ค่ายรถโหมขยายโรงงานดันไทยฮับผลิตโลก

18 พ.ค. 2559 | 00:00 น.
ค่ายรถดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์โลก เอ็มจีประกาศแผนเปิดโรงงานใหม่ที่ชลบุรี ทดแทนโรงงานเดิม"ธนินท์ เจียรวนนท์"ประกาศใช้ความแข็งแกร่งซีพี ดันขึ้นผู้นำตลาดเมืองไทย ด้านฮอนด้าเปิดโรงงานใหม่สุดล้ำที่ปราจีนบุรี มูลค่า 1.7 หมื่นล้าน "นิสสัน"ผุดศูนย์วิจัยพัฒนาอาเซียนในไทย บีเอ็มประกอบ X3,X5 ส่งออกไปจีน เล็งเปิดศูนย์ จัดซื้อชิ้นส่วนส่งโรงงานทั่วโลก

หลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล มีความต่อเนื่องในการเดินหน้าตามโรดแมปและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบและโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเริ่มก่อสร้างไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นต่อไทยได้ และคาดว่าผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามได้กอปรกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือทางการเงินเอสเอ็มอี และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เริ่มกลับมาได้เร็วกว่าคาด ถือเป็นอีกแรงกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

เอ็มจีเตรียมผุดโรงงานใหม่

นายหวู่ ฮวน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่นกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เปิดเผยว่าทางบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพีฯและ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ "เอ็มจี" แบรนด์รถยนต์ชั้นนำจากประเทศอังกฤษ ประกาศยืนยันแผนการขยายโรงงานแห่งใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ เอ็มจี ที่ต้องการดำเนินธุรกิจรถยนต์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง

"การสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี แห่งใหม่นี้ นับเป็นการก้าวย่างทางธุรกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของเอ็มจีในประเทศไทย ปัจจุบันโรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี แห่งใหม่นี้ อยู่ในระหว่างขั้นตอนการออกแบบทั้งในส่วนการก่อสร้างตัวอาคาร การติดตั้งอุปกรณ์ และการจัดวางระบบสายงานการผลิตต่างๆ เพื่อให้โรงงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตรถยนต์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอ็มจี โดยการออกแบบและก่อสร้างจะคำนึงให้เป็นไปตามหลัก "การยศาสตร์" เพื่อเอื้อต่อสภาพการทำงานที่เหมาะสมของพนักงานและเจ้าหน้าที่เอ็มจี"นายหวู่ ฮวนกล่าวและว่า

เมื่อโรงงานผลิตรถยนต์เอ็มจี แห่งใหม่นี้ สร้างเสร็จสมบูรณ์จะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวารุ่นต่างๆ ภายใต้แบรนด์ "เอ็มจี" เพื่อผลิตและจำหน่ายภายในประเทศไทย และเพื่อการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และและชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ อีกทั้ง เอ็มจี ยังต้องการช่วยสนับสนุนเพื่อการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยควบคู่ไปกับการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจของเอ็มจี"

 โรงงานใหม่ทดแทนโรงงานเดิม

ด้านนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี และ เอ็มจี กับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และขอชื่นชมในความมุ่งมั่นในการทำงานแข่งขันกับสภาวะตลาดรถยนต์เมืองไทยที่มีความท้าทายเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งนี้เราจะร่วมเดินทางและเติบโตไปพร้อมๆ กัน ด้วยความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี และ เอ็มจี ที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดรถยนต์ของเมืองไทยในเร็วๆ นี้ โดยมีกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยสนับสนุนและเสริมความแข็งแกร่ง

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ทั้งนี้ โรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี แห่งใหม่ จะถูกก่อสร้างบนที่ดินจำนวน 437.5 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จังหวัดชลบุรี ส่วนงบในการลงทุนยังไม่อาจสรุปได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างกำหนดในรายละเอียดว่า จะมีกี่เฟส แต่มีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกินปี 2562 โดยโรงงานแห่งนี้ จะมาทดแทนโรงงานในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด บนพื้นที่ 17,280 ตารางเมตร ซึ่งเริ่มเดินสายการผลิตครั้งแรกเมื่อต้นปี 2557 ใช้เงินลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท มีกำลังการผลิตเต็มที่ 5 หมื่นคันต่อปี ส่วนศูนย์สร้างประสบการณ์การขับขี่หรือศูนย์ขับขี่ปลอดภัยที่ถนนศรีนครินทร์มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมิถุนายนนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท

