Amazon ประกบ YouTube

24 พ.ค. 2559 | 14:00 น.
ผมเป็นสมาชิกทั้งยูทูบและอเมซอนและแน่นอนเป็นสมาชิกกูเกิลด้วย ส่วนใหญ่ใช้บริการมากที่สุดก็ Google นี่ล่ะครับ ใช้ค้นหาเรื่องราวต่างๆ ส่วน YouTube ก็ใช้บ่อยเหมือนกันเมื่อค้นหาเพลงฟัง หรือค้นดูเรื่องสนุกๆ ที่คนอัพโหลดขึ้น YouTube ส่วน Amazon ใช้เมื่อเวลาอยากจะซื้อของบางอย่างที่หาซื้อไม่ได้ในเมืองไทย หรือหาซื้อได้ในไทยแต่กลัวไม่เจอของแท้หรือออริจินัลก็ใช้บริการของ Amazon แม้ว่าจะโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าตอนไปรับสินค้าที่ไปรษณีย์ก็ตาม

ข่าวล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทราบว่า Amazon เปิดให้บริการชนิดใหม่เหมือนอย่าง YouTobe แล้ว คือเปิดให้บริการ Amazon Video Direct แก่สมาชิกในการอัพโหลดวิดีโอของตนลงในบริการของ Amazon Video Direct ได้ ซึ่งความแตกต่างจากเจ้าเก่าอย่าง YouTube ก็คือ วิดีโอที่อัพโหลดใน Amazon Video Direct จะสามารถให้เช่าหรือซื้อขาดได้ หรือจะดูฟรีแบบมีโฆษณาก็ได้ โดย Amazon จะจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตวิดีโอนั้น 50% ของเงินที่ได้จากการให้เช่าหรือขายวิดีโอนั้น ส่วนในวิดีโอที่ดูฟรีแต่มีโฆษณา เจ้าของวิดีโอก็จะได้ค่าโฆษณาครึ่งหนึ่งด้วย การปรับตัวครั้งนี้ก็เพื่อแสวงหารายได้เพิ่มจากการบริการเดิมๆ ที่มีอยู่ครับ โดยหลักแล้วทำธุรกิจในการซื้อขายจ่ายเงินผ่านออนไลน์เป็นสำคัญ

นอกจากเรื่องนี้แล้ว Amazon ก็เตรียมเปิดบริการส่งสินค้าโดยเครื่องบินบังคับ หรือ Drone ให้แก่สมาชิกประเภท Amazon Prime ซึ่งต้องจ่ายค่ารายเดือนให้ Amazon ด้วย เรียกบริการใหม่นี้ว่า Prime Air Service และมีเงื่อนไขว่าสินค้าที่จะส่งทาง Drone ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 2.25 กิโลกรัม และอยู่ในระยะทางที่ใช้เวลาส่งไม่เกินครึ่งชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ประกาศเปิดบริการเพราะรอการพิจารณาอนุญาตจากทางการสหรัฐฯเสียก่อน ซึ่งคำขอนั้นขออนุญาตใช้ Drone น้ำหนัก 24 กิโลกรัม บินในระดับความสูง 121 โดยมีเทคโนโลยีหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางเพื่อลดอุบัติเหตุ จากศูนย์ส่งสินค้าของ Amazon ที่มีอยู่หลายพันแห่งกระจายทั่วสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้ก็อนุญาตให้ใช้โดรนขนส่งสินค้าโดย สำนักงานการบินสหรัฐ (FAA) อนุญาตให้บริษัท บีพีและบริษัทผลิตเครื่องบินโดรนใช้เครื่องบินแบบควบคุมระยะไกลหรือโดรนในเชิงพาณิชย์ โดยใช้การตรวจตราท่อส่งพลังงาน ถนนและอุปกรณ์ต่างๆ ในรัฐอลาสก้า โดยโดรนที่นำมาใช้มีชื่อว่า Puma ยาว 4 ฟุตครึ่ง ความยาวปีก 9 ฟุต ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในราชการทหาร ต่อมาก็มีการพิจารณาเรื่องนี้เป็นการทั่วไปใหม่ เพราะมีคนนำโดรนไปวนรอบๆ สถานที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา จึงต้องออกกฎระเบียบใหม่ และต้องขออนุญาตก่อนเปิดให้บริการ Amazon และ Google ของสหรัฐฯ เริ่มทดสอบการส่งสินค้าด้วย Drone มานานแล้วด้วย

แต่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะนำมาใช้จริงในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากติดกฎหมายในสหรัฐอเมริกาเอง ทำให้การขนส่งสินค้าทาง Drone เป็นรายแรกอย่างเป็นทางการตกเป็นบริษัทขนส่งสินค้า DHLของเยอรมนีที่เปิดให้บริการนำเครื่องบินบังคับระยะไกลมาใช้ขนส่งสินค้าประเภทยาจากท่าเรือ Norddeich ในเยอรมนีไปยังเกาะ Jurist ในเหนือ ระยะทางประมาณ 7.5 ไมล์ ซึ่งนับว่าเป็นเส้นทางแรกที่เริ่มใช้การขนส่งสินค้าด้วย Drone เชิงพาณิชย์

สำหรับการใช้ "โดรน" ในไทยยังไม่มีอะไรออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีจำหน่ายกันอยู่ประปรายตั้งแต่ราคา 300 บาทแถวตลาดคลองถม ก่อนที่กรุงเทพมหานครจะสั่งรื้อย้ายตลาดออกไป สำหรับเด็กซื้อมาควบคุมยานเล่นๆ แบบโดรนชนิด 4 แหล่งใบพัด ไปจนถึงราคาเป็นแสน เป็นล้านบาทก็มี แต่ก็เป็นโดรนติดกล้องถ่ายภาพมุมสูง ส่วนโดรนแบบเครื่องบินผมยังไม่เคยเห็นมีในไทยครับ ทุกวันนี้โลกเทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์ก้าวหน้ามากขึ้นทุกวัน ใครจะมองเรื่องโดรนสามารถนำมาเป็นธุรกิจได้ ก็สามารถพัฒนาเป็น "ธุรกิจสตาร์ตอัพ" ได้เช่นกัน เพราะหาก "จุดติด" แล้ว จะติดไวมากและต้องการใช้ทุนเยอะด้วย

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559