กระทรวงเกษตรฯปรับลดขั้นตอนงานวิจัย เน้นกระชับ แม่นยำ ตรงประเด็น

18 พ.ค. 2559 | 09:23 น.
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายที่สำคัญ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบติดตามงานอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย งานประจำ งานตามนโยบาย และงานริเริ่มใหม่ โดยกรมวิชาการเกษตรได้มีงานริเริ่มที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวกับงานวิจัย ที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาด้านการเกษตรได้

ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรได้รับมอบหมายงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ริเริ่มงานใหม่ 3 ด้าน ที่จะสนับสนุนนโยบายในด้านการปฏิรูปภาคการเกาตรอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1. การปรับปรุงระบบงานวิจัย เนื่องจากที่ผ่านมามีกระบวนการในการเสนองานวิจัยเพื่อขอรับการสนับสนุนหลายขั้นตอน ทำให้กว่าจะนำงานวิจัยไปใช้ต่อยอดได้ ค่อนข้างใช้เวลานาน จึงมีการปรับลดขั้นตอนงานวิจัยโดยเน้นการดำเนินงานที่กระชับ แม่นยำ ตรงประเด็น ทันการณ์ ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่สามารถนำประโยชน์จากงานวิจัยไปใช้ได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคง เป็นฐานรายได้ให้แผ่นดิน 2. การริเริ่มตั้งกองวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์เบ็ดเสร็จครบวงจรทั้งระบบ ชั้นพันธุ์คัด พันธุ์หลัก พันธุ์ขยายและพันธุ์จาหน่าย และกระจายพันธุ์ดีแก่เกษตรกร ยกระดับมาตรฐานเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช (Seed Hub) ของ AEC และ 3. การจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบเครื่องจักรกลการเกษตร (Testing Center) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการใช้มาตรฐานเครื่องจักรกลและระบบตรวจสอบของ Asian and Pacific Network for Testing of Agricultural Machinery (ANTAM) ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในงานตามนโยบายหลัก ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 1. การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตควบคุม และกำกับดูแลคุณภาพปัจจัยการผลิต 2. Zoning ครอบคลุมการกำกับดูแล 5 พืชเศรษฐกิจหลัก รวมถึงการสร้างเกษตรกรต้นแบบ และให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรในระดับพื้นที่ 3. การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืช 13 ชนิด ตลอดจนการรับรอง GAP และ QR-Code 4. เกษตรอินทรีย์ ด้านปัจจัยการผลิตโดยผ่านศูนย์ต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศ และ 5. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยการการสนับสนุนวิทยากร และผู้อบรมความรู้ที่จะถ่ายทอดสู่เกษตรกรด้วย