“อภิรดี”สั่งการรับมือสินค้าเกษตรราคาพุ่ง

12 พ.ค. 2559 | 10:37 น.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่จำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน ทั้งผักสด เนื้อสุกร ไก่ และไข่ไก่อย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้หลายรายการมีปัญหาผลผลิตขาดแคลนและราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง โดยขอให้มีการลงพื้นที่ไปสำรวจแหล่งผลิต แหล่งเลี้ยง เพื่อตรวจสอบดูว่าแนวโน้มผลผลิตเป็นอย่างไร มีปัญหาการขาดแคลนหรือไม่ เพื่อที่จะได้เตรียมการรับมือได้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า ผลผลิตพืชผัก ได้แก่ ผักคะน้า ผักบุ้งจีน ผักกาดหอม ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง และมะนาว ราคาขายส่งและขายปลีกปรับตัวสูงขึ้นจริง เพราะภัยแล้งมีผลต่อการเพาะปลูกโดยรวมโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง เช่น นนทบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคร กาญจนบุรี และเพชรบุรี ซึ่งยังมีแหล่งน้ำที่สามารถเพาะปลูกได้ จะเป็นแหล่งป้อนผักเข้าสู่ตลาด แต่ก็ยังมีแนวโน้มปริมาณผลผลิตลดลงและผักเติบโตช้า แต่คาดว่า ในช่วงปลายเดือนพ.ค.2559 เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกมากขึ้น ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้นและระดับราคาจะปรับลดลง

สำหรับราคาผักสดปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เช่น ผักคะน้า ขายปลีก ราคา 36.50 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 77.18% ผักกาดขาวปลี ขายปลีก ราคา 26.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 32.97% ถั่วฝักยาว ขายปลีก ราคา 91 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 129.97% ผักกวางตุ้ง ขายปลีก ราคา 36.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 128.84% มะนาวแป้น ขายปลีก ราคา 8.00 บาท/ลูก เพิ่มขึ้น 94.65%

ส่วนเนื้อสุกร ราคาเพิ่มขึ้นจากช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ย กก.ละ 17.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 12.9% เนื่องจากอากาศร้อน ลูกสุกรโตช้า และต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำและอาหารสัตว์ เนื้อไก่ ราคาต่ำกว่าช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ย กก.ละ 2.50 บาท หรือลดลง 3.5% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 เฉลี่ย กก.ละ 5 บาท หรือลดลง 6.9% เนื่องจากมีการเลี้ยงเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเปิดตลาดเนื้อไก่สดของญี่ปุ่นและเกาหลี และไข่ไก่ ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนแรกของปี เฉลี่ยฟองละ 10 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 3.1% เนื่องจากผลผลิตในระบบลดลง แต่คาดว่าราคาจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อย หลังจากเปิดเทอมตั้งแต่เดือนพ.ค.2559 เป็นต้นไป

นางอภิรดีกล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหา ได้สั่งการให้ดำเนินมาตรการเชื่อมโยงผลผลิต จากแหล่งผลิตไปจำหน่ายยังแหล่งที่ขาดแคลน โดยจัดการเชื่อมโยงตลาด จัดสถานที่จำหน่ายผักสดและแปรรูปราคาถูกจากแหล่งผลิต ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง สู่ผู้บริโภคโดยตรง การประสานห้างค้าปลีกและตลาดสด ให้เป็นแหล่งจำหน่าย และยังได้นำไปจำหน่ายในงานธงฟ้า ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจัดจำหน่ายในศูนย์กระจายสินค้า (Farm Outlet) ในจังหวัดต่างๆ

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้มีการตรวจกำกับดูแลร้านค้าต่างๆ ให้มีการปิดป้าย แสดงราคาสินค้า และไม่ถือโอกาสฉกฉวยขึ้นราคา รวมทั้งตรวจสอบเครื่องชั่งตวง วัด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคโดนเอาเปรียบ และให้มีการดูแลเรื่องร้องเรียนที่มีการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 อย่างใกล้ชิด