ไปรษณีย์ไทยปรับทัพลุยอี-คอมเมิร์ซเต็มกำลังลั่นแบรนด์ไทยแกร่ง!สู้ได้

19 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
เป็นเพราะกระแสอี-คอมเมิร์ซ (การซื้อ-ขายสินค้า ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์) กำลังได้รับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า แนวโน้มการเจริญเติบโตของตลาด อี - คอมเมิร์ซไทยในปี 2559 จะมีการขยายตัว ประมาณ 15-20 % จากปี 2558 หรือ ประมาณ 2.3-2.4แสนล้านบาท

[caption id="attachment_54041" align="aligncenter" width="700"] สัดส่วนผลดำเนินการของปณทไตรมาสที่ 1 ปี 2559 สัดส่วนผลดำเนินการของปณทไตรมาสที่ 1 ปี 2559[/caption]

นั้นจึงเป็นที่มาที่บรรดาผู้ประกอบการขยายตลาดไปยัง อี-คอมเมิร์ซ มากยิ่งขึ้น และ ที่สำคัญเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ เริ่มขยายตลาดเข้าสู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา,ลาซาด้า และ ช้อปปี้ออนไลน์ เป็นต้น

การเข้ามาของเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ ข้ามชาติ ส่งผลให้กิจการทางด้านขนส่งรับ-พัสดุภัณฑ์ ได้รับอานิสงส์ในจุดนี้ด้วย

รายได้กลุ่มขนส่ง-โลจิสติกส์โต 23.29%

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท เปิดเผยว่า กระแสของ อี-คอมเมิร์ซ ส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจทางด้านขนส่งรับ-พัสดุภัณฑ์ มีอัตราการเติบโตถึง 23.29% เนื่องจากว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป สั่งซื้อสินค้าผ่านทางอี-คอมเมิร์ซ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การดำเนินงานของ ปณท ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีรายได้รวม 6,242.13 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 5,248.18 ล้านบาท และกำไรสุทธิ เป็นเงิน 993.95 ล้านบาท โดยรายได้ จากการเติบโตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ คิดเป็น 41.46% ซึ่งหากเทียบกับผลการดำเนินงานของไตรมาสเดียวกันปี 2558 เพิ่มขึ้นจากเดิม 23.29% (ดูตารางประกอบ)

"พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจะสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปณท ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้"

รุกปรับโครงสร้างใหม่

เป็นเพราะการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ และ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับไม่ว่าจะเป็น เคอรี่ เอ็กซ์เพลส ,นิ่มซีเส็ง และ แกร็บแท็กซี่ มีแนวโน้มจะทำธุรกิจโลจิสติกส์เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามขณะนี้ ปณท ได้มีปรับโครงสร้างธุรกิจรองรับการแข่งขันเช่นเดียวกัน โดยแบ่งโครงสร้างใหม่ประกอบด้วย กลุ่มสื่อสาร รับผิดชอบจดหมายลงทะเบียน, กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ รับผิดชอบขนส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์ และ กลุ่มบริการระหว่างประเทศ ที่แยกออกมาจากกลุ่มสื่อสาร
การปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นการสอดรับการแข่งขันที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และ เตรียมความพร้อมของอี-คอมเมิร์ซที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ชูกลยุทธ์ "ว+1"

นางสมร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้ในขณะนี้มีผู้ประกอบการทางด้านโลจิสติกส์ทั้งกลุ่มทุนไทย และ กลุ่มทุนต่างประเทศ เข้ามาเป็นผู้ให้บริการรับ-ขนส่ง เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่า ปณท สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ เนื่องจากให้บริการมาถึง 132 ปี มีเครือข่ายให้บริการ 1,200 แห่ง รวมถึงไปรษณีย์เอกชนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 พันแห่ง ถือว่ามีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในขณะนี้

นอกจากนี้ ปณท ยังมีกลยุทธ์ทางธุรกิจ คือ ว +1 หมายถึงการส่ง EMS ให้ได้ภายใน 1 วัน ซึ่งที่ผ่านมา ปณท สามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

สิ้นปีตั้งเป้า 24,500 ล.

