กรุงไทยเล็งคลายนอตปล่อยกู้รับสินเชื่อQ2

21 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
แบงก์กรุงไทย เตรียมคลายน็อตเข้มสินเชื่อลง หลังคุมเอ็นพีแอลอยู่หมัด ลั่นไตรมาส 2 เศรษฐกิจฟื้น-สินเชื่อขยายตัวตาม เล็งปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่ม เชื่อดีมานด์ในตลาดยังมี คาดยังตามเป้า 1-1.5 เท่าของจีดีพีระบุธุรกิจสถาบันการเงินทั่วโลกเผชิญภาวะ ดอกเบี้ยต่ำ-เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง-กฎระเบียบเข้ม กระทบกำไรในอนาคต ย้ำไทยต้องปรับตัวนำดิจิตอลเข้ามาใช้ เชื่อช่วยลดต้นทุน-ผลักรายได้เพิ่ม

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจไตรมาสที่ 2 ธนาคารมองว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ทั้งในเรื่องของแนวโน้มเศรษฐกิจและสินเชื่อ เพราะสินเชื่อจะขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารจะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)เพราะต้องยอมรับว่าช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้อัตราหนี้เอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีเอ็นพีแอลขยับขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแนวโน้มการเร่งขึ้นของอัตราเอ็นพีแอลเริ่มส่งสัญญาณปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงการควบคุมคุณภาพสินเชื่อผ่านการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้สินเชื่อของธนาคารมีคุณภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันอัตราการปฏิเสธจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ในภาวะที่เอ็นพีแอลทยอยปรับลดลงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ธนาคารจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการผ่อนคลายความเข้มงวดในบ้างจุดลง เช่น จากเดิมลูกค้าที่มีประวัติสีแดงธนาคารจะไม่ทำ หลังจากนี้อาจจะนำประวัติในส่วนอื่น หรือรายได้จากแหล่งอื่นมาคำนวณ เพื่อพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะเริ่มเห็นธนาคารกลับมาปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาสที่ 2 ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 1-1.5 เท่าของจีดีพี โดยในไตรมาสที่ 1 จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อเติบโตไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่จะเห็นว่าในตลาดมีความต้องการสินเชื่ออยู่ ทั้งในส่วนของสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)และสินเชื่อขนาดใหญ่ โดยในส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีธนาคารตั้งเป้าเติบโต 30% ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบธนาคารก็ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

"หลังจากเราโฟกัสเรื่องการควบคุมคุณภาพหนี้และเอ็นพีแอลจนอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง ต่อไปเราจะเริ่มหันมามองหรือโฟกัสในเรื่องของสินเชื่อมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 เพราะดีมานด์ยังมีอยู่ แต่เราเองไม่ได้บุกมากเพราะห่วงเรื่องหนี้ก่อนหน้านี้ ดังนั้น เราจะเริ่มคลายน็อตที่ไขไว้แน่นให้คลายลงบ้าง เพราะเรามองว่าไตรมาส 2 ทุกอย่างจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น"

นายวรภัค กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลม "Global CEO Round Table" ที่มีสถาบันการเงินชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม ณ ประเทศอิตาลี เมื่อเร็วๆ นี้ ได้สรุปเรื่องที่น่าสนใจไว้ โดยให้ความเห็นถึงปัญหาที่มีความท้าทายจะเป็นอุปสรรคต่อผลการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินในระยะข้างหน้า โดยรวมมีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก 2.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ 3.กฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร อย่างไรก็ดี ในส่วนของกฎระเบียบที่เข้มข้นขึ้น ประเทศไทยอาจจะไม่กระทบเท่ากับต่างประเทศ เนื่องจากไทยสามารถนำบทเรียนจากต่างประเทศมาเรียนรู้และปรับใช้ได้

ทั้งนี้ ภายใต้ปัจจัย 3 ด้าน สถาบันการเงินทั่วโลกรวมถึงธนาคารกรุงไทย จะต้องพยายามปรับตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยความท้าทายในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำย่อมส่งผลต่อโอกาสการทำกำไรที่จะต้องลดลงโดยปริยาย ซึ่งการปรับตัวของธนาคารจะต้องปรับปรุงต้นทุนให้ลดลง โดยการหาลูกค้าที่มีประสิทธิภาพและใช้ต้นทุนการดูแลลูกค้าไม่สูงมาก ตลอดจนการลดต้นทุนการบริหารจัดการภายใน ซึ่งวิธีที่จะได้ผลและช่วยลดต้นทุน คือ การนำเทคโนโลยีหรือดิจิตอลเข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ช่องทางดิจิตอล จะอยู่ในธุรกรรม 4 กลุ่มด้วยกัน คือ การจ่าย (Payment) ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ(Credit Product) การลงทุน (Investment) และการบริหารบัญชี/การเปิดบัญชี (Account Management) ซึ่งครอบคลุมลูกค้า 3 กลุ่ม ตั้งแต่ลูกค้ารายย่อย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจรายใหญ่ โดยสัดส่วนรายได้จากช่องทางดิจิตอลในต่างประเทศค่อนข้างสูงอยู่ราวๆ กว่า 55% ซึ่งเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสัดส่วนรายได้จากช่องทางดิจิตอลค่อนข้างน้อย โดยในอนาคตช่องทางดิจิตอลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และบทบาทของสาขาธนาคารจะน้อยลง เพราะช่องทางดิจิตอลจะเดินไปหาลูกค้าโดยที่ลูกค้าไปไม่จำเป็นต้องเดินหาช่องทางดิจิตอล

ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าวในที่สุดจำนวนสาขาจะต้องลดจำนวนลง ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่พยายามผลักดันในเรื่องของระบบชำระเงิน อี-เพย์เมนต์ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการใช้ช่องทางดิจิตอลมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ก็จะต้องมีการปรับตัวในเรื่องดิจิตอล เพื่อให้รายได้จากช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และรองรับดิจิตอลที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต โดยเริ่มแรกจาก 1.จะต้องปรับจากระบบทำงานด้วยมือมาเป็นดิจิตอล 2.การนำฐานข้อมูลต่างๆ นำมาใช้ในเรื่องการดูพฤติกรรมลูกค้าและบริหารความเสี่ยง และ3.ภายหลังการนำช่องทางใหม่ๆ เข้ามาใช้ ธนาคารจะต้องมีโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนไป รวมถึงพัฒนาบุคลากรที่จะมารองรับกับระบบที่เปลี่ยนแปลงไป

"ประเด็นที่สถาบันการเงินต่างๆ ให้ความกังวลแน่นอน ปัจจัยแรกต้องมีผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารแน่นอน ซึ่งธนาคารจะต้องปรับตัว โดยเริ่มแรกเราจะต้องสร้างแฟลตฟอร์มก่อน เพราะถ้าธนาคารใหญ่จะปรับตัวย่อมช้ากว่าธนาคารขนาดเล็ก แต่โชคดีที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่รัฐบาลให้ความสำคัญและพยายามผลักดันเรื่องอี-เพย์เมนต์จึงเป็นโอกาสให้แบงก์ต่างๆ ปรับตัว เราอาจจะยังก้าวไปไม่ถึงสังคมที่ไม่ใช่เงินสดเหมือนที่ประเทศสวีเดนตั้งเป้าในปี 2573 จะไม่มีเงินสด ส่วนของไทยในที่สุดการใช้เงินสดจะต้องลดลงแน่นอน และสาขาธนาคารจะลดบทบาทลง แต่ของกรุงไทยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนโยกย้ายแทน เพราะเรายังถือว่าเป็นธนาคารที่รัฐต้องการสนับสนุนประชาชนอยู่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559