น่าห่วง!วัยเกษียณไม่มีเงิน เหตุรายได้ไม่พอเก็บ-ก่อหนี้สูง แนะบังคับเหมือนสิงคโปร์

25 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
แบงก์ชาติ-นักเศรษฐศาสตร์ เผยไทยเข้าสู่ยุคเงินออมใช้ไม่พอหลังเกษียณ เหตุรายได้ไม่พอเก็บ-ก่อหนี้สูง แถมดอกเบี้ยต่ำกดความสนใจคนออม แนะใช้วิธีรัฐบังคับภาคครัวเรือนเหมือนสิงคโปร์/ย้ายแรงงานเข้าสู่รายได้มั่นคง พร้อมขยายกรอบการเกษียณจาก 60 ปี ย้ำวัฒนธรรมส่งเงินกลับสู่ชนบท ช่วยลดปัญหาการบริโภคไม่ยั่งยืน-แหล่งเงินสะสมคนต่างจังหวัด

[caption id="attachment_55991" align="aligncenter" width="370"] เมธี สุภาพงษ์  รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมธี สุภาพงษ์
รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวภายในงานสัมมนานำเสนอผลการศึกษา "Thailand’s future growth" ว่า การสัมมนาครั้งนี้เกิดขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวมีทิศทางปรับลดลง ซึ่งเปรียบเหมือนรถยนต์ความเร็วในการเร่งเครื่องลดลง อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ดังนั้นหากต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตจะกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ได้

โดยจะเห็นได้จากกรณีการส่งออกที่เปรียบเหมือนเครื่องยนต์หลัก ปัจจุบันเครื่องยนต์ไม่ได้มีแรงขับเคลื่อนเหมือนในอดีต และประเทศเพื่อนบ้านกำลังจะแซงประเทศไทย ซึ่งหลังจากเกิดความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ประเทศไทยจะทำอย่างไร และจะสามารถยกเครื่องยนต์ได้อย่างไร โดยไม่ได้เน้นเรื่องของราคาเป็นหลัก ซึ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่กำลังเติบโตได้ดี หากจะนำมาทดแทนเครื่องยนต์ภาคการส่งออก จะต้องมีการศึกษา เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์เสื่อมถอยก่อน รวมถึงศักยภาพของผู้ขับก็เป็นเรื่องสำคัญ เปรียบเหมือนแรงงานที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ระดับที่สูงขึ้น

สอดรับกับนายจิรัฐ เจนพึ่งพร เศรษฐกรประจำ ธปท. ที่กล่าวว่า ภาคการบริโภค ถือเป็นเครื่องยนต์ที่เปรียบเหมือนเทอร์โบที่จะช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้น แต่หากฝืนมากๆ อาจจะพังได้ ดังนั้น การบริโภคจะต้องใช้ได้อย่างยั่งยืน เพราะเมื่อถึงเวลาจะใช้จะต้องมีใช้ เช่น คนไทยมีอายุเฉลี่ย 75 ปี จำเป็นจะต้องมีเงินเพื่อการบริโภคครบอายุ 75 ปี อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่าคนไทยมีเงินไม่พอบริโภคหรือเงินออมถึงอายุ 75 ปี ซึ่งมากจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1.รายได้คนไทยไม่โต ซึ่งจะมีเพียง 10% ที่รายได้เติบโตขึ้น 2.ภาระหนี้สูงและมีการก่อหนี้ซ้ำ และ 3.การออมเงินที่น้อย โดยลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และไม่มีผลิตภัณฑ์ที่จูงใจการออม รวมถึงการเน้นกระตุ้นในฝั่งใช้จ่ายมากกว่าการออมในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การบริโภคไม่ยั่งยืน และจากข้อมูลประมาณประชากร 2 ใน 5 มีรายได้เท่ากับรายจ่าย และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่สามารถออมได้เท่ากับอายุหลังการเกษียณ

