เปิดเสรีนำเข้าLPGชะงักรัฐรอข้อสรุป ประมูลโควตาอย่างช้ากรกฎาคมนี้

12 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
กรมธุรกิจพลังงานเตรียมเรียกโรงกลั่นน้ำมัน-โรงแยกก๊าซ-ผู้ค้าแอลพีจี 12 พ.ค.นี้ ชี้แจงเร่งเดินหน้านโยบายเปิดนำเข้าแอลพีจีเสรี แก้ปัญหาเอกชนหลายรายแห่ขอนำเข้าแต่ทำไม่ได้จริง "วิฑูรย์"เตรียมเสนอรายละเอียดเปิดประมูลนำเข้าแอลพีจีต่อ รมว.พลังงาน อย่างช้าภายใน ก.ค.นี้ พร้อมเพิ่มบทลงโทษ หวั่นสร้างความเสียหายประเทศ

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ทางกรมจะเชิญกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือเพื่อเดินหน้านโยบายส่งเสริมการนำเข้าแอลพีจีเสรี แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางกรมจะเปิดให้เอกชนสามารถขอใบอนุญาตนำเข้าแอลพีจีเสรีได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ค้าบางรายไม่สามารถนำเข้าได้จริง ขณะที่บางรายก็ขอนำเข้าในปริมาณที่สูง ทำให้กรมตัดสินใจชะลอนำเข้าเสรีไปก่อนในช่วงนี้

โดยขณะนี้พบว่าปริมาณนำเข้าของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 2-3 หมื่นตันต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2559 ยอดนำเข้าอยู่ที่ 2.4 หมื่นตันเท่านั้น ดังนั้นหากผู้ค้าแอลพีจีนำเข้ามาในปริมาณมากก็จะเกินกับความต้องการใช้ในประเทศ จึงจำเป็นต้องหารือกับทางโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ ว่าจะสามารถผลิตแอลพีจีได้ปริมาณเท่าไร จากนั้นจะตัดสินใจเปิดประมูลโควตานำเข้าแอลพีจีต่อไป

ขณะที่บริษัท พีเอพี แก๊ส แอนด์ ออยล์ จำกัด ซึ่งขออนุญาตนำเข้าจำนวน 2 พันตันต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่าไม่สามารถทำได้ตามแผน ทางกรมจึงสั่งยกเลิกการนำเข้าดังกล่าว รวมทั้งสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 4-5 ล้านบาท โดยก่อนออกใบอนุญาต กรมเตือนกับทางบริษัท พีเอพีฯแล้ว แต่ทางบริษัทมั่นใจและยืนยันการนำเข้าดังกล่าว

ส่วนบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) ยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าแอลพีจี 3-4 หมื่นตันต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือนนั้น ได้ชะลอออกไปก่อนเช่นกัน เนื่องจากต้องการทราบจำนวนโควตานำเข้าที่แท้จริง รวมทั้งรายละเอียดต่างๆให้มีความชัดเจนก่อน อาทิ ราคานำเข้าแอลพีจี ค่าเช่าคลัง และค่าผ่านท่อ ที่เขาบ่อยา และคุณภาพแอลพีจี ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด ดังนั้นภายหลังจากหารือกับกลุ่มโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ และผู้ค้า เพื่อนำไปสรุปร่างหลักเกณฑ์การนำเข้าแอลพีจีเสรี จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อย่างช้าสุดภายในเดือนกรกฎาคมนี้

"กรมคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลนำเข้าแอลพีจีเสรีได้ภายในต้นปี 2560 เพราะตอนนี้คงต้องเร่งสรุปร่างหลักเกณฑ์นำเข้า ซึ่งต้องสรุปก่อนว่าโรงกลั่นผลิตแอลพีจีได้เท่าไร โรงแยกก๊าซผลิตได้เท่าไร และผู้ค้าแต่ละรายขายเท่าไรและต้องการนำเข้าเท่าไร นอกจากนี้จำเป็นต้องเพิ่มบทลงโทษ เพราะหากขอนำเข้าแล้วไม่สามารถทำได้ตามแผนจะเกิดความเสียหายต่อประเทศ"นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้า โครงการลงทุนท่อส่งน้ำมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดทางบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) ได้เชิญผู้ลงทุน 2 ราย ได้แก่ บริษัท เอสซี กรุ๊ปฯ และบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่นฯ ยื่นข้อเสนอและรายละเอียดโครงการลงทุน เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการขอเชื่อมต่อกับระบบท่อน้ำมันที่คลัง จ.สระบุรี โดยหลังจากรับฟังข้อเสนอของทั้ง 2 รายแล้วคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

นายณัฐพงษ์ รัตนสุวรรณทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและร่วมทุน บริษัท เอสซี กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ทางแทปไลน์ได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องผลตอบแทน ก็จะมีการจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมไปให้เร็วๆ นี้ ซึ่งการที่แทปไลน์เปิดโอกาสให้บริษัทเข้าไปยื่นรายละเอียดของการลงทุน ถือเป็นการแสดงความพร้อมของบริษัท

สำหรับโครงการลงทุนท่อขนส่งน้ำมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากสระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง 340 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนจากทางแทปไลน์ในเร็วๆนี้ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้หารือกับกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยืนยันโครงการลงทุน และจะใช้บริษัทในเครือเอสซี เป็นผู้ลงทุน คาดว่าภายหลังจากได้ข้อสรุปการเชื่อมต่อท่อน้ำมันกับทางแทปไลน์แล้ว บริษัทจะขอใบอนุญาตก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากทาง ธพ. จากนั้นจะเริ่มศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2560 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมัน และคลังน้ำมัน ใช้ระยะเวลา 2.5 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มทยอยขนส่งน้ำมันทางท่อเส้นอีสานได้ภายในไตรมาส 4 ปี2562

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559