ชาวนาจำนำควายเหล็กรับเปิดเทอมใหญ่

12 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
ชาวนามือก่ายหน้าผากรับเปิดเทอมใหม่ หนี้ท่วมแซงรายได้ หันพึ่งขายข้าวในยุ้งฉาง-จำนำควายเหล็กต่อลมหายใจ สมาคมชาวนาฯเตรียมร้อง "ประยุทธ์"สั่งพักชำระหนี้-ดอกเบี้ย 5 ปีช่วยฟื้นรายได้ ขณะอีสาน-ใต้ เริ่มเปิดกรีดยางฤดูกาลใหม่ เจอภัยแล้ง ต้องกรีด 1 วัน เว้น 2 วันรายได้ไม่พอรายจ่าย มันสำปะหลังราคาดีแต่มีของขาย ม.หอการค้าฯประเมินเม็ดเงินสะพัดรับเปิดเทอมเกือบ 5 หมื่นล้าน ขยายตัวสูงสุดรอบ 3 ปี ชี้สัญญาณบวกเศรษฐกิจ ขยับปรับคาดการณ์โตเกิน 3%

[caption id="attachment_52155" align="aligncenter" width="700"] ผลสำรวจหนี้ของผู้ปกครอง ผลสำรวจหนี้ของผู้ปกครอง[/caption]

จากในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้โรงเรียนประถมและมัธยมทั่วประเทศโดยส่วนใหญ่จะเปิดเทอมใหม่ในปีการศึกษา 2559 ส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องวิ่งหาเงินมาใช้จ่ายเป็นค่าเทอม ค่าชุด อุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ ซึ่งในส่วนของผู้ปกครองในเขตเมืองที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ไม่พอรายจ่ายส่วนใหญ่จะหันไปพึ่งโรงรับจำนำ ขณะที่ผู้ปกครองในต่างจังหวัดต่างงัดสารพัดวิธีรับมือที่แตกต่างกันไป

ขายข้าวเปลือก-จำนำควายเหล็ก

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ชาวนาข้าวถือเป็นเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำสุดเมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นๆ ซึ่งในช่วงเปิดเทอมนี้ชาวนาที่ยังมีข้าวเปลือกเก็บไว้ในยุ้งฉางส่วนใหญ่จะนำข้าวออกมาขายเพื่อให้มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเปิดเทอมที่จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ อย่างไรก็ดีราคาข้าวที่ขายให้โรงสี ณ เวลานี้ส่วนใหญ่จะถูกราคา เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะขายได้เฉลี่ยที่ 10.50-11.00 บาท/กก. หรือ(1.05-1.10 หมื่นบาท/ตัน) โดยโรงสีที่รับซื้อในราคาต่ำบางโรงจะอ้างมีข้าวใสต๊อกจำนวนมาก จากขายข้าวสารให้ผู้ส่งออกได้น้อยลงอ้างตลาดโลกไม่ดี

"นอกจากเอาข้าวเปลือกไปขายแล้ว บางรายก็หันไปพึ่งการกู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้จ่าย และมีข่าวชาวนาบางรายนำควายเหล็กไปจำนำ ส่วนหนึ่งก็มีจริง ซึ่งไม่ใช่ผลจากเปิดเทอมลูกอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลจากภัยแล้งไม่มีน้ำทำนา ทำให้ขาดรายได้ ทำให้ต้องจำนำเพื่อประทังชีวิต"นายสุเทพ กล่าวและว่า

จากผลการสำรวจศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของหอการค้าไทยระบุล่าสุดเกษตรกรไทยมีภาระหนี้สินเฉลี่ยที่ 1.5 แสนบาทต่อครัวเรือน ซึ่งมาจากหนี้ในระบบคือหนี้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส) มาใช้จ่ายในเรื่องปัจจัยการผลิต จากการใช้บัตรเครดิตเกษตรกร ซึ่งรูดง่ายใช้คล่อง รวมถึงเป็นหนี้นอกระบบ ขณะที่ผลพวงจากภัยแล้ง ขาดน้ำทำนาทำให้ขาดรายได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนาให้สามารถเก็บเงินไว้เลี้ยงชีพ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินต้น และดอกเบี้ยส่งคืนเจ้าหนี้ ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ทางสมาคมฯได้ประสานขอเข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อยื่นจดหมายส่งผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือสั่งการให้ ธ.ก.ส. หรือสถาบันการเงินของรัฐพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ชาวนาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งที่สุดแล้วจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรนั้นก็ขึ้นกับรัฐบาลจะกรุณา

