ไทยพ้นวิกฤติแล้ง นาปรังรอเกี่ยวแสนไร่ลุ้นรอด/ข้าว-ยางขึ้นราคา

19 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
7 เดือนวิกฤติภัยแล้งกดผลผลิตวูบ สินค้าเกษตรสำคัญทั้งข้าว มัน ยาง ปาล์มน้ำมัน สับปะรด พืชผัก ผลไม้ ยันปศุสัตว์ทั้งไก่ หมู ไข่ไก่ ราคาพุ่งยกแผง เกษตรกรเฮ แต่อานิสงส์ตกเฉพาะเกษตรกรที่ยังมีผลผลิต ขณะอีกด้านผู้บริโภคแบกภาระอ่วม ค่าครองชีพพุ่งสวนทางรายได้ไม่กระเตื้อง อธิบดีกรมชลฯลุ้นปลาย พ.ค.ฝนเริ่มตกตามฤดูกาลหวังได้นํ้าเติมเขื่อนทั่วประเทศ

จากฤดูแล้งที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึง ณ ปัจจุบัน(พฤษภาคม 59) ได้ผ่านพ้นมาเกือบ 7 เดือนแล้ว ซึ่งถือเป็นวิกฤติภัยแล้งครั้งรุนแรงในรอบ 20 ปี ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่ส่วนหนึ่งต้องงดทำนาปรัง และงดปลูกพืชเกษตรอื่นๆ ทำให้ขาดรายได้ กระทบต่ออาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง และปศุสัตว์ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้จากน้ำในเขื่อน และน้ำในแม่น้ำ ลำคลองน้ำแห้งขอด อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งจากภัยแล้งในครั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ตรวจสอบพบว่า ได้ส่งผลดีทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลัก รวมถึงพืชผักผลไม้ และสินค้าเกษตรประเภทปศุสัตว์ มีราคาสูงขึ้นสวนทางกับผลผลิตที่ลดลงอย่างชัดเจน

ข้าวเปลือกขาดราคาพุ่ง

ทั้งนี้ในส่วนของสินค้าข้าวนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลผลิตข้าวนาปรังในแต่ละภาคของไทยเหลือไม่มากนัก โดยราคาที่โรงสีรับซื้อในส่วนของข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน25% เฉลี่ยที่ 7.5-7.8 พันบาท/ตัน และข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15% ที่ 8.5-9 พันบาท/ตัน ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ(ที่ส่วนใหญ่อยู่ในยุ้งฉางของเกษตรกร)ซื้อที่ 1.1-1.2 หมื่นบาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียวความชื้นไม่เกิน 30% ซื้อที่ 1.15-1.22 หมื่นบาท/ตัน และความชื้นไม่เกิน 13% ซื้อสูงถึง 1.6 หมื่นบาท/ตัน

"ราคาข้าวเปลือกช่วงนี้เกษตรกรขายได้ราคาค่อนข้างดี และโรงสีรับซื้อในราคาค่อนข้างสูง เพราะของในตลาดน้อย และมีการแย่งซื้อ แต่ปัญหาคือเกษตรกรไม่มีข้าวขาย ส่วนที่มีชาวนาไปร้องนายกรัฐมนตรีเมื่อหลายวันก่อนว่าขายข้าวเปลือกเจ้าได้แค่ตันละแค่ 6-7 พันบาทถือเป็นราคาต่ำกว่าปกติ ซึ่งมีข้อสงสัยว่าราคาข้าวดังกล่าวมีคุณภาพอย่างไร เป็นข้าวลีบหรือไม่"

 มันเสียหายหนัก-ราคาโอเค

สอดรับกับนางสุรีย์ ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรขายหัวมันสดได้ราคาค่อนข้างดี เฉลี่ยที่ 2-2.20 บาท/กิโลกรัม แต่ปัญหาคือเกษตรกรไม่มีของขาย เนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยทางสมาคมฯอยู่ระหว่างการสำรวจทบทวนปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังทั่วประเทศ จากที่ก่อนหน้านี้ได้ประเมินผลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 2559/60 ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)คาดจะมีผลผลิตที่ 32 ล้านตัน แต่ล่าสุดคาดผลผลิตหัวมันสดของเกษตรกรในปีนี้จะมีไม่ถึง 32 ล้านตันอย่างแน่นอน เพราะจากผลการสำรวจเบื้องต้นไร่มันที่ปลูกไปแล้ว 1 ไร่ เฉลี่ยผลผลิตจะเสียหาย 20-50% ทางสมาคมจะร่วมกับ สศก.ประเมินอีกครั้ง จะมีความชัดเจนในเดือนหน้า

ยางทะลุ 60 บาท/กก.

