ค่าครองชีพที่สูงยังวิ่งสวนทางกับกำลังซื้อ...ดึงความเชื่อมั่นครัวเรือนลงต่อในเดือนเม.ย. 2559

12 พ.ค. 2559 | 08:40 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทความเรื่อง “ค่าครองชีพที่สูงยังวิ่งสวนทางกับกำลังซื้อ...ดึงความเชื่อมั่นครัวเรือนลงต่อในเดือนเม.ย. 2559”

ค่าครองชีพของครัวเรือนวิ่งสูงขึ้นตามทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เริ่มเร่งขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าในหมวดอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง แต่ยังคงสวนทางกับกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ ซึ่งตอกย้ำว่า ครัวเรือนในหลายๆ ระดับ อาจกำลังรับมือกับภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ขยับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ ผลสำรวจภาวะการครองชีพล่าสุดสะท้อนว่า บรรยากาศความเชื่อมั่นของครัวเรือนยังคงลดต่ำลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือนที่ระดับ 42.7 ในเดือนเม.ย. 2559 ขณะที่ ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ลดต่ำลงมาที่ 44.5 จาก 45.0 ในเดือนก่อน

ครัวเรือนส่วนใหญ่ในผลสำรวจฯ มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นต่อภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเดือนเม.ย. 2559 ซึ่งนอกจากจะเป็นเดือนที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น และช่วงที่มีกิจกรรมสังสรรค์และท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์แล้ว ยังเป็นเดือนที่รายจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟของหลายครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพอากาศในช่วงฤดูร้อน ประกอบกับบางครัวเรือนต้องเตรียมวางแผนทางการเงินล่วงหน้าสำหรับค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะตามมาสำหรับบุตรหลานในช่วงเปิดภาคการศึกษาในเดือนพ.ค.

แม้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น จะเป็นค่าใช้จ่ายที่มักจะเกิดขึ้นอยู่แล้วในเดือนเม.ย. แทบจะทุกปี แต่ภายใต้ภาวะการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนที่ยังมีจำกัด จึงทำให้หลายครัวเรือนประเมินว่า อาจต้องรัดเข็มขัดและลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยบางส่วนลงในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ ดังนั้น สถานการณ์ด้านกำลังซื้อและรายได้ จึงยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะหนุนให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในระยะข้างหน้า

ความกังวลของครัวเรือนเกี่ยวกับภาระค่าครองชีพยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับลดลง แม้จะเข้าสู่ช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ตามความเชื่อมั่นต่อกระแสรายได้ของครัวเรือน ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกันได้ทุกภาคส่วน โดยหากมองในภาพใหญ่แล้ว ครัวเรือนเกษตรกรก็ยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันจากฝั่งรายได้ที่หดตัวลงท่ามกลางความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศที่มีผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ขณะที่ ครัวเรือนภาคนอกเกษตร โดยเฉพาะในส่วนที่มีรายได้ไม่ประจำ/รับจ้าง ก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้ ตราบใดที่แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างเต็มที่

ความเชื่อมั่นครัวเรือนลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีแรงฉุดจากมุมมองที่มีความกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์ราคาสินค้า และภาระค่าใช้จ่าย ขณะที่ รายได้ของหลายครัวเรือนยังไม่สามารถฟื้นตัวตามขึ้นมาได้ทัน โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนเม.ย. 2559 ลดลงต่อเนื่องมาที่ระดับ 42.7 จากระดับ 43.6 ในเดือนมี.ค. 2559 สอดรับกับ ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ลดลงมาที่ 44.5 (ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน)

ทั้งนี้ ดัชนีองค์ประกอบของ KR-ECI ที่สะท้อนมุมมองของครัวเรือนต่อสถานการณ์ราคาสินค้า และค่าใช้จ่าย ต่างก็ปรับตัวลดลงโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งหมายความว่า มีจำนวนครัวเรือนที่กังวลต่อประเด็นเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีมุมมองต่อราคาสินค้า ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37.8 ในเดือนเมษายน 2559 (จาก 40.2) สะท้อนว่า ครัวเรือนกลับมาจับตาภาวะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างระมัดระวังมากขึ้น ภายหลังจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มทยอยขยับขึ้น  โดยเฉพาะราคาอาหารสดจากผลกระทบของภาวะแล้ง รวมถึงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลก

ขณะที่ ดัชนีมุมมองต่อค่าใช้จ่ายไม่รวมหนี้ และดัชนีมุมมองต่อภาระหนี้สิน ลดลงมาที่ 35.9 และ 40.7 (จาก 38.4 และ 42.5) ตามลำดับ ซึ่งภาพดังกล่าว สอดคล้องกับสถานการณ์ในระหว่างเดือนที่ครัวเรือน น่าจะมีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด อาทิ ค่าน้ำ-ค่าไฟ (สะท้อนจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ทำลายสถิติของปี ติดต่อกันถึง 6 ครั้งในระหว่างเดือนเมษายน 2559)

หลายครัวเรือนในผลสำรวจฯ มีความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเดือนเมษายน 2559 ที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งน่าจะบ่งชี้ว่า บางครัวเรือนอาจต้องรัดเข็มขัด และวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุมในช่วง 1-2 เดือนจากนี้

โดยจากผลสำรวจฯ พบว่า หลายครอบครัวมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และสังสรรค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ บางครัวเรือนประเมินว่า จะมีรายจ่ายในสินค้ากึ่งคงทน (เช่น เครื่องปรับอากาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ) ตลอดจนค่าบริการสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ-ค่าไฟ) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน ประกอบกับหลายครัวเรือนอาจต้องเตรียมรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ของบุตรหลานช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งในส่วนที่เป็นค่าเทอม ค่าเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเงินที่ครัวเรือนต้องจ่ายออกไปในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยแม้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจจะเพิ่มขึ้นไม่สูงมากนัก (ไม่เกินร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน) แต่ด้วยสถานการณ์ของรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่แน่นอน ก็มีผลทำให้การตัดสินใจใช้จ่ายของหลายครัวเรือนน่าจะยังคงเป็นไปอย่างรัดกุม ซึ่งสะท้อนว่า กำลังซื้อของครัวเรือนยังน่าจะมีสัญญาณที่ค่อนข้างอ่อนแอตลอดช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า

โดยสรุป  ดัชนี KR-ECI ยังคงลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 มาที่ 42.7 ในเดือนเมษายน 2559 ตอกย้ำว่า สำหรับมุมมองจากในฝั่งของครัวเรือนแล้ว ภาระค่าครองชีพที่สูงยังคงวิ่งสวนทางกับกำลังซื้อที่อ่อนแอ ซึ่งทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยจะยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพราะสำหรับในภาคครัวเรือนแล้ว รายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันนี้ ยังคงเป็น “ภาระ” ที่ครัวเรือนจะต้องคำนึงถึงในระหว่างการตัดสินใจใช้จ่ายและวางแผนทางการเงินในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า

การประคองทิศทางการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายและรอการแก้ไข เพราะโจทย์ของกำลังซื้อและรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ จะยังคงมีผลต่อเนื่องมาจำกัดกรอบการเติบโตของการบริโภคของภาคเอกชนในปีนี้ (โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนทั้งปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากในปีก่อนที่ขยายตัวได้ร้อยละ 2.1) และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในตัวแปรที่จะสามารถหนุนความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่กำลังถูกฝากความหวังไว้ ก็คือ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความต่อเนื่องของการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งในส่วนของงบประมาณ และการเร่งรัดการลงทุนขนาดใหญ่ให้เริ่มเดินหน้าตามกำหนดเวลา