ทั้งนี้ ทางออกของปัญหาเรื่องการบริโภค แบ่งเป็น ระยะสั้น คือ การช่วยเหลือของภาครัฐ หรือการบังคับให้คนออมเงินเพิ่มขึ้น 20-30% เหมือนประเทศสิงคโปร์ และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและลดการกระตุ้นภาคการใช้จ่าย ส่วนระยะยาว จะเป็นการยกระดับแรงงานไทย เพื่อให้เกิดการบริโภคที่มากขึ้น เพราะไทยมีแรงงานอยู่ในภาคเกษตรค่อนข้างเยอะควรที่จะย้ายไปอยู่ในภาคแรงงานที่มีรายได้ที่แน่นอน เพราะภาคเกษตรรายได้จะอ่อนไหวตามเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน และการขยายการทำงานให้เกินกว่า 60 ปี เพื่อให้คนมีรายได้ไว้ใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณ

"การบริโภคมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยทุกปี มีทั้งเรื่องการกิน ซื้อเสื้อผ้าเยอะขึ้น แต่การบริโภคเรื่องการศึกษาลดลง ทำให้การบริโภคในเชิงประสิทธิภาพไม่ค่อยมี ประกอบกับเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้การใช้จ่ายง่ายขึ้น และการออมของคนไทยก็น้อย เพราะถ้าสัดส่วนการก่อหนี้หรือมีภาระหนี้มากกว่ารายได้ประมาณ 30% จะไม่ช่วยเรื่องการออมแล้ว ในที่สุดภาครัฐอาจเข้ามามีบทบาทบังคับการออมของครัวเรือนมากขึ้น"

สอดคล้องกับ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การบริโภคเหมือนอาการทางเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไร แต่การบริโภคไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากจะดูการบริโภคจะต้องดูว่า Wealth หรือความมั่งคั่งมาจากไหน ซึ่งข้อมูลพบว่าหากไม่รวมทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์-สิ่งปลูกสร้าง คนไทยประมาณ 70-80% ไม่มีเงินออมพอในยามเกษียณ แต่หากนับรวมค่าจะสะท้อนกลับด้านกัน แต่กว่าจะนำทรัพย์สินดังกล่าวกลับมาเป็นเงินอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนาน

ทั้งนี้ หากดูการบริโภคในภาคชนบท จะพบว่าการส่งเงินกลับของลูกหลานมีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะคนในชนบทพึ่งพาเงินส่งกลับเยอะมาก ซึ่งเป็นจุดแข็งและเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของคนไทย ทำให้การบริโภคของคนวัยทำงานจะมีการแบ่งส่วนรายได้เป็นเงินส่งกลับให้ที่บ้าน ซึ่งคาดหวังว่าในอนาคตจุดแข็งส่วนนี้จะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องการบริโภคในชนบทได้ ขณะเดียวกัน หากดูความมั่งคั่งในชนบทค่าเฉลี่ยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการก้าวที่เร่งขึ้น โดยคนในชนบทพยายามออมเงิน หากไม่มีเงินออมจะเป็นการเก็บจากเงินส่งกลับ ซึ่งปัญหาจะอยู่ที่การเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้อย่างไร เพื่อให้การส่งเงินกลับเยอะขึ้นและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนผ่านการออม

ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า การบริโภคที่แท้จริงของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค และการบริโภคเพื่อการศึกษาน้อยลง แต่จะเป็นการบริโภคระยะสั้น และหากเทียบรายได้ด้านค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ถือว่าไทยอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีอัตราเท่ากับประเทศมาเลเซีย แต่หากนำมาเทียบผลิตภาพ (Productivity) ยังมีช่องว่างอยู่ โดยคนไทยทำงานเฉลี่ยปีละ 2 พันชั่วโมง แต่ผลิตภาพทางการผลิตไม่สูง สะท้อนขีดความสามารถของไทยยังมีแก๊ปอยู่เทียบกับค่าแรง หากเปรียบเทียบมีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศกรีซที่ทำงานเฉลี่ย 2 พันชั่วโมงต่อปี แต่ยังประสบปัญหาทางการเงิน ส่วนเนเธอร์แลนด์ทำงานเพียง 1.4 พันชั่วโมง

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าไทยจะขาดแคลนแรงงานที่เป็นต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานชาวเมียนมาหลังจากมีการเปิดประเทศ เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโต จะเห็นการย้ายกลับของแรงงานเหล่านี้ ทำให้แรงงานที่มีอายุน้อยลง เพราะประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงจำเป็นอาจจะขยายระยะเวลาการเกษียณอายุออกไป เพื่อให้คนไทยมีเงินออมไว้ในยามเกษียณ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559