อินโดนีเซียเปิดกว้างการลงทุนด้านค้าปลีกมากขึ้น: โอกาสไทยเจาะตลาดผู้บริโภคระดับกลางถึงบนกว่า 170 ล้านคน

17 พ.ค. 2559 | 06:55 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทรายงานเรื่อง “อินโดนีเซียเปิดกว้างการลงทุนด้านค้าปลีกมากขึ้น: โอกาสไทยเจาะตลาดผู้บริโภคระดับกลางถึงบนกว่า 170 ล้านคน”

ประเด็นสำคัญ

•ภาคค้าปลีกอินโดนีเซียมีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการไทย ภายหลังจากที่ทางการอินโดนีเซียมีแนวโน้มเปิดกว้างด้านค้าปลีกในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา ประกอบกับตลาดค้าปลีกที่ยังขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี นอกจากนี้ ปัจจัยแวดล้อมของอินโดนีเซียยิ่งสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภค

•ผู้ประกอบการชาวไทยอาจจับกลุ่มผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูงกว่า 5 ล้านรูเปียห์ต่อเดือนขึ้นไปที่มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างน่าจับตา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายต่อเดือนของผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ต่อปีไปแตะ 93,000 ล้านดอลลาร์ฯในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยสินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยม ทั้งนี้ พื้นที่ทำการตลาดที่เหมาะสมอยู่ที่เกาะชวา ที่มีกลุ่มประชากรเป้าหมายมาก มีสาธารณูปโภคเพียบพร้อม บวกกับมีช่องทางค้าปลีกที่ทันสมัย

•การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยไปยังอินโดนีเซียที่ดีขึ้นจะมีส่วนช่วยการส่งออกของไทยไปยังอินโดนีเซียในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค 10 อันดับแรกของไทยอาจขยายตัวในกรอบร้อยละ 10-14 แตะ 760-790 ล้านดอลลาร์ฯในปี 2559

•กลยุทธ์การเข้าตลาดอินโดนีเซียด้วยการจัดหาตัวแทนการค้า (Agent Appointment) อาจเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ หากแต่การเข้าติดต่อช่องทางการค้าโดยตรงอาจเหมาะสำหรับสินค้าเฉพาะกลุ่มหรือมีปริมาณของสินค้าส่งออกที่ไม่สูงมากนัก

รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดกว้างด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศผ่านการผ่อนคลายกิจการที่มีเงื่อนไขในการลงทุน (Negative Investment Lists) ถึง 35 รายการในเดือน ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติหรือเปิดเสรีในกิจการที่เคยปิด อาทิ E-Commerce โดยหนึ่งในภาคธุรกิจที่น่าสนใจซึ่งคาดว่าจะเปิดกว้างมากขึ้นอีกในอนาคตคือ ธุรกิจค้าปลีก อันจะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการนำสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าตลาดอินโดนีเซีย ท่ามกลางกระแสการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภคให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้นในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียคาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2558 ประกอบกับพลวัตของการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ทว่า กลุ่มผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียยังคงมีความหลากหลายทั้งในแง่ของรายได้และวิถีการดำรงชีวิต ดังนั้น ผู้บริโภคกลุ่มไหนที่ผู้ประกอบการไทยควรเจาะตลาด สินค้าประเภทใดบ้างที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียในยุคปัจจุบัน พื้นที่ลงทุนแห่งไหนที่เหมาะสมกับตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ กลยุทธ์ด้านการตลาดอย่างไรถึงจะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ทันสมัยมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่นักธุรกิจไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนหรือส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ตลาดผู้บริโภคอินโดนีเซียกำลังขยายตัว... เน้นเจาะหัวเมืองในเกาะชวาที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง

ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนของอินโดนีเซียซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญกว่าร้อยละ 56 ของ GDP ชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 5.5 ในปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ในปี 2558  จากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ถาโถม โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง หากแต่ความน่าสนใจของตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซียยังคงไม่หยุดเติบโตด้วยตลาดค้าปลีกในประเทศที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 10 ในปี 2558 ที่ผ่านมาและมีมูลค่าแตะ 360 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้อินโดนีเซียก้าวขึ้นมาติดอันดับที่ 12 ของดัชนีชี้วัดประเทศที่น่าลงทุนในธุรกิจค้าปลีกในปี 2558 (Global Retail Development Index) จากอันดับที่ 19 เมื่อปี 2556

