ปรากฏการณ์‘เลสเตอร์’ กระตุ้นธุรกิจไทยลุยสโมสรบอลอังกฤษ

14 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
ปรากฏการณ์ที่สโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้การนำของ วิชัย กับ อัยยวัฒน์ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสร และรองประธานสโมสร เจ้าของธุรกิจดิวตี้ฟรี “คิงเพาเวอร์” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ135 ปี ความสำเร็จดังกล่าว นอกจากสร้างสถิติใหม่ให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษแล้ว ยังเป็นแรงกระตุ้นให้กลุ่มธุรกิจไทยหันมาสนใจลงทุนสโมสรฟุตบอลอังกฤษเพื่อหวังผลตอบแทนหากทีมมีผลงานดี และยังใช้เป็นวีซ่านำธุรกิจของตัวเองไปสู่ระดับโลกอีกด้วย วิชัย กับ อัยยวัฒน์ บุตรชาย เทกโอเวอร์ สโมสร เลสเตอร์ซิตี้ในปี 2553 ด้วยเงินลงทุน 100 ล้านปอนด์ (ราว 5 พันล้านบาท) โดยช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้น กลุ่มธุรกิจไทยเริ่มสนใจลงทุนสโมสรฟุตบอลเมืองผู้ดีมากขึ้น หลัง ดร.ทักษิณ ชินวัตร บุกเบิกระแสซื้อสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2550 (ปัจจุบันขายไปแล้ว) ตามด้วย วิชัย และกลุ่มธุรกิจไทยอีก 2-3 กลุ่ม ที่เข้าซื้อสโมสรฟุตบอลเมืองผู้ดีท่ามกลางความสงสัยของคนไทยจำนวนไม่น้อยว่า ซื้อไปทำอะไร?

[caption id="attachment_52280" align="aligncenter" width="700"] เมื่อเลสเตอร์ ซิตี้ เป็นแชม์ปพรีเมียร์ลีก เมื่อเลสเตอร์ ซิตี้ เป็นแชม์ปพรีเมียร์ลีก[/caption]

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จในการทำทีมของ เลสเตอร์ ซิตี้ กระทั่งยกระดับทีมฟุตบอลนอกสายตาที่บ่อนเมืองผู้ดีให้ราคาต่อรองอย่างไม่ปรานี แทง 1 ปอนด์ได้ 5,000 ปอนด์ (หากเลสเตอร์ ซิตี้ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก) ไม่ใช่ประเด็นที่จะกล่าวถึง ณ ที่นี้ แต่จะเน้นไปความสำเร็จทางธุรกิจ เมื่อวิชัยกับบุตรนำทีมขุนพลนักเตะชูด้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกกลางสนาม คิงเพาเวอร์ สเตเดียม หลังทีมชนะเอฟเวอร์ตัน 3 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

รายได้ที่เปลี่ยนไป

อัยยวัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"เมื่อ 2 เดือนก่อนหน้านี้ (ช่วงเวลานั้น เลสเตอร์ ซิตี้ หรือ จิ้งจอกสยาม ถูกยกเป็นเต็งในทีมที่มีโอกาสคว้า แชมป์พรีเมียร์ลีกแล้ว) ว่า เมื่อ เลสเตอร์ ซิตี้ ก้าวจากแชมเปี้ยนชิพ ขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกในปี 2557 สโมสรก็เริ่มมีรายได้และกำไรมากขึ้น เขายกตัวอย่างว่า ในปี 2558 สโมสรมีรายได้ราว 6.3 พันล้านบาท เทียบ 530 ล้านบาท ปีก่อนหน้าที่ยังอยู่ระดับแชมเปี้ยนชิพ และ การยืนหยัดในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ รายได้ของสโมสรเพิ่มต่อเนื่อง เช่น ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้น 20-30% จากเดิม 3.5 พันล้านบาทในปี 2558 เป็น 5.3 พันล้านบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์จาก เรพูคอม บริษัทให้บริการข้อมูลด้านกีฬาและการตลาด เมื่อเร็วๆนี้ว่า การที่สโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก รายได้ของสโมสรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 150 ล้านปอนด์(ราว 7.4 พันล้านบาท) จาก 4 ส่วนหลักคือ ส่วนแบ่ง ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด(ทั้งในและต่างประเทศ) สปอนเซอร์ และนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษประเมินว่ามูลค่าสโมสรจะเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นล้าน ( ณ ปี 2533 อยู่ที่ 2 พันล้านบาท)

คิงเพาเวอร์ต่อยอดเลสเตอร์

นอกจากผลที่เกิดต่อสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้โดยตรงแล้ว "คิงเพาเวอร์"กลุ่มธุรกิจค้าปลอดภาษีซึ่งเปรียบเหมือนบริษัทแม่ของ "เลสเตอร์ ซิตี้" ยังได้รับผลบวกอีกด้วย ประเด็นนี้ อัยยวัฒน์ ฉายภาพว่า อย่างแรกที่สุดที่ คิงเพาเวอร์ได้รับทันที เมื่อเลสเตอร์ ซิตี้คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกคือ "แบรนด์" ซึ่งจะเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น ซึ่งยังมีผลผูกโยงมาถึงการท่องเที่ยวไทย และ ประเทศไทยอีกด้วย

