ไทยพาณิชย์ ประกบฐานลูกค้า ปักธงเวียดนามรุกเครือข่าย CLMV

24 พ.ค. 2559 | 15:00 น.
เศรษฐกิจเวียดนาม เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทีมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอัตราเฉลี่ยเกินปีละ 6 % ข้อมูลจาก CEIC ระบุว่าในปี 2558 จีดีพีเวียดนามเติบโต 6.7% ส่งออกโต 7.9 %และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโตเกิน 6 % ขณะที่การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (Foreign Direct Investment : FDI) มูลค่าถึง 14.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีประชากรถึง 91 ล้านคน ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ

เมื่อวันที่ 15-18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) จึงได้นำคณะสื่อมวลชนไทย เดินทางไปร่วมพิธีเปิดสาขานครโฮจิมินห์ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งหากจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่ธนาคาร ฯเปิดให้บริการทางการเงินในประเทศนี้

ขยายเครือข่ายตามทิศลูกค้า

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จุดสนใจ 2 เรื่องที่ธนาคาร ฯเปิดสาขาในเวียดนามก็เพราะ 1.ศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนาม ( Growth ) ที่โตเฉลี่ยกว่า 6% สูงสุดในอาเซียน และขนาดประชากรก็เป็นรองแค่อินโดนีเซีย สามารถดึงดูดการลงทุนจากทุกประเทศ เห็นได้จากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่- ข้ามชาติรุกเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซัมซุงจากเกาหลี หรือญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ตั้งโรงงานอิเลคทรอนิกส์

และที่เพิ่งผ่านไปหมาด ๆกรณีกลุ่มทีซีซี ( บจก. ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น) ซื้อเมโทร,เซ็นทรัล ซื้อบิ๊กซีในเวียดนาม จากกลุ่มคาสิโนฝรั่งเศส หรือธุรกิจไทยที่ลงทุนมานานหลายสิบปี อาทิเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี, กลุ่มปูนซิเมนท์ ,กระทิงแดง ก็ขยายกิจการเต็มทุกรูปแบบ ขณะที่การลงทุนของไทยในเวียดนามยังอยู่อันดับ 11 ความน่าสนใจข้อที่ 2. คือนโยบายรัฐบาลเวียดนามคุมเข้มการเปิดสาขาของธนาคารต่างประเทศ การได้มาซึ่งใบอนุญาต (license ) สาขา จึงถือเป็นโอกาสของธนาคาร

 เพิ่มแชร์ธุรกิจไทย25%ในปี61

" ทุกประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็ต้องมีบทบาทของธนาคารพาณิชย์ เป็นเงาตามตัว และเป็นโอกาสการทำธุรกิจด้านธนาคาร ซึ่งเวียดนามเข้าข่ายทุกประการ โดยเป้าหมายธนาคารฯจะเน้นคือโฮลเซล( wholesale )ลูกค้าไทย โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจไทยที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามให้ได้ 25 % ภายในปี 2561 และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนามให้ได้ 10 % ภายในปี 2563

เบื้องหลังที่มา "ไลเซ่นสาขา" ดร.วิชิต เล่าว่าเนื่องจากธนาคารกลางของเวียดนามไม่มีนโยบายจะให้ "ธนาคารวีนา สยาม "(Vinasiam Bank : VSB ) ดำเนินในลักษณะ "ธนาคารร่วมทุน " อีกต่อไป "(ถือหุ้น 3 ฝ่าย ธ.ไทยพาณิชย์ และ กลุ่มซีพี ถือในสัดส่วนเท่ากันฝ่ายละ33 % และธนาคารเวียดนามเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบทหรือ Agribank สัดส่วน 34 % ) โดยต้องการให้ชำระบัญชี-คืนใบอนุญาต ( license ) ทางการ

เบื้องหลังแลกค่าไลเซนต์

ธนาคารฯ ชั่งน้ำหนักด้านโอกาสทางด้านธุรกิจ การที่รัฐบาลรเวียดนามไม่ให้ไลเซ่นส์สาขามาเป็นเวลานาน ตลอดผลกระทบลูกค้า หาก VSB ที่ตั้งมานานกว่า 20 ปีต้องปิดตัว จุดประเด็นให้ต้องเจรจา โดยที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จะรับผิดชอบด้านสินทรัพย์ หนี้สิน และตัวพนักงาน แลกกับการได้ดำเนินการต่อที่เวียดนาม ในรูปของการตั้งสาขา "

"ทางเลือก 2 อย่างคือที่รัฐบาลเขาเสนอคือ ให้ชำระบัญชีและคืนไลเซ่นส์ หรือหากธนาคารจะทำต่อ ก็ต้องรับผิดชอบแก้ปัญหาสินทรัพย์ ท้ายสุดทางการเวียดนาม ก็ได้อนุมัติใบอนุญาตระยะเวลา 99 ปี แลกกับที่ธนาคารฯต้องรับผิดชอบภาระขาดทุนของ VSB โดยในวันที่อนุมัติ ก็เป็นวันเดียวกับที่ธนาคารฯต้องรับโอนหนี้สิน และทรัพย์สินของ VSB ทั้งหมดเข้ามาอยู่ใบงบดุลของธนาคาร หรือพูดในแง่หนึ่ง ก็คือเป็นค่าไลเซนต์ นั่นเอง "

