มรสุมการเงินโลกตั้งเค้า3ปัจจัยจ่อเปลี่ยนทิศทาง ค่าเงิน/ดอกเบี้ย/ผลโหวตอังกฤษ

25 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
" ดอลลาร์อ่อนค่า" หนุนเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ก.ค.นี้ " หลังผลโหวตอังกฤษคงสมาชิกภาพของสหภาพยูโร ลุ้นอีซีบีออกมาตรการ-แนะรับมือค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-หุ้น-พันธบัตร ผันผวน ขณะที่นักวิเคราะห์เสียงส่วนใหญ่ ให้น้ำหนักเศรษฐกิจสหรัฐเป็นสำคัญ คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยปลายปี เผยต่างชาติทิ้งพันธบัตรแล้ว 1.5 หมื่นล้าน

สืบเนื่องจากอังกฤษจะลงประชามติ ให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไปจากกลุ่มยูโรโซน ในวันที่ 23 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน คาดว่าไม่ว่าผลจากการลงประชามติของชาวอังกฤษ จะออกมาอย่างไร ล้วนมีผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะคณะกรรมการเงินสหรัฐฯ หรือเฟด และธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบี ซี่งจะมีผลผูกโยงไปถึงค่าเงิน ดอกเบี้ยและทิศทางเศรษฐกิจทั่วโลก และส่งแรงกระเพื่อมมาถึงประเทศไทย

ต่อสถานการณ์ดังกล่าว "ฐานเศรษฐกิจ "สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน หลายสำนักถึงมุมมองต่อสถานการณ์ใหม่ที่กำลังก่อตัวว่า จะมีผลต่อภาคการเงินและทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป อย่างไรก็ตามพบว่า ส่วนใหญ่ผลจากการลงประชามติของอังกฤษจะส่งผลต่อให้เฟด ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และดำเนินนโยบายการเงินที่ทำให้ค่าเงินอ่อนค่า เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่จะขับเคลื่อนนโยบายการเงินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.แน่นอน ขณะที่แนวดน้มเงินทุนเคลื่อนย้าย นักวิเคราะห์มองว่ายังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะไปในทิศทางใด

เชื่อเฟดรอผลประชามติ UK

นายกอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยระบุเวทีสัมมนา"เกาะติดสถานการณ์ไตรมาสสอง ทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย"จัดโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยระบุว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในวันที่ 14-15มิถุนายนนี้เชื่อว่าเฟดยังรอผลการทำประชามติของสหราชอาณาจักร (UK)ว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือไม่ ในการประชุมวันที่ 23มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับตลาดการเงินและและตลาดทุน เพราะอังกฤษมีเศรษฐกิจใหญ่ จึงท้าทายเศรษฐกิจและการเมือง

แต่ที่ผ่านมาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐขยับอ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปีประมาณ 7% ดังนั้นในเชิงอัตราแลกเปลี่ยนผ่อนคลายลงแล้วเฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้หลังประชามติโดยอาจจะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเดือนกรกฎาคม 1ครั้ง และอีกครั้งประมาณไตรมาส4 (ภายหลังการเลือกตั้งของสหรัฐ) โดยประเมินทิศทางเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง คาดว่าไตรมาส 2 และ 3 เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปีนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐตามเป้าเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท

 อีซีบี เดินนโยบายอ่อนค่า

" 2ธนาคารกลางคือ เฟดกับธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)จะใช้นโยบายการเงินที่มีผลต่อค่าเงินจะค่อยๆอ่อนค่า ซึ่งเร็วๆนี้อีซีบีคงจะมีใช้เครื่องมือใหม่ สำหรับดอลลาร์สหรัฐนั้นได้อานิสงก์เมื่อเทียบสกุลเงินภูมิภาคเอเซียรวมทั้งไทยเอง ดังนั้นเรายังคงเป้าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไตรมาส2และ3ที่ 35.50บาท/ดอลลาร์และภายในสิ้นปีจะอยู่ที่ 37บาท / ดอลลาร์ฯ เพราะแนวโน้มแนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์จะแข็งค่า"