ด้วยศักยภาพของตลาดภายในประเทศที่ยังไม่อิ่มตัว โอกาสทางธุรกิจค้าปลีกในอินโดนีเซียจึงเป็นที่น่าจับตา ท่ามกลางปัจจัยเกื้อหนุนจากสังคมเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จำนวนประชากรในเขตเมือง (Urban Population) ของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นแตะ 170 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมกับกำลังซื้อในเขตเมืองที่จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2558 ไปอยู่ที่ราว 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2568 ตามรายได้ต่อหัว (GNI per capita) ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น โอกาสจับกลุ่มผู้บริโภคในสังคมเมืองจึงมีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้สังคมเมืองของอินโดนีเซียจะขยับขยายมากขึ้น หากแต่ความหลากหลายและแตกต่างของประชากรย่อมเป็นปัจจัยกำหนดตลาดเป้าหมาย (Market Targeting) ของสินค้าที่ต้องการเข้าทำตลาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงจนถึงรายได้ระดับสูงที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 ล้านรูเปียห์ต่อเดือนขึ้นไปหรือราว 13,400 บาท เป็นกลุ่มที่เหมาะกับการเจาะตลาดของผู้ประกอบการไทย จากปัจจัยดังต่อไปนี้

สัดส่วนของกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงขึ้นไปมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากราวร้อยละ 43 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 67 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2558 (ประมาณ 170 ล้านคน)

กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงขึ้นไปในอินโดนีเซียเปิดกว้างและยอมรับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมากกว่าและไม่พิจารณาปัจจัยทางด้านราคาเป็นที่ตั้ง ดังนั้น พฤติกรรมการบริโภคของประชากรในกลุ่มนี้มีความน่าสนใจและเหมาะกับการเจาะตลาดของสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าผู้บริโภคระดับล่าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายต่อเดือนของกลุ่มผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงจนถึงรายได้ระดับสูงจะขยายตัวโดยเฉลี่ยราวร้อยละ 7.7 ต่อปี จากประมาณ 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2558 ไปอยู่ที่ราว 93,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าผู้บริโภคระดับล่างที่หดตัวตามสัดส่วนประชากรที่ลดลง จึงนับเป็นโอกาสสำคัญในการเจาะตลาดที่มีศักยภาพข้างต้น

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงประเภทสินค้าที่ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียกลุ่มนี้มีแนวโน้มบริโภคมากขึ้นตามตารางด้านบน จะเห็นได้ชัดว่า ผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มขยายตัวดีที่สุดมากกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม อย่างไรก็ดี ชนิดของอาหารและเครื่องดื่มที่คนกลุ่มนี้นิยมบริโภคมีความหลากหลายและตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองมากขึ้น อาทิ เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy drink) เครื่องดื่มเกลือแร่ (Isotonic/sport drink) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ข้าวโอ๊ต โยเกิร์ต และขนมขบเคี้ยว (Confectionary) โดยเป้าหมายหลักจะเป็นผู้บริโภควัยหนุ่มสาวและวัยทำงานที่ใส่ใจสุขภาพ ทั้งนี้ คู่แข่งนำเข้าสำคัญของไทยในสินค้ากลุ่มนี้ ได้แก่ มาเลเซีย จีน สหรัฐฯ สิงคโปร์และออสเตรเลีย

รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เครื่องสำอาง และเครื่องนุ่งห่มและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ความสวยความงามและสุขภาพ อาทิ  สบู่เหลวอาบน้ำ เจลล้างมือ กระดาษเช็ดหน้า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายและผิวหน้าจากสมุนไพร เสื้อผ้าสำหรับเด็ก น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาดเอนกประสงค์ (All-purpose cleaners) สเปรย์ปรับอากาศ ทั้งนี้ คู่แข่งนำเข้าสำคัญของไทยในสินค้ากลุ่มนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเยอรมนี

นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าตกแต่งบ้านยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยได้อานิสงส์จากตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวกว่าร้อยละ 7 (QoQ) ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยขนาดกลาง ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดีได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ทั้งนี้ คู่แข่งนำเข้าสำคัญของไทยในสินค้ากลุ่มนี้ได้แก่ จีน มาเลเซียและเกาหลีใต้

ทั้งนี้ กำลังซื้อของประชาชนชาวอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้นในระยะแรกยังคงจำกัดอยู่ในเขตเมืองใหญ่ๆที่เติบโตตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีและมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บนเกาะชวาที่มีการลงทุนในภาคบริการและการผลิตจำนวนมาก รวมถึงการคมนาคมขนส่งที่สะดวกและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางรถยนต์และรถไฟ รวมถึงรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงจาการ์ตาและบันดุงที่กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการก่อสร้างและอาจเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงปี 2562-2563 เหมาะสมกับการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจจะเน่าเสีย (Perishable Goods) หรือล้าสมัยได้เร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คัดเลือกหัวเมืองหลัก (1st-tier city) บนเกาะชวาที่มีศักยภาพในการเติบโตในธุรกิจค้าปลีก  ซึ่งได้แก่ เมืองหลวงกรุงจาการ์ตาและเมืองสุราบายา รวมถึงหัวเมืองรองระดับ 2 (2nd-tier city) ที่สำคัญ 5 แห่งซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญ มีช่องทางการค้าปลีกทันสมัยที่หลากหลาย ประกอบกับมีจำนวนชาวต่างชาติที่ทำงานในเมืองและนิคมอุตสาหกรรมมากซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สินค้าจากต่างประเทศมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น ได้แก่ Bogor Depok Tangerang Bekasi และ Bandung

