จี้ปตท.เร่งลงทุนแอลเอ็นจี บริหารความเสี่ยงถ่านหินไม่เกิด-ก๊าซเมียนมาหมด

17 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติไว้มากถึง 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ของ Map Ta Phut LNG Terminal 2.โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง (แห่งที่ 2) 3.โครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ (พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา หรือ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง) 4.โครงการ FSRU พื้นที่อ่าวไทยตอนบน 5.โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ (แห่งที่ 3) และ 6.โครงการ FSRU ที่ประเทศเมียนมา ที่มีการคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

หวั่นโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิด

ด้วยเหตุผลการเร่งอนุมัติโครงการดังกล่าวออกมานี้เอง เนื่องจากภาครัฐมีความกังวล ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่ตามกำหนดเดิมจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2562 และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา หน่วยที่ 1 กำลังการผลิต 1 พันเมกะวัตต์ จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564 และหน่วยที่ 2 อีก 1 พันเมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าภายในปี 2567 หากไม่สามารถก่อสร้างได้ก็จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศเนื่องจากขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยังอยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเจรจาแนวทางการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ตัวแทนจากภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงาน กฟผ. และตัวแทนจากรัฐบาล 2) ตัวแทนจากฝ่ายผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) นักวิชาการ และ 3) ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

หากยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ทันภายในปีนี้ การก่อสร้างที่ต้องใช้ระยะเวลา 4 ปี คงไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามกำหนด จึงจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจีในการผลิตไฟฟ้าช่วงรอยต่อไปก่อน เพราะไม่สามารถแบกความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ได้

โยนปตท.แบกรับลงทุน

ดังนั้น ภาระการลงทุน จึงถูกโยนมายัง บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้จัดหาแอลเอ็นจีรายเดียวของประเทศไทย ที่จะต้องเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 มูลค่ารวม 1.1 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้สำหรับลงทุน/ขยายคลังแอลเอ็นจีอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมถึงคลังแอลเอ็นจีในรูปแบบ FSRU ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน เพื่อป้อนแอลเอ็นจีให้กับโรงฟ้าพระนครใต้ทดแทน ขนาด 2.6-2.8 เมกะวัตต์ ในอนาคต โดยตามกำหนดจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2563 และปี 2565 ตามลำดับ มีความต้องการใช้แอลเอ็นจีอยู่ที่ 3 ล้านตันต่อปี

นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับนโยบายมาจากภาครัฐ ได้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าแอลเอ็นจีที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตว่า ความต้องการใช้แอลเอ็นจีในปี 2562 มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นไปกว่า10 ล้านตัน จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีการนำเข้า 3 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) ที่เพิ่มมากขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะที่ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยและเมียนมามีแนวโน้มลดลง

โดยปัจจุบันคลังแอลเอ็นจีเฟส 1 ของ ปตท. ขนาด 5 ล้านตัน และอยู่ระหว่างการขยายในเฟส 1 อีก 5 ล้านตัน รวมเป็น 10 ล้านตันต่อปี แต่มติ กบง. เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ให้ขยายเพิ่มอีก 1.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่คลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ขนาด 5-7.5 ล้านตันต่อปี จะแล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งการกำหนดปริมาณที่ชัดเจนนั้นยังขึ้นอยู่กับข้อสรุปในการบริหารสัมปทานแหล่งสัมปทานบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนคลังแอลเอ็นจี FSRU อีก 2 แห่งในพื้นที่ภาคใต้ และเมียนมาด้วย

ตลาดแอลเอ็นจีเป็นของผู้ซื้อ

สำหรับตลาดแอลเอ็นจีในปัจจุบัน นับว่าเป็นตลาดของผู้ซื้อหลังปริมาณแอลเอ็นจีในตลาดโลกยังมีอยู่มากกว่าการเติบโตของความต้องการใช้ ขณะที่ราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ล่าสุดอยู่ที่ 5-6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู จากเดิมที่เคยอยู่ระดับ 15-20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ทำให้ในระยะสั้น ปตท.มีการนำเข้าแอลเอ็นจีจากตลาดจรเพิ่มขึ้น และนำเข้าแอลเอ็นจีตามสัญญาระยะยาวไม่มากนัก แต่ใน 3-5 ปี เห็นว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีที่เหมาะสมควรมีสัดส่วนการนำเข้าตามสัญญาระยะยาวที่สัดส่วน 60-70% และตลาดจร 30%

