ส่งออกเฝ้าระวังบาทแข็งทะลุ34 ชี้‘เฟด-ยูเค-นํ้ามัน’ปัจจัยกดดัน

17 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
ส่งออกเฝ้าระวังบาทแข็งค่าทะลุ 34 บาท/ดอลล์กระทบขีดแข่งขัน หวั่นสินค้าไทยจะยิ่ง เสียเปรียบเวียดนาม-มาเลย์ ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ส่งข้อมูลค่าเงินรายวันให้สมาชิกคำนวณรับออร์เดอร์ใหม่ป้องกันขาดทุน ระบุล่าสุดยังโค้ดราคาที่ 35 บาท/ดอลล์ยืนพื้น ด้านสภาผู้ส่งออกสั่งจับตา 2 เหตุการณ์ใหญ่ประชุมเฟด- ลงประชามติUKถอนจากสมาชิกกลุ่มยุโรป จะป่วนค่าเงินโลกอีกระลอก ขณะที่แบงก์เชื่อระยะสั้น เงินบาทไม่แข็งลึกกว่า 34.80 บาท ชี้ปัจจัยกดดัน" เฟดไม่ขึ้นดบ.-น้ำมันทะลุ 50 ดอลล์"

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกได้จับตามองอัตราแลกเปลี่ยน/ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะหากแข็งค่าขึ้นจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก หลังจากเมื่อประมาณ 10 วันก่อน เงินบาทแข็งค่าในช่วงสั้น ๆ ที่ระดับ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในภาพรวมที่ยังไม่ค่อยดี (ยกเว้นอัตราการว่างงานในสหรัฐที่ยังทรงตัว) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อน และบาทแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันค่าเงินบาทยังถือว่าอ่อนค่าในระดับ 35 บาทต้นๆ /ดอลลาร์สหรัฐฯ(13 พ.ค.59 ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 35.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)ซึ่งเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าแทรกแซง
"ที่น่าจับตาคือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดในวันที่ 16-17 มิถุนายนนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งที่ 2 จากมีเป้าหมายจะปรับขึ้น 4 ครั้งภายในปีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องรอดูผลการทำประชามติของสหราชอาณาจักร(UK)ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ว่าจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรปหรือไม่ เพราะทั้งสองเหตุการณ์จะมีผลทำให้ค่าเงินของโลกมีความผันผวน"

ทั้งนี้หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลให้เงินทุนสหรัฐฯไหลกลับ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน หากค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าหรือแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคก็คงไม่กระทบมาก โดยหากอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไปก็ยังมั่นใจว่าภาคการส่งออกของไทยยังแข่งขันได้ แต่หากแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34.50 บาท การแข่งขันด้านราคาคงลำบาก เพราะต้นทุนสินค้าไทยภาพรวมไม่ได้เปรียบคู่แข่งขัน อย่างไรก็ดีมองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มน่าจะดีขึ้น และจะมีผลทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัว (จากไตรมาสแรกการส่งออกของไทยขยายตัวเพียง 0.90%)

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ทางสมาคมซึ่งมีสมาชิกใน 6 กลุ่มสินค้าได้แก่ ทูน่า , ปลาและอาหารทะเล,สับปะรด, ผักและผลไม้, ข้าวโพดหวาน และอาหารพร้อมรับประทานและเครื่องปรุงรส ได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อกำไร-ขาดทุน และในการรับคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) โดยทางสมาคมฯจะส่งรายงานอัตราแลกเปลี่ยนให้สมาชิกรับทราบทุกวันเพื่อใช้คำนวณราคาขายสินค้าและรับออร์เดอร์ จากปีที่แล้วในครึ่งปีแรกเงินบาทแข็งค่ามากระดับ 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกลดลงอย่างมาก จากไม่กล้ารับออร์เดอร์ หรือรับน้อยลงเพราะเกรงขาดทุน แต่ในครึ่งหลังเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเฉลี่ยที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯช่วยชดเชยรายได้ที่หายไปในครึ่งแรกได้

อย่างไรก็ดีในช่วงนี้สมาชิกของสมาคม(มีเกือบ 200 บริษัท)ส่วนใหญ่ได้โค้ดราคาขายสินค้าในอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนนี้ในการคำนวณราคากลางขายสินค้าโดยยืนราคาไว้ 7 วัน ก่อนเสนอหรือโค้ดราคาใหม่ตามสถานการณ์ค่าเงิน ทั้งนี้ยังไม่มีรายใดโค้ดราคาในอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะหากใช้อัตรานี้ราคาสินค้าจะสูงขึ้น และขายยาก

