ม.หอการค้าไทยคาดการณ์จีดีพี ปี 59 ขยายตัว 3%  

12 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
ม.หอการค้าไทย ชี้ภัยแล้ง- ส่งออกยังไม่ฟื้น  ส่งผลเศรษฐกิจทำเงินหายไปจากระบบ 5 แสนล้านบาท คาดการณ์จีดีพี  2559 ขยายตัว 3%  ภายใต้โจทย์รัฐระดมลงทุนตามแผน เศรษฐกิจโลกโตไม่ต่ำกว่า 2.5%  และแผนแก้ปมหนี้ครัวเรือนประสบความสำเร็จ  ประเมินส่งออกไทยทั้งปีติดลบ0.2-1.8%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ถึงรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำไตรมาสที่ 1/2559 และประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2559-2560 ว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559 มีโอกาสขยายตัวประมาณ 2.5-3.5%  โดยมีค่าเฉลี่ยที่  3%   ซึ่งเป็นการปรับลดคาดการณ์ลงจากเดิมที่จะขยายตัว 3-3.5%  ขณะที่การส่งออกทั้งปี มีโอกาสติดลบ 0.2-1.8%  โดยมีค่าเฉลี่ยเติบโตเพียง 0.8%  มูลค่า 2.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับลดคาดการณ์ลงจากเดิมที่จะขยายตัวที่ 3%  มูลค่า 2.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ   การนำเข้าขยายตัว 0.7%  มูลค่า 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลการค้าเกินดุล 4.77 หมื่นล้านบาท  ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ ขยายตัว 0.4%

นอกจากนี้ คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อยู่ที่ 3.2%  โดยเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2%  สหภาพยุโรป ขยายตัว 1.5%  ญี่ปุ่นขยายตัว 0.3%  จีน ขยายตัว 6.5%  การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 20%  อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 1.5%  อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ 0.54%  ราคาน้ำมันดิบดูไบ 39.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 34.99บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 32.87 ล้านคน จากปี 2558 ที่ผ่านมาที่มีจำนวน 29.89 ล้านคน

ส่วน ภาคการเกษตรยังคงติดลบ 3.2%  ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 2.5%  การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 1.6%  การลงทุนของภาคเอกชน ขยายตัว 4.3%  ภาคบริการ (สาขาโรงแรมและภัตราคาร) ขยายตัว 13%    ทั้งนี้สาเหตุที่ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลง จากเดิมที่ 3.5% มาอยู่ที่ 3%  เนื่องจากปัจจัยลบหลายด้าน  เช่น  ปัญหาภัยแล้งที่ยาวนาน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำส่งผลให้กำลังซื้อภาคเกษตรลดลง และสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนสูงซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อประชาชนทั่วไปเช่นกันทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไป 1.2 แสนล้านบาท ,การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจนทำให้เม็ดเงินจากภาคการส่งออกหายไป 4 แสนล้านบาท

แต่ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีผลต่อการบริโภค ทำให้มีเม็ดเงินในหมุนเวียนในระบบรวม 1 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวม 3 แสนล้านบาท เมื่อหักลบกันแล้วจะมีเม็ดเงินหายไปจากเศรษฐกิจเพียง 1 แสนล้านบาทหรือทำให้จีพีดีลดลง 0.5

“คาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นช่วงปลายไตรมาส 3และ 4 จากปัจจัยภัยแล้งสิ้นสุดช่วงปลายไตรมาส 2 หรือเร็วที่สุดช่วงมิ.ย. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาดีขึ้นช่วงไตรมาส 3 และราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ที่ปัจจุบันเฉลี่ยที่กก.ละ 60 บาท จะทำให้การใช้จ่ายภายเกษตรดีขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันที่คาดว่าจะแตะระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงปลายปี  แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 3% ต้องขึ้นอยู่กับการลงทุนภาครัฐต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20%  จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10%   โดยคาดการณ์ว่าครึ่งปีแรก จีดีพีจะขยายตัว 2.8%  และครึ่งปีหลังขยายตัว 3.3%  ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2560 จะขยายตัว3.4%  การส่งออกขยายตัว 3.1%   แต่ภาคการเกษตรยังติดลบที่ 0.3% จากปัจจัยราคาพืชผลทรงตัวต่ำ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 3.2%  เงินเฟ้อ ขยายตัว 1.2%”นายธนวรรธน์ กล่าว

ด้าน นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปี 2559 กรณีเศรษฐกิจไทยเลวร้ายที่สุด จะทำให้จีดีพีขยายตัวเพียง 2.3%  ซึ่งโอกาสความเป็นไปได้เพียง 15%  หากเศรษฐกิจโลกแย่กว่าที่คาดการณ์หรือขยายตัวลดลง 0.5% จาก 3.2%  การลงทุนภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้เพียง 10%  และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 2 ครั้งในรอบปี 2559

ส่วนกรณีดีที่สุด จีดีพีมีโอกาสขยายตัว 3.4%  มีโอกาสเป็นไปได้ 20%  หากการลงทุนภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 30%  และเฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี ส่วนโอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุดคือจีดีพีขยายตัว 3% มีความเป็นไปได้ 65%   แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการลงทุนภาครัฐถ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 10% ก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวเพียง 2.7%  เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกรอบคาดการณ์จีดีพีที่ 2.5-3.5%