แล้งสาหัสกำลังซื้อตลาดภูธรวูบ ฉุดยอดขายมอเตอร์ไซค์ร่วง!

21 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2559 ตลาดรถจักรยานยนต์มียอดขายลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบ คือหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง,ปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ อย่างไรก็ตามประเมินว่าครึ่งปีหลังตลาดรถจักรยานยนต์น่าจะฟื้นตัว

"ปีนี้ได้เห็นภาวะภัยแล้งที่ชัดเจน หลังจากปีที่ผ่านมามีการพูดถึงมาโดยตลอด ซึ่งภาวะดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นก็ทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตร ไม่สามารถปลูกพืชผักและส่งผลกระทบกับรายได้ และบางรายที่มีหนี้สินก็ยิ่งกระทบหนักเข้าไปอีก"

ขณะที่นายประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดรถจักรยานยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2559 มียอดขาย 4.5 แสนคัน ลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มียอดขายรวม 4.79 แสนคัน โดยปัจจัยที่เข้ามากระทบกับตลาด คือเศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัว ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง พืชผลทางการเกษตรราคาต่ำ และภัยแล้งยาวนาน ทำให้ผู้บริโภคชะลอกำลังซื้อออกไป

แหล่งข่าวซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในแถบอีสาน กล่าวว่า ปัญหาด้านภัยแล้งกระทบกับการขายอย่างมาก จากเดิมดีลเลอร์จะมียอดขาย 80 คันก็จะลดลงมาที่ 40 คัน เช่นเดียวกับจำนวนลูกค้าที่เดินเข้ามาที่โชว์รูมก็หายไปกว่าครึ่ง ทั้งนี้เพราะลูกค้าในภาคอีสานมีรายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรม ดังนั้นพอประสบกับปัญหาดังกล่าวทำให้มีการชะลอกำลังซื้อออกไป

ด้านดร. ทรงศักดิ์ วิจัยธรรมฤทธิ์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร "บิ๊กซี" กล่าวว่า เป็นโชคดีของบิ๊กซี ที่เน้นจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยพบว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดยังไม่มีการเติบโตมากนัก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ส่งผลให้มีรายได้ในครัวเรือนที่ลดลง การใช้จ่ายก็ลดลงตามไปด้วย

"ผู้บริโภคในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงเศรษฐกิจโดยภาพรวมที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคอีสานที่น่าเป็นห่วงมาก โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า ซึ่งเป็นหมวดสินค้าคงทน เมื่อมีรายได้ลดลง ก็งดการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็น แตกต่างจากหมวดอาหาร ซึ่งยังมีความจำเป็น ต้องกิน ต้องใช้"

นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ กล่าวถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบันว่า สำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กำลังซื้อมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เห็นได้จากการเติบโตของยอดขายไลอ้อนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ที่เติบโต 11-12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าเติบโตกว่าเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ว่าจะเติบโต 5-6% เท่านั้น โดยประเมินว่าเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เริ่มเห็นผลชัดเจน

ส่วนปัญหาหนี้เอ็นพีแอลที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้น คงต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากสาเหตุอะไร และเป็นหนี้ประเภทใด เพราะช่วงปีที่ผ่านมาก็พบว่าหนี้เอ็นพีแอลที่ปรับสูงขึ้น เกิดจากปัญหาหนี้จากโครงการรถยนต์คันแรก ที่ส่งผลกระทบเฉพาะผู้ซื้อซึ่งไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระมากพอเท่านั้น จึงไม่อาจจะสะท้อนปัญหากำลังซื้อในภาพรวมได้

"การเติบโตในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ถือว่าสูงกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางตลาดคอนซูเมอร์ปรับตัวดี จากมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐใส่เงินลงมากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหนี้เอ็นพีแอลที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรที่กู้ยืมเงินมาใช้ แต่แนวโน้มเชื่อว่าหนี้เอ็นพีแอลน่าจะลดลงและปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559