‘บัวหลวง’หวัง 3แบงก์ร่วมถือหุ้น‘ไทยเพย์เมนต์’

17 พ.ค. 2559 | 12:00 น.
บัวหลวงเผย 3เดือนรู้ผลเจรจาผู้ถือหุ้น "ไทย เพย์เมนต์"พร้อมเดินหน้าขยายฐานสมาชิกแบงก์-นอนแบงก์ดันออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หลังส่ง "บีเฟิร์ส สมาร์ท ทีพีเอ็น ยูเนียนเพย์"ตั้งเป้า โต 2ล้านใบต่อปีชูค่าธรรมเนียมต่ำ 0.75% ต่อรายการ

หลังจากธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)(บมจ.)ร่วมกับยูเนียนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยเข้าถือหุ้นสัดส่วน 49.99%ในบริษัท ไทยเพย์เมนต์ เน็ตเวิร์กฯ หรือทีพีเอ็นทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาทวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบเครือข่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยหรือ Local Card Scheme ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดกำหนดนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตของไทยจากแถบแม่เหล็กให้เป็นชิปการ์ดตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 และเสร็จสิ้นสมบูรณ์ครบทั่วประเทศภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 นั้น

ต่อเรื่องนี้นายโชค ณ ระนอง ประธานบริษัททีพีเอ็น และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต บมจ.ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อตกลงกับ 3ธนาคารที่แสดงความสนใจจะเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนในทีพีเอ็นว่า เบื้องต้น การเจรจากับ 3ธนาคารคือ บมจ.ธนาคารกรุงไทย บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์และบมจ.ธนาคารกสิกรไทยนั้น มีความคืบหน้าค่อนข้างมากแล้วโดยคาดว่าจากนี้ไปไม่น่าจะเกิน 3 เดือนจะมีข้อสรุปชัดเจน ส่วนแนวทางดำเนินงานของทีพีเอ็นภายหลังการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 3 ธนาคารดังกล่าวแล้ว(ยังไม่ระบุทุนจดทะเบียนใหม่)ลำดับต่อไปจะมุ่งเน้นการทำตลาดโดยขยายฐานสมาชิกทั้งธนาคาร สถาบันการเงินและนอนแบงก์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทาบทามนอนแบงก์ ส่วนสมาชิกที่เป็นธนาคารมีเข้ามาแล้ว 3-4 แห่ง

" โครงสร้างผู้ถือหุ้นมี 4 แบงก์ใหญ่ก็เพียงพอแล้วสำหรับการสร้างNetwork ซึ่งการทำตลาดของทีพีเอ็นคือ ขยายฐานสมาชิกไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือนอนแบงก์ ซึ่งจะเป็นสมาชิกผู้ออกบัตรในรูปแบบอื่นที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ทีพีเอ็น แม้กระทั่งการCo-Brand ก็สามารถทำได้ ด้วยการที่ทีพีเอ็นเป็น Local Card Schemeรายแรกและรายเดียวของไทยในปัจจุบัน"

ที่สำคัญเพื่อดึงดูดทั้งแบงก์และร้านค้ารับชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตให้กว้างขวางเพิ่มมากขึ้น ด้วยต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ต่ำเพียง 0.75%ต่อรายการเท่านั้น อีกทั้งในการเคลียร์บัญชีกับร้านค้าสมาชิกนั้นสามารถทำได้ภายใน 24 ชั่วโมง ดังนั้นด้วยต้นทุนที่ปรับลดลงน่าจะจูงใจร้านค้าทั้งรายเล็กและรายใหญ่ยินดีรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่ที่ผ่านมาปัญหาร้านค้าไม่ยินดีรับชำระผ่านบัตรเดบิต เพราะคิดค่าธรรมเนียมเช่นบัตรเครดิตประมาณ 1.5-2.5% ต่อรายการ

ด้านนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีบัตรเดบิตชิปการ์ดจำนวน 6 ล้านใบแล้ว จากบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่มีอยู่จำนวน 16 ล้านใบ โดยที่เหลืออีก 10ล้านใบยังเป็นบัตรแถบแม่เหล็กนั้นทางลูกค้าผู้ถือบัตรสามารถทยอยเปลี่ยนเป็นบัตรชิพ ซึ่งกรณีที่ลูกค้าทยอยเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ด 6 ล้านใบแล้วนั้น เป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นแม้เบื้องต้นจะกำหนดให้สามารถใช้เฉพาะเครื่องหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพที่มีอยู่ 9,500 ตู้และจะสามารถใช้ตู้ของธนาคารอื่นได้โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 16 พฤษภาคม ธปท.กำหนดให้ตู้เอทีเอ็ม 86%สามารถรองรับชิปการ์ดและครบ100%ภายในสิ้นปี2559 นี้

ล่าสุด ธนาคารได้ร่วมกับทีพีเอ็น บริษัท ไชน่ายูเนี่ยนเพย์ จำกัด ออกบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น ยูเนี่ยนเพย์ (Be 1st Smart TPN UnionPay) ซึ่งเป็นบัตรใบแรกของประเทศไทย ที่ออกบนเครือข่ายระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศโดยตั้งเป้าขยายฐานบัตรเดบิตอัจฉริยะดังกล่าว 2ล้านใบต่อปีและคาดหวังให้เกิดการใช้จ่ายผ่ายบัตร ทั้งนี้ บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น ยูเนี่ยนเพย์ กำหนดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท และค่าธรรมเนียมรายปีอยู่ที่ 300 บาทแต่ขณะนี้เป็นช่วงโปรโมชันในราคา 200 บาทจนถึงเดือนมิถุนายน 2559

นาย เก๋อ หัวหย่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไชน่า ยูเนี่ยนเพย์ จำกัด (ซึ่งวางกลยุทธ์ตลาดต่างประเทศตั้งแต่ปี 2504 จนมีเครือข่าย 157ประเทศทั่วโลก) เปิดเผยว่า บัตรเดบิตที่เพิ่งเปิดตัวโดยธนาคารกรุงเทพนั้น เป็นทางเลือกในการชำระเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางธุรกิจของยูเนี่ยนเพย์ และเป็นส่วนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินรูปแบบของประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ เพื่อตอบรับนโยบายของทีพีเอ็นก้าวไปข้างหน้าและเปิดตัวบัตรเดบิตของยูเนี่ยนเพย์ในการชำระเงินรูปแบบใหม่ในประเทศไทย ในอนาคต ยูเนี่ยนเพย์ยังคงเดินหน้า เพื่อสนับสนุน นโยบาย "One Road, One Belt" ซึ่งเป็นการส่งเสริมโครงสร้างในการพัฒนาธุรกิจในตลาดระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุน แลกเปลี่ยนและการร่วมมือในระดับทวิภาคี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559