กลยุทธ์การเจาะตลาด ผ่านส่วนประสมทางการตลาดที่เหมาะสมกับผู้บริโภค รวมถึงรูปแบบการเข้าตลาดอินโดนีเซีย มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทย ประสบความสำเร็จในการทำตลาด

กลยุทธ์การเจาะตลาดค้าปลีกของอินโดนีเซียถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตลาดสินค้าไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียได้ตรงจุดและมีศักยภาพในการขยายตลาดได้ในอนาคต โดยจากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง สามารถวิเคราะห์ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix) ที่เหมาะสมซึ่งสามารถปรับใช้กับการเจาะตลาดเมืองสำคัญในเกาะชวาได้ดังต่อไปนี้

ช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่เป็นช่องทางสำคัญ: ผู้บริโภคในกลุ่มนี้เน้นการจับจ่ายใช้สอยในร้านสะดวกซื้อหรือมินิมาร์ทเป็นหลัก และเริ่มจับจ่ายใช้สอยในไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือซุเปอร์มาร์เก็ตที่มีมากขึ้นตามหัวเมืองใหญ่ๆ เนื่องจากคำนึงถึงคุณภาพของสินค้า การบริการหลังการขาย นิยมความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยและไม่มีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้ามากนัก โดยถึงแม้ว่าสัดส่วนของยอดค้าปลีกสมัยใหม่ในอินโดนีเซียจะยังอยู่ในระดับต่ำ หากแต่มีทิศทางการเติบโตที่น่าจับตา และมีจำนวนร้านค้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงนับเป็นช่องทางการทำตลาดที่เหมาะสมสำหรับสินค้าไทยที่ต้องการวางตลาดในอินโดนีเซีย เนื่องจากสัดส่วนของร้านค้าปลีกกว่าร้อยละ 85 อยู่ในเกาะชวา โดยเฉพาะในกรุงจาการ์ตา ชวาตะวันตกและบันเตน  อย่างไรก็ดี จำนวนร้านสะดวกซื้อกว่าร้อยละ 96 เป็นบริษัทของอินโดนีเซียรายใหญ่จำนวน 2 รายได้แก่ Indomaret และ Alfamart ในขณะที่ Hypermarket และ Supermarket ส่วนใหญ่จะเป็นของบริษัทต่างชาติ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจต้องลองเดินทางไปสำรวจช่องทางการค้าสมัยใหม่ที่มีศักยภาพและมีการจำหน่ายสินค้าไทยอยู่แล้วหรือมีความต้องการที่จะจำหน่ายสินค้าต่างชาติด้วยตนเอง

ความน่าเชื่อถือ คุณภาพ ประโยชน์ที่ได้รับ และบริการหลังการขายของตราสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าของคนกลุ่มนี้: การรับรู้สินค้าแบบองค์รวม (Holistic Perception) เริ่มเป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น รูปแบบและขนาดของ Packaging สินค้าที่น่าสนใจและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจึงเป็นปัจจัยแรกที่ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียกลุ่มนี้เลือกพิจารณามากกว่าราคา

กลยุทธ์การโปรโมทสินค้ายังคงเน้นช่องทางดั้งเดิม โดยเฉพาะโทรทัศน์ หากแต่ Social Media เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียยังคงเลือกเฟ้นหาสินค้าอุปโภคบริโภคตามสื่อโทรทัศน์ บวกกับการสื่อสารแบบปากต่อปากจากเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง รวมถึง In-store Promotion ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ยังคงมีบทบาทในสังคมอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าการใช้ Social Media ในการสื่อสารสินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเทคโนโลยีและแฟชั่นในอินโดนีเซียจะยังมีน้อยในปัจจุบัน แต่เริ่มเห็นกระแสดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของ Blogger หรือเว็บไซด์ต่างๆ

การผสานธุรกิจจากออนไลน์ไปสู่ออฟไลน์ (Online to Offline Marketing) เป็นช่องทางที่แนะนำสำหรับการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะแก่ง นักลงทุนไทยหรือผู้ที่สนใจส่งสินค้าออกไปยังอินโดนีเซียควรคัดเลือกผู้ให้บริการทางโลจิสติกส์ของอินโดนีเซีย (Third Party Logistics) ที่ครอบคลุมเกาะและเมืองที่ต้องการเข้าไปลงทุน เพื่อลดต้นทุนการขนส่งระหว่างเกาะที่สูงและสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสม โดยผู้บริโภคในเมืองนั้นๆสามารถเลือกชมและซื้อสินค้าออนไลน์ และสามารถเลือกรับสินค้าที่ศูนย์กระจายสินค้าที่ตั้งอยู่ในเมืองนั้นๆ หรือตามร้านค้าสะดวกซื้อที่เป็นพันธมิตร

