ทูน่าผ่านจุดตํ่าสุดรอบ5ปี ยํ้า 4 หลักการไทยแก้ไอยูยู

25 พ.ค. 2559 | 10:00 น.
อุตสาหกรรมทูน่าของไทย ณ ปัจจุบันยังครองความเป็นอันดับ 1 ของโลก แม้ในปี 2558 ที่ผ่านมาจะมีมูลค่าการส่งออกที่ 7.42 หมื่นล้านบาท และในเชิงปริมาณที่ 6.27 แสนตัน ขยายตัวลดลงจากปี 2557 ที่ส่งออกมูลค่า 8.32 หมื่นล้านบาท และเชิงปริมาณที่ 6.61 แสนตัน ปัจจัยหลักเนื่องมาจากราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในปีที่ผ่านมาราคาปรับตัวลดลงมากกว่า 20% ตามต้นทุนการจับปลาของเรือประมงที่ลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่แนวโน้มการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยในภาพรวมทั้งปี 2559 จะเป็นอย่างไร และมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องใดบ้างนั้น "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์ "ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์" นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ดังรายละเอียดนับจากบรรทัดนี้

 ส่งออกทูน่าครึ่งแรกเริ่มทะยาน

"ดร.ชนินทร์"ชี้ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยในปี 2559 ซึ่งมีสินค้าหลักได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ทูน่าลอยด์ และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำจากปลาทูน่า ยังมีทิศทางที่ดี โดยคาดว่าในปีนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยจะสามารถทำได้ที่มูลค่า 8.5-9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ในอัตรา 10% ส่วนในเชิงปริมาณคาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3-5% หลังผ่านไตรมาสแรกปีนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า ยังขยายตัว และในไตรมาสที่ 2 มีทิศทางที่ดีขึ้น

"ในไตรมาสแรกของปีนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าแล้วมีมูลค่า 1.84 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1% และในเชิงปริมาณที่ 1.54 แสนตัน ขยายตัว 0.5% ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เพราะไตรมาสแรกปีนี้ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% ทำให้ต้นทุนและราคาสินค้าลดลง แต่ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นมากพอสมควร เพราะราคาวัตถุดิบได้กระโดดจาก 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯต้นๆ มาเป็นเกือบ 1.6 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ผลจากเรือประมงทูน่าของสหรัฐฯกว่า 40 ลำได้หยุดจับปลามา 2-3 เดือนจากไลเซนส์จับปลาในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกหมดอายุ ทำให้ซัพพลายขาด ผู้ประกอบการสามารถปรับราคาขายสินค้าขึ้นมาได้สูงพอสมควร"

ขณะที่ค่าเฉลี่ยราคาวัตถุดิบปลาทูน่า(ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50% ของต้นทุนการผลิต)ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้คาดจะอยู่ระหว่าง 1.2-1.4 พันดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมที่เรืออยู่ได้ โรงงานอยู่ได้ และผู้ซื้อสินค้าปลายทางก็อยู่ได้ โดยราคาวัตถุดิบที่ลดลงเป็นผลมาจากเวลานี้กองเรือทูน่าของสหรัฐฯได้ต่ออายุ และได้กลับมาจับปลาอีกครั้ง ประกอบกับทั่วโลกมีการควบคุมการจับปลา คาดจะทำให้ราคาวัตถุดิบมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะมีผลให้การกำหนดราคาซื้อขายสินค้าทำได้ง่าย

ผ่านจุดต่ำสุดรอบ 5 ปีแล้ว

"การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยในปี 2558 ที่ทำได้ 7.42 หมื่นล้านบาท มองว่าน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปี 2559 น่าจะเติบโตได้สัก 10% ในแง่เงินบาท โดยจะมีมูลค่า 8.5-9 หมื่นล้านบาท และผู้ประกอบการส่งออกน่าจะมีมาร์จินหรือการทำกำไรสูงกว่าในปี 2558 โดยปีนี้มาร์จินของอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ระหว่าง 5-8% จากปีที่แล้วลดเหลือ 2-5% ตามราคาวัตถุดิบ ขณะที่หลายตลาดที่เป็นตลาดส่งออกทูน่าของไทยเห็นสัญญาณการขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ เช่นสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง"

ขณะเดียวกันราคาน้ำมัน ต้นทุนสำคัญของเรือประมงก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นและมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง เงินบาทก็ยังมีเสถียรภาพโดยยังอ่อนค่าที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ยังแข่งขันส่งออกได้ ซึ่งขอให้รัฐบาลช่วยดูแลให้อยู่ในระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะช่วยคงความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งขันได้

