กรมวิชาการเกษตรแนะมะม่วงใกล้เก็บเกี่ยวเฝ้าระวังโรคและแมลงศัตรู

13 พ.ค. 2559 | 04:59 น.
ระยะนี้เข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังช่วงที่ร้อนจัด สลับฝนตก และลมกระโชกแรง ในระยะมะม่วงผลใหญ่ใกล้เก็บเกี่ยว ให้สังเกตการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ มักพบแมลงวันผลไม้วางไข่ในผลมะม่วง พบรอยช้ำใต้ผิวเปลือก หนอนจะฟักจากไข่และอาศัยชอนไชอยู่ในผล เมื่อหนอนโตขึ้นจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน และเป็นแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัย ส่วนผลที่หนอนเจาะเป็นรูจะมีน้ำไหลเยิ้ม ผลเละ เน่าเสีย และร่วงหล่น ผลที่ถูกทำลายมักมีโรคและแมลงชนิดอื่นๆ เข้าทำลายซ้ำ

เกษตรกรควรหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เก็บผลที่เน่าเสียออกจากแปลงไปทำลายนอกแปลงปลูก ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาลหรือถุงกระดาษที่ภายในเคลือบด้วยกระดาษคาร์บอน เมื่อมะม่วงเริ่มติดผล 60 วัน และใช้กับดักที่ภายในแขวนก้อนสำลีชุบสารเมทธิลยูจินอลผสมสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 57% อีซี ในอัตรา 4 :1 นำไปแขวนไว้ในทรงพุ่มที่ระดับความสูง 1-1.5 เมตร จำนวน 1 กับดักต่อพื้นที่ 1 ไร่ ให้สังเกตปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นตัวชี้วัดปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก

หากระบาดมาก ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 57% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และพ่นด้วยเหยื่อพิษที่ประกอบด้วยยีสต์โปรตีน อัตรา 200 มิลลิลิตรผสมกับสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 57% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรในน้ำ 5 ลิตร โดยพ่นในเวลาเช้าตรู่ก่อนเริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน พ่นแบบเป็นจุด ต้นละ 1-4 จุด ทุก 7 วัน

ส่วน โรคแอนแทรคโนส ใบอ่อน เกิดแผลสีน้ำตาลขนาดไม่แน่นอน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม เมื่อแผลขยายติดกันจะมีอาการไหม้ บิดเบี้ยว ต้นอ่อน กิ่งอ่อน ก้านช่อดอก พบจุดแผลหรือขีดขนาดเล็กสีน้ำตาลแดงประปรายขยายออกตามความยาว แผลบนต้นหรือกิ่งที่อ่อนมากๆ จะลุกลามจนกิ่งแห้ง เน่าดำทั้งต้น บนก้านช่อดอกจุดแผลขยายเชื่อมติดกัน ก้านช่อดำ กลีบดอกและผลอ่อนที่ถูกทำลายเป็นสีดำ และหลุดร่วง ผลแก่และผลสุกหลังเก็บเกี่ยว เกิดจุดแผลสีน้ำตาลดำ แผลขนาดไม่แน่นอนยุบตัวลึกลงไปในเนื้อผล ลุกลามรวดเร็ว บริเวณกลางแผลอาจพบเมือกสีส้มได้

สำหรับในแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคแอนแทรคโนสเป็นประจำ ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแคปแทน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สลับกับสารอะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้พ่นเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ช่วงมะม่วงแทงยอดอ่อน เริ่มออกดอก หลังติดผลใหม่ๆ จนถึงระยะห่อผล และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้มีขนาดเหมาะสมกับระยะปลูก เพื่อลดความชื้น อากาศถ่ายเทสะดวก แดดส่องถึง และหมั่นทำความสะอาดกำจัดวัชพืชโคนต้น เก็บกวาดกิ่ง ใบ ผลที่เป็นโรคใต้ต้นออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