ในส่วนสินค้ายางพารา นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทยกล่าวว่า ขณะนี้ราคายางพาราดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในส่วนของน้ำยางสด และยางแผ่นรมควันชั้น 3 เฉลี่ยประมาณ 60 บาท/กิโลกรัม เป็นผลจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1.มาตรการความร่วมมือลดการส่งออกยางพาราของ 3 ประเทศ(ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย) ปริมาณ 6.15 แสนตัน(มี.ค.-ส.ค.59) ได้เริ่มดำเนินการแล้ว 2.เป็นวัฏจักรของยางพาราที่ราคาตกต่ำไปมากๆ ก็จะปรับตัวสูงขึ้น และ 3.ในช่วงเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายนเกษตรกรได้หยุดกรีดยางจากเป็นช่วงยางผลัดใบ ขณะนี้เริ่มเปิดกรีดใหม่ แต่จากภัยแล้ง ทำให้ยางออกยังไม่เต็มที่

"จากทั้ง 3 ปัจจัยทำให้ราคายางพุ่งสูงขึ้น แต่เกษตรกรก็ยังมีผลผลิตค่อนข้างน้อย ส่วนราคายางมีโอกาสจะทะลุเกิน 70 บาทต่อกิโลกรัมหรือไม่ มองว่าคงไม่เกิน แต่คงอยู่ระดับ 60-70 บาท เพราะจากนี้ซัพพลายจะเริ่มมากขึ้น"

 หมูยิ้มหน้าฟาร์ม 76บาท/กก.

ขณะที่นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า ขณะนี้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่เกษตรขายได้เฉลี่ยที่ 76 บาท/กิโลกรัม บวก-ลบ ถือเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ และพออยู่ได้ โดยมีกำไรเฉลี่ย 7-8 บาท/กิโลกรัม ซึ่งขอให้เกษตรกรมีกำไรบ้าง จากเวลานี้ภัยแล้งและอากาศที่ร้อนทำให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากที่ต้องใช้เวลาเลี้ยงเพิ่มขึ้น สุกรกินอาหารลดลง และโตช้า บางฟาร์มสุกรมีสุขภาพอ่อนแอ บางฟาร์มต้องซื้อน้ำกินและน้ำใช้ล้างเล้า บางรายที่เลี้ยงระบบอีแวป(ระบบที่ใช้การระเหยของน้ำช่วยทำความเย็น)ก็มีค่าไฟฟ้าเพิ่มเพราะต้องปรับอุณหภูมิ

"ปกติช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี ราคาหมูหน้าฟาร์มจะสูงขึ้นจากเป็นช่วงหน้าแล้ง ผลผลิตหรือน้ำหนักหมูจะลดลง แต่ความต้องการบริโภคยังเท่าเดิม เฉลี่ยทั่วประเทศ 3.7-3.8 หมื่นตัวต่อวัน โดยแหล่งเลี้ยงใหญ่อยู่ที่ราชบุรี และชลบุรี"

 ไข่คละ 2.90 บาทอยู่ได้

ด้านอรรณพ อัครนิธิยานนท์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ขณะนี้ราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ผู้เลี้ยงขายได้เฉลี่ยที่ 2.90 บาท/ฟอง สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นราคาที่เกษตรกรพออยู่ได้ บางรายยังมีกำไร บางรายขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตของแต่ละรายไม่เท่ากันและไม่เป็นที่เปิดเผย ขณะที่ผลผลิตไข่ไก่ช่วงนี้ถือว่ามีความผันผวนมาก ไม่ทราบปริมาณผลผลิตต่อวันที่แท้จริง (จากปกติมีผลผลิตเฉลี่ย 39-40 ล้านฟอง/วัน)

"ต้นทุนการผลิตไข่ไก่แต่ละคนหรือในแต่ละภาคไม่เท่ากัน และมีความผันผวนมาก เพราะบางคนกระทบแล้ง-ร้อน ผลผลิตลดลง ไก่ป่วยตาย บางคนปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงขาย บางคนต้องซื้อน้ำคันละพันกว่าบาท บางคนไม่ต้องซื้อ ส่วนใหญ่ไม่มีใครบอกความจริงว่าเลี้ยงลดลงไปเท่าไหร่ แต่ที่เหมือนกันคือเลี้ยงลดลงทุกคน จากเศรษฐกิจไม่ดี และอากาศที่แปรปรวน ซึ่งราคา 2.90 บาทถือว่าเกษตรกรพออยู่ได้ และไม่กระทบผู้บริโภคมากนัก"