โดยปัจจุบัน ปตท.มีสัญญานำเข้าระยะยาวจากกาตาร์ 2 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างการทำร่างสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวจาก Shell Eastern Trading (PTE) LTD และ บริษัท BP Singapore PTE. Limited ในปริมาณรายละ 1 ล้านตันต่อปี รวม 2 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มนำเข้าได้ในต้นปี 2560 และนำเข้าแอลเอ็นจี 2.6 ล้านตันต่อปี จากแหล่งโมซัมบิก ที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอร่วมทุนในแหล่งผลิตและนำเข้าแอลเอ็นจีจากปิโตรนาสของมาเลเซียด้วย

แต่หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน หรือการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไม่เป็นไปตามแผน เชื่อว่าความต้องการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าจะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะมากกว่าแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2015) ทำให้คาดว่าความต้องการใช้แอลเอ็นจีจะเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมอยู่ที่ 22 ล้านตันต่อปีในปี 2579

เร่งจัดหารองรับก๊าซเมียนมาหมด

ขณะที่ฟากกระทรวงพลังงาน นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.)ในฐานะผู้ดูแลแผนก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan) ก็มีความกังวลหากโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกเลื่อนออกจากแผน โดยเฉพาะหากเกิดกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2 กำลังการผลิตรวม 2 พันเมกะวัตต์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน และหากภาครัฐมีคำสั่งให้เปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน ก็จำเป็นต้องจัดหาแอลเอ็นจีเข้ามาทดแทน

สำหรับแผนนำเข้าแอลเอ็นจี (กรณีฐาน ซึ่งหมายถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าระบบตามกำหนด แผนประหยัดพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าตามกำหนด และสามารถบริหารจัดการแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุได้ตามแผน) โดยในปี 2559 จะนำเข้าแอลเอ็นจี 4.5 ล้านตัน ปี 2560 นำเข้า 7.6 ล้านตัน ปี 2561 นำเข้า 9 ล้านตัน ปี 2562 นำเข้า 8.6 ล้านตัน ปี 2563 นำเข้า 6.6 ล้านตัน ปี 2564 นำเข้า 6.7 ล้านตัน ปี 2565 นำเข้า 9 ล้านตัน ปี2566 นำเข้า 10.3 ล้านตัน จากนั้นจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2579 ตัวเลขนำเข้าแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 22 ล้านตัน

โดยตามแผนจัดหาและการใช้ก๊าซ คาดว่าแหล่งก๊าซเยตากุนในเมียนมา จะหมดในปี2565 และแหล่งยาดานา จะหมดปี 2567 ขณะที่แหล่งซอติกา จะหมดปี 2571-2572 ดังนั้นทาง ปตท.จึงมีแผนก่อสร้างคลังแอลเอ็นจี ขนาด 3 ล้านตันที่เมียนมา เพื่อป้อนแอลเอ็นจีมายังโรงไฟฟ้าในประเทศไทย-การใช้ก๊าซพุ่งต่อเนื่อง

สำหรับที่ประชุม กบง. ที่มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบปรับแผนการลงทุนคลังแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดล่าช้ากว่าแผน รวมทั้งก๊าซจากเมียนมาและแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) จะมีประมาณลดลงในอนาคต ดังนั้นกระทรวงพลังงานจะต้องปรับเพิ่มความต้องการใช้ก๊าซเพิ่มจาก 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 5,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดังนั้นจึงมีมติให้ขยายคลังแอลเอ็นจีระยะที่ 1 เพิ่มจาก 10 ล้านตัน เป็น 11.5 ล้านตันต่อปี จะเสร็จในปี 2562 ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท และคลังแอลเอ็นจีระยะที่ 2 ขนาด 5-7.5 ล้านตัน โดยการขยายคลังแอลเอ็นจีทั้ง 2ส่วนดังกล่าว จะต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในเดือนพฤษภาคมนี้ต่อไป

แม้ว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับแอลเอ็นจีที่จะเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เลื่อนออกไป ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่สะดุด แต่ด้วยราคาแอลเอ็นจีที่สูงกว่าถ่านหิน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าในประเทศสูงขึ้นตามด้วย ซึ่งนอกจากเกิดความเสี่ยงด้านต้นทุนแล้ว ยังต้องรับความเสี่ยงกับการจัดหาที่พึ่งพาก๊าซมากเกินไปด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559