ด้านอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น แม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ระบุเงินบาทไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร ซึ่งจากตัวเลขจีดีพีที่สศช.ประกาศออกมาไตรมาสแรกจะลดแรงกดดันต่อการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ดังนั้นเชื่อว่ากนง.จะต้องพิจารณาถึงผลจากเฟดด้วยกรณีที่กนง.จะปรับอัตราดอกเบี้ย เพราะถ้าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นแรงผลักดันให้กนง.ปรับขึ้นด้วย นอกจากนี้ในส่วนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยช่วงนี้มีเงินลงทุนในตราสารหนี้และตลาดทุนคงเหลือประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาทจากช่วงสงกรานต์ที่มีเม็ดเงินเข้ามาอยู่ที่ 1.27 แสนล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการเทขายทำกำไรของต่างชาติ ส่วนแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายต้องติดตามผลการทำประชามติของอังกฤษ และ เฟด เพราะทั้งสองปัจจัยจะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย

จับตายูโรทำตลาดเงินผวนหนัก

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ ทีเอ็มบี กล่าวถึงผลกระทบกรณีที่อังกฤษโหวตออกจากกลุ่มยูโซนว่า จะกระทบให้ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าประเทศไทยกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ รวมถึงจะเห็นการบิดเบี้ยวของผลตอบแทนพันธบัตร จากปัจจุบันที่ราคากลับมาสู่ระดับปกติ แต่หากมีเงินทุนไหลเข้าอาจกระทบต่อราคาผลตอบแทนได้ โดยจะเห็นการกู้ยืมเงินในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินได้ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องออกพันธบัตรเพื่อมาดูดซับสภาพคล่องที่ล้นตลาดได้ ส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง อาจจะไม่เห็นผลในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะต้องจับตาหลังจากมีประชามติ คือ การประเมินเสถียรภาพของกลุ่มยูโรโซน เนื่องจากจะต้องติดตามเศรษฐกิจว่าจะถูกบั่นทอนลงไปมากน้อยแค่ไหน เพราะอังกฤษค่อนข้างมีความแข็งแรงในเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับยูโรโซนยังประสบปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเมือง เพราะไม่มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและการเมือง

"จะโหวตออกหรือไม่ออก ก็มีรีแอคชั่นทั้งคู่ แต่จะมีผลต่อตลาดเงิน เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ ส่วนผลต่อภาคเศรษฐกิจแท้จริงคงไม่มาก เพราะต้องมีกลไกการปรับตัว ไม่ได้โหวตออกและปิดสวิตซ์ทันที"

ชี้บาทอ่อนหากเฟดขึ้นกค.นี้

ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด แม้คณะกรรมการเฟดบางคน เสนอว่าควรปรับขึ้น แต่เฟด ยังต้องรอดูปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่จะต้องนำปัจจัยเหล่านี้เข้ามาพิจารณาประกอบกับการตัดสินใจ รวมถึงยังมีความเสี่ยงประเด็นการโหวตของอังกฤษ ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นจังหวะที่ต้องรอดู และตนมองว่าเฟด มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีมากกว่า

อย่างไรก็ดี หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะส่งผลเงินทุนไหลกลับ ดังนั้นเงินบาทจะอ่อนค่าได้ เป็นผลดีต่อภาคส่งออกที่เริ่มเห็นการเติบโตขึ้น จากก่อนหน้าที่มีอัตราการเติบโตติดลบ ส่วนเงินไหลเข้าก่อนหน้าจากประเด็นการทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปการลงทุน แม้ว่าจะมีเงินไหลกลับก็ไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก เพราะเกิดขึ้นทั่วภูมิภาค

ศก.สหรัฐ ฯชี้ทิศเฟด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า กรณีเฟด ข่าวดีคือ ข่าวร้าย เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาดีสะท้อนการฟื้นตัวนั้นจะเป็นแรงหนุนเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งให้เงินร้อนที่ไหลเข้ามาพักในตลาดเกิดใหม่ก่อนหน้ามีการขายสินทรัพย์เก็งกำไรซึ่งความผันผวนค่าเงินยังคงอยู่ ส่วนกรณีอังกฤษจะมีการทำประชามติแยกเป็นอิสระจากสหภาพยูโรนั้น ผลสำรวจล่าสุดยังสะท้อนว่ายังคงเป็นสมาชิกของยูโรซึ่งจะส่งให้เงินปอนด์กลับมาแข็งค่า แต่ในทางกลับกัน ถ้าผลประชามติให้อังกฤษแยกออกเป็นอิสระ สิ่งที่จะเกิดขึ้ยในะยะสั้นไม่เกิน 3เดือน คือ เสถียรภาพทั้งค่าเงิน ตลาดหุ้นและพันธบัตรที่จะหายไป

