‘นายห้างโรตี’ กับการ ขึ้นสู่ตลาดลงทุนอันดับ 1

24 พ.ค. 2559 | 12:00 น.
ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีข่าวน่าสนใจครับ ว่าอินเดียได้แซงจีนแล้วในฐานะประเทศมีเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นมูลค่าถึง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนับเฉพาะการลงทุนที่สร้างสินทรัพย์ขึ้นใหม่ในประเทศผู้รับและไม่รวมการเข้าซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว ซึ่งถือกันว่าเป็นเงินลงทุนที่จะช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเจ้าบ้าน (Greenfield investment) จึงนับเป็นข่าวดีสำหรับอินเดียอีกเรื่องหนึ่งและยิ่งตอกยํ้าว่าในกลุ่มประเทศ BRICS ดูเหมือนจะมีเพียงอินเดียที่มีเศรษฐกิจสดใส ขณะที่บราซิล รัสเซีย จีนและแอฟริกาใต้ต่างก็กำลังมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม การที่อินเดียขึ้นสู่อันดับหนึ่งในการเป็นตลาดรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI)นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจจีนถดถอย ทำให้จีนตกอันดับลงมากกว่าเป็นเพราะความเป็นประเทศน่าลงทุนของอินเดียสูงขึ้น โดยมูลค่า FDI ของจีนตกลงถึงร้อยละ24 จากปีก่อน ทั้งนี้เมื่อเทียบมูลค่า FDI ในปี ค.ศ. 2014ซึ่งจีนยังครองอันดับ 1 อยู่นั้น จีนดึงดูด FDI ได้สูงถึง 7.5หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหากย้อนกลับไปช่วงต้นทศวรรษ 2000 จีนได้รับ FDI สูงกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี จึงมองได้ว่าอินเดียยังต้องไปอีกไกลกว่าจะรุ่งอย่างแท้จริงในด้านนี้

นอกจากนี้ FDI ที่สูงขึ้นของอินเดียมาจากการลงทุนในสาขาพลังงาน ได้แก่ ถ่านหิน นํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นสาขาที่ใช้เงินทุนสูง การลงทุนจากต่างประเทศในด้านอื่น ๆ อาทิ สาขาการผลิต ยังคงไม่ลื่นไหลนักเนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีกฎระเบียบมากมายจนเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน และแม้ว่านายกรัฐมนตรีโมดิจะพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูป แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องภาษีและระบบการขออนุญาต อีกทั้งอินเดียยังมีตลาดแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่นและยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอซึ่งหากยังไม่มีการปฏิรูปในเรื่องเหล่านี้ การดึงดูด FDI คงทำได้ไม่เต็มที่ตามศักยภาพทางเศรษฐกิจที่อินเดียมี และคงอีกหลายปีกว่าอินเดียจะขึ้นมาแทนจีนในฐานะตลาดอันดับ 1 ของนักลงทุนต่างชาติได้อย่างแท้จริง

FDI ที่ไหลสู่อินเดียค่อนข้างจะกระจุกตัวอยู่ที่รัฐซึ่งกำลังพยายามปรับตัว โดยบรรดารัฐใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของอินเดียได้รับ FDI กว่าร้อยละ 50 ของ FDI ทั้งหมดที่อินเดียได้รับ ซึ่งรัฐที่ได้รับ FDI มากที่สุดคือ รัฐคุชราตซึ่งนายโมดิเคยดำรงตำแหน่งมุขมนตรีก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากถึงร้อยละ 20 ของ FDI ทั้งหมดของอินเดีย ทั้งนี้ รัฐคุชราตอยู่ทางตะวันตกติดชายแดนปากีสถานและมีชายฝั่งติดทะเลอาหรับ มีพื้นที่ไม่ถึงครึ่งของประเทศไทยแต่มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน เป็นรัฐแรกของอินเดียที่เริ่มต้นการมีกฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อปี ค.ศ. 2004 และเป็นรัฐที่มีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่ารัฐอื่น มีท่าเรือ สนามบินนานาชาติ ถนนลาดยาง และสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างครบครัน มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็ง โดยเป็นผู้ผลิตฝ้ายใหญ่ที่สดุ ของอินเดยี และมีภาคอุตสาหกรรมที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น กุญแจสำคัญสำหรับอินเดียจึงอยู่ที่การปฏิรูปเศรษฐกิจและกฎหมายหากจะขึ้นมาเป็นตลาดอันดับ1 ของนักลงทุนต่างชาติได้อย่างแท้จริง แต่การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับอินเดียซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลของรัฐต่าง ๆ การแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ

ขณะนี้อินเดียมีความได้เปรียบในหลายเรื่อง ไม่ว่าสถานะทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นจังหวะที่ควรมีการปฏิรูป อีกทั้งอินเดียยังมีนายกรัฐมนตรีซึ่งมีความเป็นผู้นำพร้อมด้วยประสบการณ์และผลงานการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีความน่าเชื่อถือสูงในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสแล้วและจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งหากศักยภาพของอินเดียในสายตาของนักลงทุนไม่สามารถปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559