เทียร์3-ไอยูยูยังตามหลอน

ส่วนในเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าและสินค้าประมงของไทยในภาพรวม "ดร.ชนินทร์"มองว่า มีเรื่อง Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการต้องระวังอย่าให้มี เพราะหากในโรงงานที่ถูกตรวจพบการใช้แรงงานบังคับ หรือแรงงานเด็กจะถูกสหรัฐฯแบนนำเข้าสินค้า ขณะที่ในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) หากสหภาพยุโรป(อียู)ให้ใบแดงไทยจะมีสิทธิ์ถูกแบนนำเข้าสินค้าประมงในตลาดอียูเช่นกัน

อย่างไรก็ดีสำหรับจุดยืนของสมาคมในเรื่องการแก้ไขประมงไอยูยูมี 4 ข้อคือ 1.จะต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการและทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการการประมง 2.ต้องอยู่ในกรอบกฎหมายขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) โดยอยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS 1982) ซึ่งถือเป็นหลักสากล 3.ต้องมีความโปร่งใส และการแก้ไขปัญหาต้องถูกเปิดเผยและเป็นเอกสารที่สามารถอ้างอิงได้(ใช่พูดกันปากเปล่า) และต้องตรวจสอบได้ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับไอยูยูต้องรับทราบ และ 4.หลักการที่เป็นหัวใจของอียู ไอยูยูคือการช่วยเหลือและร่วมมือกับประเทศที่ 3 เพื่อให้การแก้ไขปรับปรุงด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทยเอง

แนะจ้างผู้เชี่ยวชาญ FAOคานอียู

"ที่สำคัญที่สุด หลักการทั้ง 4 ข้อดังกล่าว อียูต้องไม่มีการเมือง หรือนำตัวเลขการค้าหรือการกีดกันมากดดันการแก้ไขปัญหาของไทยโดยเด็ดขาด และจุดยืนของเราคือต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของไทยเอง โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของเอฟเอโอ และผู้เชี่ยวชาญจากอียูช่วยแนะนำ ไม่ใช่มาสั่งเราทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ซึ่งผมขอแนะนำให้รัฐบาลควรจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านประมงที่เป็นกลางจากเอฟเอโอมาช่วยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลในเรื่องไอยูยู เพราะอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ความคิดเห็นด้านวิทยาศาสตร์จะมีความแตกต่างกันระหว่างผู้แทนอียูกับของไทย สิ่งที่กังวลคือ หากมีเพียงผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาจากอียูฝ่ายเดียวมาชี้แนะรัฐบาลอาจจะเป๋ตาม เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ย้ายคนโน้น ย้ายคนนี้ แต่โดยหลักการคือเราต้องยึดตามหลักกฎหมายสากลจะดีที่สุด"

ลูกค้ายกนิ้ว1ปีทำเต็มที่

ทั้งนี้สิ่งที่ไทยทำในเรื่องการแก้ไขปัญหาไอยูยู ไทยต้องอธิบายชาวโลกที่เป็นลูกค้าสินค้าประมงไทยอีก 90%(ไทยส่งออกสินค้าประมงทุกชนิดประมาณปีละ 2.5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้สัดส่วน 8% หรือกว่า 2 หมื่นล้านบาทส่งไปตลาดอียู) ไม่ใช่อธิบายหรือชี้แจงเฉพาะอียู ที่ผ่านมาทางสมาคมและภาคเอกชนได้อธิบายถึงสิ่งที่รัฐบาลไทยทำมาในการแก้ไขปัญหาไอยูยูแก่ลูกค้าทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมาย การจัดการเรื่องเรือประมง ตลอดจนการเยียวยาต่างๆ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาที่ไทยถูกให้ใบเหลือง ซึ่งลูกค้าทั่วโลกต่างก็พอใจในสิ่งที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนของไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหา แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% ก็ตาม

"อยากให้รัฐบาลกับเอกชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาไอยูยู โดยยึดหลักของกฎหมายสากลดีที่สุด ซึ่งในที่สุดแล้วเราจะได้เหลือง เขียว หรือแดงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะที่ผ่านมาประชาชนชาวไทยได้เห็นแล้วว่ารัฐบาลนี้ได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว จะได้ใบอะไรนั้นไม่มีใครว่า"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559