จับตายูโรกระทบศก.ไทย

สำหรับผลกระทบต่อไทย โดยเฉพาะผลทางอ้อมแม้ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกไปยูโรเกือบ 10%จึงมีผลกระทบเชิงลบถ้าเกิดกรณีเศรษฐกิจยูโรชะลอย่อมกระทบการส่งออกของไทย หรือในแง่การเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษที่อาจลดจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งไทยพึงพึ่งชาวอังกฤษส่วนหนึ่ง และที่สำคัญคือ เสถียรภาพตลาดเงิน เพราะอังกฤษเป็นศูนย์กลางทางการเงินทั้งลูกค้าไทย ลูกค้าบริษัทข้ามชาติลงทุนในอังกฤษย่อมกระทบเรียลเช็กเตอร์แม้เม็ดเงินลงทุนไม่มากแต่อาจลามได้

"เฟดจะมีน้ำหนักต่อตลาดเงินโลกมากกว่า การทำประชามติของอังกฤษแยกเป็นอิสระและผลกระทบระยะสั้นแต่ในภาวะความไม่แน่นอนนักลงทุนควรปรับตัวดูปัจจัยพื้นฐานของไทยและเศรษฐกิจโลกและหากมองว่าการประชุมเฟดเดือนมิถุนายนจะเป็นการเปิดเผยตัวเลขและมุมมองให้นักลงทุนโดยหากเฟดไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้และอังกฤษยังคงอยู่จะเป็นโอกาสทำกำไรด้วยซ้ำแต่ส่วนตัวไม่แนะนำให้นักลงทุนไทยเข้าไปเก็งกำไรตามนักลงทุนต่างชาติ

 แนวโน้มเชื่อเฟดไม่ปรับดบ.

นายรชตพงศ์ สุขสงวน ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณีเฟดนั้นผลสำรวจเทรดเดอร์เพิ่มน้ำหนักต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 37%จากเดิมอยู่ที่ 8%แต่คงเหลืออีก 63%มองเฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเดือนมิถุนายนนี้ อีกทั้งตลาดยังคาดการโน้มเอียงในทางไม่ปรับหรือปรับเพียง 1ครั้ง ทั้งนี้การให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ดอลลาร์แข็งค่าและเงินบาทกลับมาอ่อนค่าและหุ้นSideway Downดังนั้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งทิศทางเฟดยังต้องติดตามกันต่อ

"แต่ระหว่างที่เฟดยังไม่ถึงกำหนดวันประชุม (วันที่ 14-15 มิ.ย.นี้) อาจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ได้ หรือต่อให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินบาทยังคงสวิงทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า หรือหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและส่งสัญญาณจะปรับต่อเนื่องมากว่าที่คาดทิศทางต้นทุนจะสูงและลดทอนโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เพราะถ้ากนง.ปรับลดดอกเบี้ยจะยิ่งเพิ่มช่องว่างและทำให้เงินไหลออก"

ต่อประเด็นอังกฤษนั้นส่วนใหญ่มองว่ายังคงอยู่เป็นสมาชิกยูโร แต่ถ้าผลปรากฏว่าอังกฤษแยกออกเป็นอิสระจากยูโรจะไม่เป็นผลต่อทั้งอังกฤษและยูโร เพราะอังกฤษเองจะเสียสิทธิประโยชน์ของสมาชิกภาพสหภาพยูโรโดยคู่ค้าหลักอังกฤษ 10อันดับแรกจะมี 7ประเทศอยู่ในยูโรซึ่งเหลือเพียง 3ประเทศเท่านั้นที่ไม่อยู่จึงย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนของอังกฤษ นอกจากนี้อาจเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานหรือเฮดออฟฟิตของสถาบันการเงินหรือบริษัทยุโรปที่เข้าไปลงทุน เพราะเกรงจะเสียสิทธิประโยชน์ในยุโรป