เปิดกรีดยางสร้างรายได้ใหม่

ด้านนายทองชื่น แสงเพ็ชร เกษตรกรชาวสวนยาง และอดีตประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากช่วงเปิดเทอมที่จะมาถึงทำให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายมาก ล่าสุดในพื้นที่กาฬสินธุ์ ได้เริ่มเปิดกรีดยางในฤดูกาลใหม่เพื่อให้มีรายได้นำมาจับจ่ายใช้สอยแล้ว แต่จากภัยแล้ง และอากาศที่ร้อนมากในช่วงนี้ยางที่กรีดมีน้ำยางออกมาน้อย ทำให้จากปกติกรีดวันเว้นวัน ต้องกรีด 1 วัน เว้นไป 2-3 วัน ซึ่งเวลานี้ราคายางในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเป็นยางก้อนถ้วยขายได้ราคาเฉลี่ยที่ 30-32 บาท/กก. ถือว่าราคายังไม่ค่อยดีนัก จากอดีตช่วงที่ราคายางสูงสุดเคยขายยางก้อนถ้วยได้ถึง 70 บาท/กก.

"เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่เตรียมการรับเปิดเทอมบุตรหลานโดยนอกจากเริ่มเปิดกรีดยางที่ผลผลิตยังไม่ค่อยดีแล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำนาด้วยก็เริ่มนำข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางไปขาย หรือใครมีไร่มันสำปะหลังก็ขุดขาย ส่วนหนึ่งผู้ปกครอองที่ไปรับจ้างก่อสร้าง หรือทำงานโรงงานก็ส่งเงินมาให้ นำทอง เครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็นไปจำนำก็มี"

ปักษ์ใต้ได้ปาล์มช่วยชีวิต

เช่นเดียวกับนายประสาร จันทร เกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่กล่าวว่า ในพื้นที่สุราษฎร์ธานีได้เริ่มเปิดกรีดยางแล้วเช่นกัน แต่จากภัยแล้งน้ำยางออกมาน้อย ทำให้ต้องกรีด 1 วัน หยุด 2 วันค่อยกรีดใหม่ ซึ่งจากภาระค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมของเด็ก รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายประจำ ทำให้หลายครอบครัวชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ไม่พอรายจ่าย ในรายที่มีสวนยางไม่มากก็เลิกจ้างแรงงานต่างด้าว เพราะไม่คุ้ม ส่วนในรายที่มีสวนยางมากก็ยังจ้างอยู่ เพราะเกรงหากไม่จ้างเมื่อสถานการณ์ยางดีขึ้นจะขาดแรงงาน

"ผมยังโชคดีที่ยังมีสวนปาล์มน้ำมันด้วย และขณะนี้ราคาปาล์มก็ยังดี ทำให้มีรายได้จากปาล์มาจุนเจือ แต่คนที่ไม่มีรายได้ทางอื่น มีรายได้จากยางทางเดียวน่าสงสารมาก เพราะก่อนหน้านี้ช่วงราคายางพุ่ง เศรษฐกิจดี ส่วนหนึ่งก็ไปซื้อรถ ซื้อโทรศัพท์มือถือ เล่นแชร์ และอื่นๆ เงินที่ต้องส่ง ธ.ก.ส.ก็ยังเท่าเดิม แต่รายได้ลด กระทบต่อเนื่อง เช่นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนศรีวิชัยร่วมทุนที่ทำงานอยู่ สมาชิกหลายรายไม่มีเงินจ่ายเงินกู้ ต้องจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 2-3 เดือนถึงจ่ายก็มี"