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ธนาคาร ฯ(เมื่อ 6 พ.ย. 2558 )รายงานว่าได้เข้าซื้อและรับโอนส่วนทุนจากผู้ร่วมทุนทั้ง 2 ราย (Agribank และกลุ่มซีพี ) เป็นวงเงินรวม 45.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หรือประมาณ 1.650 พันล้านบาท พร้อมกับรับโอนทรัพย์สินและหนี้สิน ของVSB มาเป็นยังสาขา

ยุทธศาสตร์ชูธง"เวียดนาม"รุกCLMV

สำหรับยุทธศาสตร์เครือข่ายต่างประเทศ ดร.วิชิต กล่าวว่าจะตามทิศทางการลงทุนของลูกค้า ในพื้นที่ที่มีศักยภาพและเติบโตได้ดี ธุรกิจไทยสามารถเจาะตลาดได้ง่าย โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา,สปป.ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม ) ซึ่งธนาคารมีเครือข่าย ประกอบด้วย.ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ , ,สาขานครเวียงจันทร์ ,สาขานครโฮจิมินห์ แต่ที่ยังไม่มี และอยากเดินหน้าคือที่เมียนมาร์ เพราะปัจจุบันในเมืองย่างกุ้ง ยังเป็นเพียง "สำนักงานผู้แทนธนาคาร " เขากล่าวและว่า
ศักยภาพทางเศรษฐกิจในเมียรมาร์ มีทรัพยากร และความพร้อมดีกว่ากัมพูชามาก แต่เสถียรภาพการเมืองในเมียนมาร์ยังไม่นิ่ง และธุรกิจไทยเข้าไปลงทุน ยังเป็นรายกลางและรายเล็ก

" การแข่งขันระหว่างธนาคารต่างชาติในเวียดนามด้วยกัน ต้องถือว่ารุนแรง และอาจเสียเปรียบตรงที่เราเริ่มช้า แต่การแข่งขันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากเราทำตัวให้พร้อม ขอให้มี "Growth " ก็ย่อมมีโอกาส "

ด้านนางสาวศรัณยา สกลธนารักษ์ ผู้อำนวยการสาขานครโฮจิมินห์ กล่าวว่า สาขาที่โฮจิมินท์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา เงินลงทุนเริ่มต้น 25 ล้านหรียญสหรัฐ ซึ่งหลังรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินทั้งหมดของ VSB เงินทุนสาขาจะเพิ่มเป็น 70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมียอดสินเชื่อรวม 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เน้นบริการการเงินกลุ่มลูกค้าไทยรายใหญ่ ,เทรดไฟแนนซ์ และด้านการลงทุน

การรับโอนทรัพย์สินของVSB ทำให้สาขาฯมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล ) เป็นสัดส่วนกว่า 40 % หรือประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เอสเอ็มอีแต่มีหลักประกันคุ้ม เทียบกับเกณฑ์เอ็นพีแอลที่กำหนดให้ไม่เกิน 3 % จากปัจจุบันระบบสถาบันการเงินเวียดนามมีหนี้เสีย 2.55 %

 เพิ่มทุน-แก้หนี้เสีย VSB

"ธุรกิจที่สาขาจะเน้นคือลูกค้าคอร์ปอเรต ,เทรดไฟแนนซ์ โดยเป้าหมายระยะแรก ยังเน้นเซ็ทอัพระบบ ,ติดตาม-บริหารคุณภาพหนี้ และสร้างธุรกิจใหม่ โดยเงินทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สาขาปล่อยกู้ต่อรายได้สูงถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และปล่อยสินเชื่อต่อกลุ่มได้ถึง 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งน่าจะเพียงพอกับแผนขยายธุรกิจในช่วงแรก และคาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 2 ปี "

สาขานครโฮจิมินห์ ตั้งอยู่ที่อาคาร Kumho Asiana Plaza ย่านใจกลางนครโฮจิมินห์ บนพื้นที่ขนาด 785 ตารางเมตร มีพนักงาน 40 คน จำนวนนี้เป็นคนไทย 3 ราย

ทั้งนี้การตั้งสาขานครโฮจิมินห์ ของธนาคารไทยพาณิชย์จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายของธนาคาร ฯในกลุ่มประเทศ CLMVและยกระดับให้บริการทางการเงินของธนาคารให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนกลุ่มลูกค้าธุรกิจของธนาคารที่ต้องการทำการลงทุนหรือการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้การเปิดสาขาเต็มรูปแบบ ยังช่วยสนับสนุนการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

ซึ่งจากการเปิดเผยของนายมานพชัย วงศ์ภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ระบุปัจจุบันมูลค่า FDI การลงทุนไทยในเวียดนามอยู่ที่ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ และคาดสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559