"ค่าเงินบาทช่วงนี้ยังค่อนข้างดี การแข็งค่าหรืออ่อนค่ายังเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคที่เป็นคู่แข่งขันส่งออก ทำให้ไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมาก แต่มีอยู่ 2 ประเทศได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนามที่ถัวเฉลี่ยค่าเงินเขาจะอ่อนค่ากว่าเรา และเขาเริ่มมีการพัฒนาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาใกล้เคียงกับเราคือ เช่นอาหารทะเล ซึ่งเวียดนามได้เปรียบไทย เพราะอยู่ติดทะเล มีวัตถุดิบมากกว่า ขณะที่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารทะเล อีกทั้งเวียดนามยังได้เปรียบเพราะยังได้ยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) จากสหรัฐฯ และอียู และยังเป็นสมาชิกของทีพีพี ซึ่งหากความตกลงมีผลบังคับใช้ จะยิ่งได้เปรียบไทยมากขึ้น"

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผกระทบกับการส่งออกแล้ว ความกังวลใจของผู้ส่งออกในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถืออยู่ในอันดับต้น ๆ ส่วนปัจจัยเสี่ยง ๆที่ต้องระวัง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อ และต่อการนำเข้าสินค้า ขณะที่ใน 2 ปีที่ผ่านมาประเทศคู่แข่งหลายประเทศได้ใช้ค่าเงินในการกอบกู้เศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯออกคิวอี หลายประเทศในยุโรป และญี่ปุ่นใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบ จีนประกาศลดค่าเงินหยวนลง 7% เพื่อกระตุ้นการส่งออก หากประเทศเหล่านี้ประกาศมาตรการใดออกมาอีกจะกระทบค่าเงินบาทไทยผันผวน ที่ต้องจับตาในระยะเวลาอันใกล้นี้คือเฟดจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบที่ 2 หรือไม่ และเมื่อใด

ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สคร.) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อ้างรายงานของ สำนักข่าว CNBC และรอยเตอร์ว่า ในเดือนมีนาคม 2559 สหรัฐฯขาดดุลการค้าลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมียอดการนำเข้าลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2553 (ต่ำสุดรอบ 5 ปี)สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสินค้าในประเทศที่ลดลง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในไตรมาสแรกของสหรัฐฯ ทั้งนี้แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น และความต้องการของตลาดโลกที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ แต่สัญญาณดังกล่าวก็กำลังอ่อนตัวลงโดย The Institute for Supply Management(ISM) เปิดเผยว่า ตัวเลขด้านการผลิตของสหรัฐฯฯกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2559 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ คาดว่าน่าจะจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าสหรัฐฯในตลาดโลก

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือทีเอ็มบี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะกรอบถึงจุด 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจไม่เห็น เพราะมุมมองของตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

อย่างไรก็ตามยังมองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่ายังมีทิศทางอ่อนค่า แต่เป็นการอ่อนค่าที่ไม่เร็วมากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของสกุลเงินหลัก จากปัจจัยคาดการณ์เดิมที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดถึง 4 ครั้ง ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง จึงมองว่ากรอบบนของค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ 35.5-35.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่กรอบล่างมีทิศทางแข็งค่าแตะระดับ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากนั้นก็เริ่มมีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ กลับเข้ามา ซึ่งเป็นแรงซื้อทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น คาดว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าลงลึกเกินกรอบล่างที่ 34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ปัจจัยที่จะส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมามีทิศทางแข็งค่าได้นั้น จะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.โอกาสที่เฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการปรับขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกันยายนนี้ และ 2.หากราคาน้ำมันมีการปรับราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาไปอยู่ในระดับเกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จะเป็นแรงกดดันให้เงินสกุลเอเชียมีความน่าสนใจ ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลเข้า ซึ่งมีผลต่อค่าเงินให้แข็งค่า อย่างไรก็ดี ธนาคารประเมินราคาน้ำมันเฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อยู่ที่ระดับ 47 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล

"ในระยะสั้นค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า เพราะยังไม่มีปัจจัยที่มีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้น โดยตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงปัจจุบันค่าเงินในภูมิภาคมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ หมด ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ที่แข็งค่าเพราะมีปัจจัยการเลือกตั้ง โดยเงินบาทอ่อนค่า 1.50%

แต่หากนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินในภูมิภาคมีทิศทางแข็งค่า โดยเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าสุดที่ 10.53% รองลงมาริงกิต-มาเลเซีย 6.61% และยูโร 4.49% ส่วนไทยแข็งค่า 1.78% ดังนั้นมองว่าระยะสั้นเงินบาทในอยู่ในเทรนอ่อนค่า"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559