 ผักผลไม้ต้นฤดูราคาดี

นายพจน์ เทียมตะวัน นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผัก ผลไม้ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาพืชผักผลไม้ในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น จากผลกระทบภัยแล้งทำให้ผบผลผลิตลดลง ประกอบกับราคาผลไม้บางรายการ เช่น ทุเรียน เงาะ ราคาสูงในช่วงนี้เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตต้นฤดูกาล ของยังมีน้อย และมีการแย่งซื้อของผู้ประกอบการค้าผลไม้ อาทิ ทุเรียนหมอนทองช่วงนี้ขึ้นไปถึง 120 บาท/กิโลกรัมก็มีคนแย่งซื้อ ช่วงนี้คงกระทบกับผู้บริโภคบ้าง แต่เมื่อผลผลิตทยอยออกมามาก ราคาก็จะปรับตัวลดลง ในภาพรวมส่งผลดีต่อเกษตรกรที่มีผลผลิตแน่นอน

 แย่งซื้อหมอนทอง120บ./กก.

ขณะที่นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ผลผลิตผลไม้สำคัญของภาคตะวันออก 4 ชนิดได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกองที่จะทยอยออกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม คาดผลผลิตในภาพรวมปีนี้จะมีประมาณ 6 แสนตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิตเกือบ 7 แสนตันหรือลดลงประมาณ 20% ซึ่งเป็นผลกระทบจากภัยแล้ง มีผลให้ราคาผลไม้ในภาพรวมสูงขึ้น โดยล่าสุดทุเรียนพันธุ์หมอนทองเกรดส่งออกเฉลี่ยที่ 100-120 บาท/กิโลกรัม จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 45 บาท/กิโลกรัม

 ราคาสินค้าเกษตรสดใส

"ฐานเศรษฐกิจ"ได้ตรวจสอบราคาสินค้าเกษตร ในกลุ่มพืชเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงพืชผักผลไม้ และสินค้าเกษตรประเภทปศุสัตว์ล่าสุดพบส่วนใหญ่ราคาปรับตัวสูงขึ้น(ดูตารางประกอบ) มีปัจจัยหลักจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง โดยจากข้อมูลของสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร กรมการค้าภายใน (ณ วันที่ 16 พ.ค.59) ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้านาปรังเฉลี่ยที่ 8.8-8.9 พันบาท/ตัน หัวมันสำปะหลัง 2.15-2.20 บาท/กิโลกรัม ผลปาล์มทะลาย 5.40-5.80 บาท/กิโลกรัม มะพร้าวผลใหญ่(ทับสะแก) 22-25 บาท/ผล กระเทียมแห้งมัดจุก 77-78 บาท/กิโลกรัม,ส้มเขียวหวาน(สายน้ำผึ้ง) 110-120 บาท/กิโลกรัม,สับปะรดศรีราชา เบอร์ 1 30-35 บาท/กิโลกรัม, เงาะโรงเรียน 50-55 บาท/กิโลกรัม

ในส่วนของราคาขายปลีก ผักชี 18-19 บาท/กำ ,ต้นหอม 16-17 บาท/กำ ถั่วฝักยาว 95-100 บาท/กิโลกรัม,หน่อไม้ฝรั่ง 145-150 บาท/กิโลกรัม มะนาวแป้น(เบอร์ 1-2) ราคา 6.50-7 บาท/ผล เป็นต้น

 ลุ้นฝนปลายพ.คไทยหายแล้ง

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่เวลานี้เริ่มมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่สถานการณ์น้ำเติมในเขื่อนทั่วประเทศภาพรวมยังไม่ดีขึ้น โดยยังมีการระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากกว่าน้ำที่ไหลเข้าอ่าง ปัจจุบันการระบายน้ำของเขื่อนทั่วประเทศเฉลี่ยที่ 50-60 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ขณะที่มีน้ำไหลเข้าเฉลี่ย 11 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในจำนวนนี้มีการระบายน้ำของ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (ภูมิพล, สิริกิติ์,แควน้อยบำรุงแดน, ป่าสักชลสิทธิ์)ประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน แต่มีน้ำไหลเข้า ราว 4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน

"จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมลมจะเปลี่ยนทิศจากลมตะวันออกเฉียงใต้ เป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้เริ่มมีฝนตกชุกมากขึ้นทั่วประเทศถือเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ดีล่าสุดมีข้าวนาปรังที่รอเก็บเกี่ยวทั่วประเทศอีกไม่เกิน 1 แสนไร่ ในจำนวนนี้อยู่ในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาปะมาณ 2 หมื่นไร่ ต้องรอดูว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากน้อยแค่ไหน"

ภาพหน้าปกไม่เกี่ยวข้อกับเนื้อหา
Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559