ต่อท่าทีของนักวิเคราะห์ในประเทศ จากการสำรวจของ"ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดสำหรับการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้

โดยบทวิเคราะห์บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากการเปิดเผยรายงานการประชุม Fed minutes เมื่อวันที่ 26-27 เมษายน ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าคณะกรรมการเฟด เปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป 14-15 มิถุนายนนี้ โดยให้น้ำหนักต่อเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในไตรมาส 2/2559 อย่างไรก็ตามเฟดยังคงมีความกังวลต่อผลการทำประชามติของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน นี้

บล.เชื่อเฟดขึ้นปลายปี

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ไทยส่วนใหญ่ ยังให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดหรือไม่ ขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ ฯว่าจะขยายตัวได้มากเร็วเพียงไร โดยนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน คาดว่าในการประชุมรอบเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้มองว่าเฟดยังไม่น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเวลานี้แม้เศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐฯจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี แต่ภายนอกประเทศยังถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่อาจจะมีการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ล่วงหน้าก่อนว่าอาจจปรับขึ้นเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้

สอดคล้องกับนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า บล.บัวหลวงยังมองในทิศทางเดียวกับมอร์แกน สแตนเลย์ โบรกเกอร์สัญชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบล.บัวหลวง ยังไม่ได้ปรับมุมมองต่อกรณีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยยังคงให้น้ำหนักเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปช่วงไตรมาส 4 ของปี 2559 นี้มากที่สุดให้น้ำหนักเดือนธันวาคม 75%

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ จำกัด กล่าวว่าหากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากนี้ เฟดอาจพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก็ได้ ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับตัวสูงขึ้น และอาจมีเงินทุนไหลออกจากไทย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในระยะสั้น อาจเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยด้วย แต่ฝั่งตลาดทุนไทยอาจเจอแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนมิถุนายนยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง

เตือนหุ้น-พันธบัตรผันผวน

อย่างไรก็ตามก่อนถึงวันประชุมเฟดในเดือนมิถุนายนนี้ (14-15 มิ.ย.) นายชัยพร มองว่าอาจทำให้เกิดแรงขายทำกำไรทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เพื่อลดความเสี่ยง

นางสาวศิรินาถ อมรธรรม ผู้อำนวยการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวว่า สัปดาห์ก่อนหน้านี้ (9-13 พ.ค.) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวรวม 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนใหญ่จะขายพันธบัตรระยะสั้น (อายุไม่เกิน 1 ปี ) อีกทั้งขายต่อเนื่องอีก 2 วัน เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากความกังวล 2 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นอาจทำให้เงินเฟ้อขยับ และความกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด อย่างไรก็ตามช่วงเช้าของวันที่ 19 พฤษภาคม นักลงทุนต่างชาติก็ยังขายต่ออีก 2 พันล้านบาท แต่ปิดตลาดในวันดังกล่าว ต่างชาติพลิกกลับเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 9.4 พันล้านบาท

เฟดขึ้นดอกเบี้ย ไม่กระทบบอนด์ยาว

อย่างไรก็ตามนางสาวศิรินาถ กล่าวว่า หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าจะกระทบเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งเป็นบัมเบิ้ล (เงินเก็งกำไรระยะสั้น ) ส่วนพันธบัตรระยะยาวคาดว่าเงินจะไม่ไหลออก เนื่องจากอัตราผลตอบแทน(ยีลด์)สูงกว่าพันธบัตรสหรัฐฯ

โดยพันธบัตรไทยอายุ 5 ปี ให้ผลตอบแทน 1.8 % ต่อปี ขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปี ผลตอบแทนปรับขึ้นมาที่ 2.12 % ต่อปี ขณะที่พันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.75 %

ส่วนสถานะการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ (ข้อมูล ณ 18 พ.ค.59 ) เป็นพันธบัตรระยะยาว 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ เพราะต่างชาติไม่ได้ขายออกมามาก ขณะที่ถือครองพันธบัตรระยะสั้น 7.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยมากถึง 6.3 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559