 ฮอนด้าเปิดโรงงานปราจีนบุรี

ขณะเดียวกันทางบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งค่ายรถยนต์ที่พร้อมเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี อย่างเป็นทางการแล้ว โดยใช้เงินลงทุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 1.2 แสนคันต่อปี (อ่านรายละเอียดหน้า 28 )

 นิสสันเปิดศูนย์อาร์แอนด์ดี

สอดรับกับนายฮิโรชิ นากาโอกะ รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด ที่ระบุว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด สำนักงานใหญ่ของนิสสันในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขยายขอบข่ายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ในประเทศไทย ให้ครอบคลุม และเพิ่มศักยภาพการออกแบบและพัฒนารถยนต์ โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้เปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ (Nissan Motor Asia Pacific R&D Test Center) พร้อมห้องทดสอบยานยนต์ล้ำสมัย เป็นแห่งแรก ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมดูแลการวิจัยและพัฒนาใน 5 ประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันนิสสัน มีฐานการวิจัยพัฒนา อยู่ใน 13 ประเทศทั่วโลก โดยศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทยนี้ จะทำหน้าที่สนับสนุนฐานการผลิตของนิสสัน 7 แห่ง ใน 5 ประเทศภูมิภาคอาเซียน คือ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม รองรับการพัฒนารถยนต์ เพื่อตอบสนองตลาดในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ด้านนายคะซุทากะ นัมบุ ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิดของศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ในครั้งนี้ นับเป็นการยกระดับศักยภาพของนิสสัน จากเดิมที่เป็นศูนย์กลางทางการผลิต ก้าวสู่ศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในระดับภูมิภาคได้ดีมากยิ่งขึ้น ด้วยการวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านชิ้นส่วน และการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่นวัตกรรมของเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนั้นๆได้ โดยปัจจุบัน เรามีวิศวกรชาวไทยมากกว่า 300 คน ปฏิบัติงานในศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้ และเพื่อรองรับต่องานวิจัยพัฒนาในก้าวต่อไปของนิสสัน เราได้ส่งวิศวกรชาวไทยประมาณ 100 คน ไปร่วมงานกับทีมวิศวกรของนิสสันทั่วโลก ซึ่งบุคลากรของไทย ได้รับการยอมรับถึงศักยภาพและทักษะด้านวิศวกรรมที่สูงมาก

สำหรับศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์นิสสัน ภายใต้ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (NMAP) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,600 ตารางเมตร บนถนนบางนา-ตราด กม. 22 ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินลงทุนกว่า 1,087 ล้านบาท โดยมีขอบข่ายการทำงานครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนวิจัยพัฒนา ทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร รวมถึงการมุ่งให้เกิดการพัฒนาชิ้นส่วนภายในประเทศ

 บีเอ็มส่งออกไปจีน

นายเจฟฟรีย์ กอดิอาโน ประธานกรรมการบริหาร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้จัดส่งรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูรุ่น X5 และ X3 ซึ่งผลิตและประกอบในประเทศไทย ออกสู่ตลาดในประเทศจีนเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศจีนได้มากขึ้น ด้วยการขนส่งที่รวดเร็วและออพชันเสริมที่หลากหลาย นอกจากนี้ ด้วยการปรับอุปกรณ์เสริมต่างๆตามความต้องการของตลาดได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของแบรนด์ระดับพรีเมียม เราจึงมีความยินดีที่ได้ตอบสนองความต้องการดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เรามั่นใจว่ารถยนต์ทั้ง 2 รุ่นจะได้รับความนิยมในตลาดประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เป็นโรงงานแห่งแรกและแห่งเดียวของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ที่มีสายการผลิตรองรับการประกอบยนตรกรรมของทั้ง 3 แบรนด์ ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู มินิ และบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด รองรับกำลังการผลิตรถยนต์ได้มากถึง 2 หมื่นคันต่อปี และรถจักรยานยนต์ 1 หมื่นคันต่อปี

นอกจากนี้ การที่บริษัทต้องจัดซื้อชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศไทยในแต่ละปี เป็นจำนวนมากเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตในประเทศและเพื่อส่งออก คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาทต่อปี บีเอ็มดับเบิลยูจึงเตรียมจัดตั้งสำนักงานจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ขึ้นในประเทศไทยด้วย เพื่อจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์จากซัพพลายเออร์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับเครือข่ายการผลิตของบีเอ็มดับเบิลยู 30 แห่ง ใน 14 ประเทศทั่วโลก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559