ดิสนีย์ปิดฉากวิดีโอเกม‘อินฟินิตี’ ปรับแผนเน้นขายลิขสิทธิ์ตัวละคร

15 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
วอลท์ ดิสนีย์ ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นผู้พัฒนาวิดีโอเกม ด้วยการยุติการผลิตวิดีโอเกม "อินฟินิตี" โดยให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาดทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีความเสี่ยงมากเกินไป

บ็อบ ไอเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของวอลท์ ดิสนีย์ กล่าวกับนักลงทุนในระหว่างการรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ผ่านมาว่า ดิสนีย์ได้ถอนตัวออกจากธุรกิจการผลิตวิดีโอเกมอินฟินิตี (Infinity) ซึ่งเป็นวิดีโอเกมที่ผสมผสานหุ่นตุ๊กตาเข้ากับซอฟต์แวร์เกม โดยจำเป็นต้องมีการจ่ายเงินชดเชยในส่วนดังกล่าวเป็นมูลค่า 147 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งเลิกจ้างพนักงานประมาณ 300 คนที่ทำงานอยู่ในบริษัท แอวาแลนช์ ซอฟต์แวร์ฯ สตูดิโอเกมที่ดิสนีย์ซื้อกิจการมาเมื่อปี 2548

ไอเกอร์กล่าวว่า ธุรกิจดังกล่าวเริ่มเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าจะช่วยสร้างกำไรให้กับธุรกิจอินเตอร์แอกทีฟของดิสนีย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทประเมินแล้วว่า จะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าด้วยการขายลิขสิทธิ์ตัวละครไปให้กับบริษัทซอฟต์แวร์เกมอื่นๆ แทนที่จะพัฒนาวิดีโอเกมขึ้นด้วยตัวเอง

"ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และเราไม่มีความมั่นใจพอว่าจะอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ" ไอเกอร์กล่าว

ดิสนีย์เปิดตัวเกม อินฟินิตี เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2556 หลังจากมีกระแสความนิยมเกมในรูปแบบที่เรียกว่า "ทอยทูไลฟ์" (toy to life) เกิดขึ้นจากเกม สกายแลนเดอร์ส (Skylanders) ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท แอคทิวิชัน บลิซซาร์ดฯ โดยผู้เล่นจะต้องนำหุ่นตุ๊กตาตัวละครต่างๆ ไปวางบนแท่นเพื่อเริ่มเล่นเกม

เมื่อครั้งที่ดิสนีย์นำอินฟินิตีออกวางตลาดในเดือนสิงหาคม 2556 เกมดังกล่าวช่วยให้ธุรกิจอินเตอร์แอกทีฟฟื้นกลับมาทำกำไรได้ 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 หลังจากขาดทุนมาหลายปี อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตและจัดจำหน่ายในระดับสูง เช่นเดียวกับความเสี่ยงที่สินค้าจะคงค้างอยู่ในสต๊อกที่สูง ทำให้ดิสนีย์ตัดสินใจยุติธุรกิจดังกล่าว

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจเกมอินฟินิตีของดิสนีย์ น่าจะเป็นผลดีกับคู่แข่งอย่าง แอคทิวิชัน บลิซซาร์ด และวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ที่จะไม่ต้องแข่งขันกับแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งในธุรกิจเกมทอยทูไลฟ์ต่อไป
บริษัทวิจัย เอ็นพีดี กรุ๊ป กล่าวว่า รายได้ของธุรกิจเกมประเภททอยทูไลฟ์ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 7% ในตลาดสหรัฐอเมริกา เป็น 720.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นมีปัจจัยมาจากยอดขายหุ่นตุ๊กตา ขณะที่ยอดขายซอฟต์แวร์ลดลง 4% แสดงให้เห็นว่าผู้เล่นสนใจซื้อซอฟต์แวร์เกมเวอร์ชันใหม่น้อยกว่าตุ๊กตาของเล่น

ไมเคิล แพชเตอร์ นักวิเคราะห์จากเว็ดบุช ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า ในเวลานี้ตลาดวิดีโอเกมทอยทูไลฟ์เริ่มอิ่มตัว โดยในขณะที่ตลาดโดยรวมไม่มีการเติบโตขึ้น แต่ก็ไม่ได้หดตัวลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ดังนั้นการถอนตัวของดิสนีย์ออกจากตลาดแห่งนี้ จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้เล่นที่เหลือได้อีกมาก

ทั้งนี้ ในตลาดทอยทูไลฟ์ นอกจากเกมสกายแลนเดอร์สที่แอคทิวิชันนำออกวางตลาดในปี 2554 และอินฟินิตีของวอลท์ดิสนีย์แล้ว ยังมีเกม อามีโบ (Amiibo) จากนินเทนโด ที่พัฒนาจากตัวละครในเกมชื่อดัง อาทิ มาริโอ และโปเกมอน รวมถึงเกม เลโก ไดเมนชันส์ (Lego Dimensions) ที่วอร์เนอร์นำออกวางตลาดเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีก่อน

จอน อีเรนเซ่น ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจเกมทอยทูไลฟ์เป็นเพียงปัญหาเฉพาะตัวของดิสนีย์ หรือมีโอกาสที่บริษัทอื่นๆ จะมีปัญหาตามมาถ้ายอดขายชะลอตัว อย่างไรก็ดี ทั้งแอคทิวิชัน และวอร์เนอร์ กล่าวว่า ยังคงมีแผนที่จะขยายธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ด้วยการนำเกมเวอร์ชันใหม่ออกวางตลาด

ทั้งนี้ ดิสนีย์จะวางจำหน่ายเกม 2 เกมสุดท้ายสำหรับอินฟินิตี ซึ่งรวมถึงหุ่นตัวละครใหม่จากเกม Alice Through the Looking Glass ในเดือนพฤษภาคม และ Finding Dory Play Set ในเดือนมิถุนายน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559