ตัวอย่างของผลที่เกิดขึ้นจากการที่ "คิงเพาเวอร์" เป็นที่รับรู้ในวงกว้างคือ ซัพพลายเออร์สินค้าแบรนด์ดังที่เขาติดต่อด้วย จะเริ่มต้นการสนทนาเรื่องฟุตบอลก่อนจะเข้าเรื่องธุรกิจซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อถือที่คู่ค้ามีต่อ คิงเพาเวอร์มากขึ้น
ประการต่อมาคือ การขยายไลน์สินค้า ภายใต้แบรนด์ เลสเตอร์ ซิตี้ เช่นเสื้อ หรือของที่ระลึกอื่นๆ นอกจากขายในร้านขายสินค้าที่ระลึกของสนามฟุตบอลของเมืองแล้วยังมีวางขายใน ดิวตี้ฟรี และ แท็กฟรี ของ คิงเพาเวอร์ในไทย ด้วย

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของ คิงเพาเวอร์ กับการลงทุนในสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ วันนี้ มีเบื้องหลังน่าสนใจว่า เมื่อวิชัย มองหาช่องทางลงทุนในอังกฤษ เขาชายตาไปที่โรงแรมในลอนดอน แต่ อัยยวัฒน์ ลูกชายมองต่างออกไป เขาบอกกับพ่อ (วิชัย)ว่า หากซื้อโรงแรมก็ไม่มีใครรู้จักคิงเพาเวอร์ จะซื้ออีก 10 แห่งก็ไม่มีคนรู้จัก (คิงเพาเวอร์) แต่การซื้อทีมฟุตบอลในราคาเท่ากัน รีเทิร์น (ผลตอบแทน) แต่เรื่องประชาสัมพันธ์ และมาร์เก็ตติ้งก็คุ้มค่าแล้ว

รองประธานสโมสรหนุ่มบอกกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ในการให้สัมภาษณ์คราวเดียวกันนั้นว่า วันที่สโมสร (เลสเตอร์ ซิตี้) ขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก(2557) เงินลงทุนก็ได้คืนมาแล้ว เพราะไม่ว่าใช้เงินขนาดไหนก็ไม่สามารถทำให้ชาวเลสเตอร์ ซิตี้ราว 2 แสนคนออกมาฉลองความสำเร็จให้กับทีมของเขาได้

 มีโอกาสและความเสี่ยง

แม้ความสำเร็จของสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ดูหอมหวนแต่การลงทุนในสโมสรฟุตบอลอังกฤษมีความเสี่ยงแฝงอยู่ไม่น้อยเช่น ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นต่อการที่นักธุรกิจไทยเข้าซื้อทีมสโมสรฟุตบอลระดับโลกว่า การซื้อทีมสโมสรฟุตบอลมีโอกาสทางธุรกิจด้วยกัน 3 ประการ 1. การนำทีมสโมสรฟุตบอลนั้น มาหารายได้จากค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 2.ได้ทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของทีมสโมสรนั้นถือครองอยู่ และ 3. ได้ค่าลิขสิทธิ์จากการทำการตลาด เช่น ค่าโฆษณา โลโกสินค้าบนเสื้อผ้านักกีฬา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการซื้อทีมสโมสรฟุตบอลจะมีโอกาส "ทำเงิน" ได้มหาศาล แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีทั้งโอกาสทำกำไรและขาดทุนได้ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยฝีมือของนักกีฬา ขณะเดียวกันบางครั้งฝีมืออย่างเดียวก็ไม่ใช่คำตอบ ต้องอาศัยโชคเข้ามาช่วยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในด้านการบริหารงานก็ต้องอาศัยเม็ดเงินจำนวนมาก ในการพัฒนาให้นักกีฬามีความสามารถ หรืออาจจะต้องซื้อตัวนักกีฬาที่มีฝีมือเข้ามาร่วมทีม จึงต้องจ้างทีมบริหารมืออาชีพเข้าไปบริหารจัดการ

ดร.ก้องเกียรติ ยังมองว่าการซื้อทีมสโมสรฟุตบอล เป็นหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้เช่นกัน เพราะเป็นธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ไม่ได้เผชิญปัญหาภายในประเทศ โดยมีความเป็นไปได้ที่การเข้าซื้อทีมสโมสรฟุตบอลของนักธุรกิจคนไทย มีความต้องการที่จะนำมาสร้างแบรนด์และทำการตลาด หรืออาจจะขายทำกำไรเมื่อทีมมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จากการแข่งขันชนะแมตช์สำคัญ

จับตาเส้นทางฟอกเงิน

ขณะที่อาจารย์ชลิต ลิมปนะเวช อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย มองว่า ทีมสโมสรฟุตบอลเหมือนสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถทำ "กำไร" ได้ตามมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นและยังสามารถนำชื่อเสียง ความนิยมของทีมฟุตบอลมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาตราสินค้าของตนเองที่มีอยู่ลงไปใส่ในเสื้อนักกีฬา หรือแม้แต่การนำเอานักกีฬาที่โดดเด่นและเป็นที่ชื่นชอบมาใช้เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าของตนเองก็ได้ด้วย "การซื้อทีมสโมสรฟุตบอล มันเป็นเกมธุรกิจทางการตลาดอย่างหนึ่ง " อาจารย์ชลิตให้ความเห็น

อย่างไรก็ดีไม่ว่าการลงทุนในสโมสรฟุตบอลอังกฤษจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด แต่ปรากฏการณ์ "เลสเตอร์"ที่มูลค่าของสโมสรเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวเมื่อทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาครอง ไม่นับรวมผลพลอยได้อื่นๆ ที่จะตามมา เชื่อว่า นับจากนี้ไปจะมีกลุ่มนักธุรกิจไทยสนใจที่จะเป็นประธานสโมสรฟุตบอลเมืองผู้ดีมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559