ขณะที่เป้าหมาภายในสิ้นปีนั้น นางสมร กล่าวว่า ปณท ตั้งเป้ารายได้สิ้นปีอยู่ที่ 2.45 หมื่นล้านบาท กำไรน่าจะอยู่ที่ 3 พันล้านบาท ซึ่งในปีที่ผ่านมามีรายได้อยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านบาท และ มีกำไรที่ 2,500 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้ ปณท ยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบไอทีเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกการรับฝาก-ส่งพัสดุทางไปรษณีย์ให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ให้สามารถจัดการฝากส่งได้รวดเร็วขึ้นรวมถึงปรับเส้นทางขนส่ง นำจ่ายพัสดุให้ถึงมือผู้รับภายใน 1 วันอีกด้วย

จับมือช้อปปี้ ส่งฟรีทั่วไทย

นอกจากนี้บรรดาเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ ซื้อ-ขาย สินค้าผ่านระบบออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า และ ทีวี ไดเร็ค ต่างก็เป็นพันธมิตรกับไปรษณีย์เพื่อรับ-ส่งสินค้าทั่วประเทศ ทำให้รายได้ในธุรกิจกลุ่มขนส่งเติบโตขึ้น

อย่างล่าสุด ปณท ได้จับมือกับ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่มความมั่นใจในการจัดส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการและผู้ซื้อสินค้า เปิดตัวบริการส่งฟรีทั่วไทยเพียงเลือกใช้บริการจัดส่งผ่านไปรษณีย์ไทยบนแอพพลิเคชันช้อปปี้ ตลาดมือถือออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าที่ลงทะเบียนบนแอพพลิเคชันช้อปปี้จำนวนหลายแสนรายที่เปิดใช้บริการ "ส่งฟรีทั่วไทย" แล้ว สำหรับยอดของผู้ขายนั้นมีการเพิ่มขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมากกว่า 20% ในทุกเดือนและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต

อย่างไรก็ตามการจับมือกับ ช้อปปี้ ครั้งนี้ นางสมร ให้ความเห็นว่า เนื่องจาก ปณท มีความเชี่ยวชาญด้านการขนส่ง และ ให้บริการใกล้ชิดกับคนไทยมาอย่างยาวนาน พร้อมสนับสนุนการเติบโตของทุกธุรกิจแนวใหม่ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการ อี- คอมเมิร์ซ กลุ่มผู้ทำธุรกิจบนโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม เป็นต้น

สำหรับบริการ "ส่งฟรีทั่วไทย" ของ ช้อปปี้ นั้น ไปรษณีย์ไทย ให้บริการจัดส่งสินค้าด้วยบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ EMS และส่งลงทะเบียน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยผู้ขายที่ลงทะเบียนขายสินค้าผ่านแอพพลิเคชันช้อปปี้ สามารถใช้บริการไปรษณีย์เพื่อฝากส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อได้ทุกที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อว่าเครือข่ายที่ครอบคลุม และความน่าเชื่อถือในการจัดส่งสินค้าจะสามารถสร้างยอดขายในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และผู้ซื้อก็จะได้รับสินค้าในราคาประหยัดลงอีกด้วย"

ด้านนายเทเรนซ์ แพง ผู้อำนวยการบริหารประจำภูมิภาค บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับบริการส่งฟรีทั่วไทยของ ช้อปปี้ ครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการถือว่าได้รับผลตอบรับดีมาก มีผู้สนใจใช้บริการถึง 95% รวมไปถึงยอดสั่งซื้อและจำนวนผู้ใช้งานแอพ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งก็มาจากการเปิดบริการส่งฟรีทั่วไทยทั้ง EMS และลงทะเบียน ซึ่งทำให้ผู้ขายมีกำไรมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ซื้อเองก็สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ประหยัดลง อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานะการจัดส่งได้ทุกกระบวนการจากระบบการทำงานของไปรษณีย์ไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ขายรายใหม่หรือปัจจุบัน อยู่ที่ใดในประเทศไทย ก็สามารถใช้บริการนี้จากช้อปปี้ได้ทันที หากเลือกใช้บริการจัดส่งผ่านไปรษณีย์ไทย

ในขณะเดียวกัน กระแสธุรกิจการซื้อขายบนโลกออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ช้อปปี้ เชื่อว่าบริการดังกล่าวที่เปิดตัวขึ้นนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการเริ่มรู้จักแอพพลิเคชันช้อปปี้มากขึ้นด้วย โดยความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยในการพัฒนากิจกรรมพิเศษต่างๆ ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบการ อี-คอมเมิร์ซ ของไทยให้เติบโตสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล นอกจากนี้ ช้อปปี้ ยังมุ่งมั่นสร้างบริการดีๆ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจตลาดออนไลน์ในประเทศไทยต่อไปด้วย

และทั้งหมด คือ กลยุทธ์ของ ปณท เพื่อรองรับธุรกิจซื้อ-ขาย ผ่านออนไลน์ และ เตรียมรับมือกับการแข่งขันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559