทัศน์ยุคดิจิตอล เอ็มดีใหม่‘รี้ด เทรดเด็กซ์’

27 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
ทิศทางการดำเนินธุรกิจของ "รี้ด เทรดเด็กซ์" บริษัทเอ็กซิบิเตอร์รายใหญ่ในประเทศไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของกรรมการผู้จัดการคนใหม่ จะเป็นอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์ นายอิสระ บุรินทรามาตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด

 ตั้งเป้ารายได้โต15-20%

เอ็มดีใหม่ รี้ด เทรดเด็กซ์ เปิดใจว่า การทำงานที่ผ่านมาของเขา แม้จะคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงด้านไอทีมานาน แต่การก้าวเข้าสู่ธุรกิจแสดงสินค้าหรือเอ็กซิบิชัน ซึ่งเป็นอีกบทบาทใหม่ เขามองว่า ในแง่การบริหารองค์กรคงไม่แตกต่างกัน แต่ในแง่ของธุรกิจเอ็กซิบิชัน ถือว่ามีความหลากหลาย ต้องติดต่อกับกลุ่มลูกค้าต่างกัน การทำงานต้องทุ่มเทตลอดทั้งปี เพื่อการจัดงานเพียงไม่กี่วัน ทั้งยังมีส่วนสำคัญในธุรกิจไมซ์(ประชุม สัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การแสดงสินค้า) ของประเทศไทย

เนื่องจากภาพรวมของธุรกิจไมซ์ในปี2558 จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน)หรือทีเส็บ พบว่าสร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากเอ็กซิบิชัน 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต12% เฉพาะเอ็กซิบิชัน มีการขยายตัวสูงกว่าการเติบโตของไมซ์ในภาพรวมเสียอีก อีกทั้งจากการจัดเก็บข้อมูลของรี้ดยังพบว่าในปีที่ผ่านมาการจัดงานแสดงสินค้าของรี้ดก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศร่วม 2.8 หมื่นล้านบาท (ค่าใช้จ่ายด้านที่พัก อาหาร การท่องเที่ยว ของคนต่างชาติที่เข้ามาร่วมงาน รวมถึงมูลค่าการซื้อขายภายในงานที่เกิดขึ้น) และปีนี้คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเติบโต 15% ต่อปี

"ดังนั้นเป้าหมายของรี้ดเราจึงวางการเติบโตไว้ที่ตัวเลข 2 หลักทุกปี โดยเติบโตอยู่ที่ราว 15-20% ซึ่งผมมองว่าการตั้งเป้าหมายต้องตั้งให้เติบโตสูงกว่าธุรกิจเอ็กซิบิชันที่เรายืนอยู่ เราต้องวิ่งหรือขยับให้เหนือกว่า และต้องพยามยามวิ่งให้นำสภาวะเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา ผมมีแนวคิดว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันแม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะซึมๆ และเราขาดปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม สิ่งหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจในภาคอุตสาหกรรมของไทย คือ งานเอ็กซิบิชัน การมีผู้ซื้อผู้ขายมารวมตัวกันมากๆแสดงว่าพื้นฐานธุรกิจมีความพร้อมอยู่ ต่างประเทศมองมาเห็นการจัดงานในไทยยังคึกคัก เขาก็มั่นใจประเทศไทยซึ่งได้ทั้งภาพลักษณ์และการลงทุนในไทย นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราหยุดเติบโตไม่ได้ และต้องโตนำสภาพเศรษฐกิจเสมอ"

ชูไอทียกระดับคุณภาพโชว์

ในด้านของวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนองค์กร เขาย้ำว่าจากแบ็กกราวด์ด้านไอที ที่เคยเป็นผู้บริหารงานในบริษัท สมาร์ทเทอร์แวร์ จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โซลูชัน ภายใต้กลุ่มบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่นฯ และสำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นเตอร์ไพรส์ แอลแอลซี มาก่อน ทำให้เขาได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยี มาช่วยยกระดับคุณภาพของโชว์ต่างๆของรี้ด ภายใต้กลยุทธ์ "สมาร์ท เอ็กซิบิชัน" ที่จะใช้ดิจิตอลมาขับเคลื่อนเอ็กซิบิชันแบบครบวงจร เนื่องจากเห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีการรับรู้ข่าวสารผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์กเพิ่มขึ้น

โดยเขาตั้งเป้าหมายว่าในปี 2560 ในทุกงานแสดงสินค้าที่รี้ดจัดขึ้น จะต้องมีโมบาย แอพพลิเคชันที่มีข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับงานนั้นๆ ให้ผู้เข้าชมงานดาวน์โหลดฟรี เพื่อวางแผนล่วงหน้า ในการเข้าชมงานอย่างสะดวกสบาย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดตารางนัดหมายและเจรจาธุรกิจภายในงานของผู้เข้าชมได้ล่วงหน้า เพิ่มเติมจากการสื่อสารผ่านทางเว็บไซต์ และโซเชียล มีเดียต่างๆ ของโชว์ต่างๆที่ทำกันอยู่เดิม ที่ผ่านมารี้ด เริ่มทำโมบาย แอพพลิเคชันแล้ว ใน 2 งานใหญ่ ซึ่งเป็นการจัดงานที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือ แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป (งานด้านอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุน)และงานเมทัลเล็กซ์ (งานแสดงเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีโลหะการ)

