‘สมคิด’ขับไฮสปีด-รถไฟฟ้าดันศก. สคร.ชี้PPP ช่วยลดหนี้สู่จุดสมดุล

17 พ.ค. 2559 | 09:00 น.
"สมคิด" มั่นใจหลัง ครม. ไฟเขียวเดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยาย รวมกับเดินรถ 1 สถานีช่วงเตาปูน-บางซื่อ ช่วยหาเอกชนร่วมทุนได้เร็วขึ้น ชี้งบลงทุนติดตั้งระบบ 8.4 หมื่นล้านช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านสคร. ชี้ PPP ส่งผลดีหนุนเอกชนร่วมลงทุนร่วมภาครัฐ ตามแผนลดหนี้สาธารณะภายใน 5-7 ปีสู่จุดสมดุล พร้อมสั่งการบ้านตั้งคณะกรรมการร่วม ม.35 หาแนวทางเปิดประมูลรายเดิม-หารายใหม่-การรถบัสรับส่งระหว่างสถานี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ นโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ว่า หลังจากประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา มีมติให้นำงานเดินรถ 1 สถานี ช่วง เตาปูน-บางซื่อ (จุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง) รวมกับการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ให้กลายเป็นสัญญาเดียวกัน เพื่อให้สามารถสรรหาผู้เดินรถให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ไม่ต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปให้ได้ภายใน 3 ปี

นอกจากนี้ยังเห็นชอบในหลักการของการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอีกด้วย ซึ่ง ครม.มองว่า หากมองตามข้อเสนอของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่กำหนดให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) ที่จะนำมาใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น จะเน้นให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ แบบ PPP Net Cost

"โครงการไหนที่เอกชนมองว่าคุ้มทุน เอกชนก็จะเข้ามารับช่วงซึ่งเรามองว่าการที่เปิดให้เอกชนเข้ามารับความเสี่ยงจากค่าโดยสารในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการ ระยะเวลา 30 ปี จะทำให้รัฐไม่มีภาระเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาร่วมในการลงทุนกับภาครัฐ โดยจะเปิดให้เริ่มลงทุนติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงเตาปูน-บางซื่อวงเงินลงทุนรวมของโครงการ 8.4 หมื่นล้านบาท ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการลงทุนเพราะจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้ไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี"

ขณะเดียวกันนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยเฉพาะ 4 โครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track (เสนอโดยกระทรวงคมนาคม) คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย - มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว - สำโรง) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ) ตามกำหนดระยะเวลาของ PPP Fast Track และโครงการ Motorway สายบางปะอิน - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ซึ่งกรมทางหลวงคาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับสายสีน้ำเงินต่อขยาย เมื่อเรียบร้อยจะทำให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจ เพราะเป็นเส้นที่เป็นแกนหลัก ซึ่งเมื่อเดินต่อไปได้ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจอย่างสูง นายอภิศักดิ์กล่าว

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า มติ ครม. เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการให้ยกเลิกให้สายสีม่วงเดินรถช่วง 1 กิโลเมตร (เตาปูน-บางซื่อ) แล้วให้รวมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายแทน ซึ่งคณะกรรมการ PPP ก็เห็นควรให้เอกชนมาร่วมลงทุนส่วนต่อขยายนี้ตามที่ รฟม. และกระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้เป็นการเดินรถแบบต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุด

"จุดที่น่าสนใจ คือภาครัฐไม่มีภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการสนับสนุนภาระทางการเงินและการลงทุนของภาคเอกชน เพราะตามแผนเดิมที่ยังไม่มี PPP Fasttract นั้น จะต้องให้ สบน.ทำการกู้เงินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงขออนุมัติงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ซึ่งอาจไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้นการเข้าสู่ระบบ PPP Fasttract จะลดการก่อหนี้ โดยเฉพาะการกู้ที่สำคัญลดโอกาสที่รัฐต้องมาอุ้มภาระด้านดอกเบี้ย ที่สำคัญ คือจะเป็นการลดหนี้สาธารณะของรัฐในอนาคต ตามแผนที่จะกลับเข้าสู่จุดสมดุล ภายใน 5-7 ปี"

ทั้งนี้ให้เอกชนดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงเตาปูน - บางซื่อ ให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มเดินรถเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งจุดนี้จะมีความสัมพันธ์กับการเดินรถสายสีม่วงที่จะเปิดให้บริการสิงหาคม 2559 นี้ โดยทางคณะกรรมการ PPP ก็มีความเป็นห่วง แต่ก็ได้รับการยืนยันจาก รฟม. ว่าจะดำเนินการภายใน 15 เดือน ดังนั้นก็ต้องมีระยะเวลาให้ รฟม. เตรียมเรื่องการเชื่อมต่อ เพราะในช่วง 15 เดือนนี้ ต้องใช้เวลาในการหาเอกชนมาร่วมลงทุน นายเอกนิติกล่าว

นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้ รฟม. รับข้อสังเกตต่างๆ ไปดำเนินการตามกฎหมายได้เลย เช่น การตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ในการร่างทีโออาร์ คัดเลือกเอกชนโดยจะต้องหารือพร้อมกับคณะกรรมการตามมาตรา 43 คือคนที่กำกับดูแลสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน สายเฉลิมรัชมงคลที่ต้องเชื่อมต่อกันโดยต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ทางคณะกรรมการตามมาตรา 35 จะไปตัดสินใจว่า จะมีการเปิดประมูล หรือเจรจากับรายเดิมต่อไป ดังนั้นทางรฟม.จะต้องเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35ประกอบด้วยกรรมการร่วม 9 คน จากหน่วยงานต่างๆ คือ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ และ สคร. เพื่อผลักดันโครงการตัวรถรับส่งระหว่างสถานีให้ได้ภาย 15 เดือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559