ยันข้าว-มันราคาดีแต่ของน้อย

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการ สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงกรณีที่โรงสีถูกพาดพิงกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาโดยตั้งคำถามว่า ข้าวที่ชาวนานำมาขายในช่วงนี้อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้เมล็ดข้าวลีบไม่เต็มเมล็ดทำให้โรงสีต้องซื้อในราคาต่ำตามคุณภาพข้าวหรือไม่ ขณะที่ข้อเท็จจริงเวลานี้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น เพราะของขาดตลาดจากผลกระทบภัยแล้ง เกษตรกรงดทำนาปรัง แต่ก็ยังมีบางพื้นที่มีข้าวรอเก็บเกี่ยวซึ่งมีไม่มาก โดยราคาที่โรงสีรับซื้อในเวลานี้ ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 25% อยู่ที่ 7.5-7.8 พันบาท/ตัน ความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ 8.5-9 พันบาท/ตัน ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ 1.1-1.2 หมื่นบาทต่อตันถือเป็นราคาที่ดี ซึ่งก็มีชาวนานำมาขายเพื่อใช้จ่ายช่วงเปิดเทิม แต่ปัญหาคือชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีข้าวขาย

ขณะที่นางสุรีย์ ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยที่ 2.30-2.40 บาท/กก. ถือเป็นราคาที่ดี แต่ปัญหาคล้ายกับข้าวเปลือกที่เกษตรกรไม่มีของขายจากผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย

 เปิดเทอมเงินสะพัดเกือบ5หมื่นล.

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม จำนวน 1.21 พันตัวอย่าง ว่าจากการสอบถามจะมีค่าใช้จ่ายหรือเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมปี 2559 รวมกันประมาณ 4.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 4.80 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.3% ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2557 โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายใยการซื้อรองเท้านักเรียนใหม่ 63.7 % ,ซื้อชุดนักเรียน61.5% และซื้ออุปกรณ์การเรียน เช่น สมุด ดินสอ ปากกา 50.2% ซึ่งส่วนใหญ่ 32.8% มีการซื้อสินค้าจำนวนต่อชิ้นเพิ่มขึ้น และ24.6 % ซื้อจำนวนต่อชิ้นลดลง

ขณะที่ทรรศนะต่อราคาสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ 51.2% ตอบว่า ราคาเสื้อผ้าแพงขึ้น รองลงมาคือหนังสือเรียน และถุงเท้า/รองเท้า ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเปิดเทอมในปีนี้เฉลี่ย 1.0064 หมื่นบาทต่อราย เทียบกับปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตอบว่าเพิ่มขึ้น 21.3%

"จะเห็นว่าผู้ปกครองซื้อสินค้าสำหรับบุตรหลานเพิ่มขึ้นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและผู้ปกครองเองมีความมั่นใจว่าในทิศทางการหารายได้หลังจากนี้ ดังนั้นจึงเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจมีทิศทางเชิงกึ่งบวก คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3-3.5% แต่เม็ดเงินที่ใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม 4.9 หมื่นล้านสะพัดแค่ช่วงสั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้การขยายตัวของจีดีพีเพียง0.1-0.2% เท่านั้น ส่วนการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของหอการค้าจะมีการแถลงข่าวในวันที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งแนวโน้มน่าจะขยายตัวเกิน3%" ดร.ธนวรรธน์ กล่าวและว่า จากการสำรวจยังพบว่าปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่มีหนี้สินต่อครัวเรือนสูงถึง 2.08 หมื่นบาท(ดูตารางประกอบ) เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน 24.11 % โดยเป็นหนี้สินมาจากการใช้จ่ายประจำวัน, การใช้จ่ายสำหรับบุตรหลาน ค่าผ่อนรถยนต์และที่อยู่อาศัย เป็นต้น และจากผลสำรวจเกินกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 51.3% พบว่ามีเงินไม่เพียงพอและยังอยู่ในภาวะตึงตัว ซึ่งส่วนใหญ่เลือกช่องทางการหาเงินผ่านการจำนำทรัพย์สินมากกว่าการกู้หนี้นอกระบบ ทำให้ประชาชนยังคงมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย

อนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 โดยระบุว่า ตัวเลขล่าสุดในเดือนมีนาคม รายได้เกษตรกรหดตัวลง 11.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามการหดตัวของผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

โดยรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรไทยได้ลดลงต่อเนื่องในปีนี้เป็นปีที่ 5 จากปี 2555-2558 รายได้ของเกษตรกรลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 4.9, 1.7, 5.7 และ10.5% ตามลำดับ

Photo Cover : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559