การพัฒนาโมบาย แอพพลิเคชัน ถือเป็นงานหน้าบ้าน ที่ช่วยเรื่องของการวางแผนในการชมโชว์ให้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็นำไอที มาพัฒนางานในระบบหลังบ้านด้วย คือ การพัฒนาดาต้าเบส ซึ่งจากการสะสมข้อมูลมาหลายปี ปัจจุบันมีเกินกว่า 1 ล้านเรกคอร์ด และมีการขัดเกลาข้อมูลมาตลอด ทำให้มีข้อมูลที่มีคุณภาพ และมีความแม่นยำสูง ทั้งยังมีการนำซอฟต์แวร์ เข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูล การจับคู่ธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบอกได้ว่าผู้ซื้อผู้ขายรายใดที่เหมาะกับเขา สมควรจะเป็นงานแสดงสินค้างานใดที่ตอบโจทย์ ทั้งรี้ดยังมีการเสริมทีมที่เรียกว่า " Match Making Delegate" ส่งทีมไปพบผู้ซื้อตัวจริง สร้างความมั่นใจ และช่วยเรื่องการหาผู้เข้าชมงานเข้ามา เพื่อให้การจัดงานที่เกิดขึ้นได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ไม่ใช่ไปควานหากันเอง ตามบูธต่างๆภายในงานเพียงช่องทางเดียว อีกทั้งในอนาคตก็ยังมองว่ายังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในเรื่องของสมาร์ท เอ็กซิบิชันได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ท วอตช์ ที่เข้าอินเตอร์เน็ตได้ ก็สามารถใช้เก็บข้อมูลได้ทั้งในงานและหลังงาน เป็นต้น

 เล็งเปิดโชว์ใหม่ด้านไลฟ์สไตล์

ขณะที่การจัดงานเอ็กซิบิชันของรี้ด ซึ่งปกติจะอยู่ที่ 8-10 งานต่อปีนั้น คุณอิสระ ยังเชื่อมั่นว่าการจัดงานต่างๆที่เกิดขึ้นในปีนี้ จะมีผู้เข้าชมงาน(วิสิตเตอร์) ราว 2.2 แสนคนเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 2 แสนคน และมีเอ็กซิบิเตอร์ เข้าร่วมงานราว 1.7 พันราย เติบโต5-7% จากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ราว 1.5 พันราย โดยเขาย้ำว่าปีนี้สเกลการจัดงานของรี้ดในแง่ของพื้นที่ถือว่ามีการขยายตัวมาก เนื่องจากจัดงานใหญ่ในปีนี้ คืองานเมเลเล็กซ์ ซึ่งเป็นธีมแกรนด์เมทัลเล็กซ์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพราะทางไบเทคจะดำเนินการขยายพื้นที่จาก 4.6 หมื่นตารางเมตรเป็น 6.4 หมื่นตารางเมตรแล้วเสร็จ และเมเทเล็กซ์ จะเป็นงานแรกที่จะใช้พื้นที่จัดงานเต็มพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะที่ผ่านมาด้วยพื้นที่ของไบเทคที่มีจำกัด ทำให้การขยายพื้นที่จัดงานไม่สามารถทำได้ ส่วนของแมนูแฟกเจอร์ริ่ง เอ็กซ์โป 2016 วันที่ 22-25 มิถุนายนนี้ ที่ไบเทค ก็คาดว่าจะมีวิสิตเตอร์เข้าร่วมงานจาก 7 หมื่นคนเป็น 1 แสนคน

"ต้องยอมรับว่าเครื่องจักรรุ่นใหม่ มีความต้องการที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภทเพิ่มขึ้น เพราะมีความแม่นยำสูง ขณะที่เทคโนโลยีเดิมที่มีไม่ตอบโจทย์ ทำให้งานเอ็กซิบิชัน ด้านอุตสาหกรรม ที่เน้นบีทูบี(ธุรกิจต่อธุรกิจ) ที่รี้ดจัดอยู่ จึงได้รับความสนใจและมีการเติบโตที่ดีเพิ่มขึ้นทุกปี"

นอกจากการจัดงานตามตารางที่จัดอยู่ทุกปีหรือปีเว้นปีแล้ว รี้ดยังมองถึงการเปิดตัวงานเอ็กซิบิชันใหม่ที่จะเกิดขึ้นในไทย ที่จะเป็นโชว์ด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับไลฟ์สไตล์ ที่มีทั้งการนำโชว์ในกลุ่มรี้ด เอ็กซิบิชัน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในต่างประเทศ ดึงมาจัดในไทย อย่าง งาน อิน-คอสเมติก เอเชีย ซึ่งเป็นงานของรี้ด เอ็กซิบิชัน ยูเค ที่เราดึงมาจัดในไทยช่วงเดียวกับงาน COSMEX ทั้งในส่วนรี้ด เทรดเด็กซ์ เองก็มองจะจัดงานใหม่ด้วย ซึ่งหารือกันว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวกับศิลปะและความเชื่อ คาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ เพราะนอกจากการจัดงานเอ็กซิบิชันในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ถือเป็นจุดแข็งของรี้ดแล้ว เราก็มองที่จะสร้างรากฐานในอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมด้านไลฟ์ไตล์ ก็เป็นจุดที่จะเข้าไปเจาะในการสร้างสรรค์โชว์ใหม่ๆได้ โดยเป็นทั้งในแบบบีทูบีและบางส่วนก็เป็นบีทูซีด้วย

ทั้งหมดเป็นกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจของรี้ด เทรดเด็กซ์ ภายใต้การบริหารงานของเอ็มดีคนใหม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559