ส่วนทางด้านกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สำหรับผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่หรือ SMEs ไทยที่มีประสบการณ์การค้าระหว่างประเทศอยู่แล้ว ควรใช้วิธีจัดหาตัวแทนการค้าในประเทศอินโดนีเซีย (Agent Appointment) โดยควรจะเลือกสรรตัวแทนการค้าระหว่างประเทศที่มีนโยบายการจัดจำหน่ายในประเทศที่เหมาะสมกับสินค้าของตน อาทิ ตัวแทนที่ทำหน้าที่นำเข้าแล้วจัดจำหน่ายค้าส่งและค้าปลีกเองด้วย เนื่องจากตัวแทนดังกล่าวมีใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเพื่อการค้า (API-U General Import License) รวมถึงสามารถจัดสรรช่องทางการจัดจำหน่าย โลจิสติกส์ แคมเปญการตลาด และบริการหลังการขายที่เหมาะสมกับสินค้าของไทย อนึ่ง ผู้ประกอบการไทยที่มีสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche market) หรือมีปริมาณของสินค้าส่งออกที่ไม่สูงอาจเลือกติดต่อช่องทางการค้าโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือไฮเปอร์มาร์เก็ต ทดแทนกลยุทธ์จัดหาตัวแทนการค้าที่ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง

สุดท้ายนี้ สินค้าไทยยังคงมีความได้เปรียบสินค้าจากประเทศอื่นๆ ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ภาษีนำเข้าระหว่างกันในกลุ่มอาเซียนส่วนมากเหลือร้อยละ 0 ภายหลังจากที่ทางการอินโดนีเซียปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 30 รายการในช่วงกลางปี 2558 ที่ผ่านมาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและเครื่องสำอางปรับขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 อาหารและเครื่องดื่มโดยเฉลี่ยร้อยละ 5-10 เป็นต้น

จับตาการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไทยไปยังอินโดนีเซีย มีโมเมนตัมฟื้นตัวอย่างเด่นชัด

การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปยังอินโดนีเซียเริ่มกลับมามีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่น่าจับตา สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของภาคค้าปลีกและการบริโภคภาคครัวเรือนดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่ม อาหารทะเลกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ด้วยอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค 10 อันดับแรกในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 ขยายตัวโดยเฉลี่ยราวร้อยละ 21 ดีกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกโดยรวมที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 8.9 สะท้อนว่าสินค้าอุปโภคบริโภคมีศักยภาพในการเจาะตลาดอินโดนีเซียในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปยังอินโดนีเซีย 10 อันดับแรกในปี 2559 อาจขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 10-14 ไปแตะ 760-790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าการส่งออกไปยังอินโดนีเซียโดยรวมที่อาจขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 1.5-4.5

กล่าวโดยสรุป จากการที่ทางการอินโดนีเซียริเริ่มเปิดกว้างในอุตสาหกรรมค้าปลีกมากขึ้นในช่วงต้นปี 2559 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดผู้บริโภคอินโดนีเซียที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะสินค้าจำพวกอาหารและเครื่องดื่มที่มีทิศทางการบริโภคที่สดใสและขยายตัวดี รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย โดยเน้นจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูงกว่า 5 ล้านรูเปียห์ต่อเดือนขึ้นไปที่มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างน่าจับตา มีรสนิยมเปิดรับสินค้าใหม่ๆจากต่างประเทศมากขึ้นและเข้าถึงช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งนี้ พื้นที่ทำการตลาดที่เหมาะสมอยู่ที่เกาะชวา ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงจาการ์ตา สุราบายา หรือเมืองรองอย่างบันดุง หรือ Depok ซึ่งมีปริมาณผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างมาก มีสาธารณูปโภคและการคมนาคมที่ค่อนข้างเพียบพร้อม บวกกับมีช่องทางค้าปลีกทันสมัยจำนวนมาก

ผู้ประกอบการไทยอาจเน้นส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียและไทยมีศักยภาพในการส่งออกอยู่แล้ว โดยอาศัยความได้เปรียบของความตกลงการค้าเสรีภายใต้ AEC ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขนมขบเคี้ยว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป รวมถึงอาหารฮาลาล อย่างไรก็ดี การแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีกและ E-commerce ในอินโดนีเซียเริ่มดุเดือดขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามกฎระเบียบของทางการอินโดนีเซียที่อาจจะปรับเปลี่ยนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนในอนาคตอย่างใกล้ชิด