แบงก์หวิว!เอ็นพีแอลเอสเอ็มอีเพิ่ม เร่งจัดชั้นเติมวงเงินต่อลมรายธุรกิจ

13 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
แบงก์ชี้ทิศธุรกิจยังเสี่ยง "จัดชั้น-ปรับโครงสร้างเติมวงเงินต่อลมรายธุรกิจ"หวังสกัดหนี้เสียในอนาคต ค่ายไทยพาณิชย์แจงเอ็นพีแอลใหม่ทรง พร้อมเติมวงเงินต่อลมเอสเอ็มอี หลังทั้งประคองรายเก่าและโอนทรัพย์หรือหุ้นชำระหนี้

สัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบธนาคารพาณิชย์ขยายวงกว้างจนนายธนาคารและนักวิเคราะห์ต่างครุ่นคิดหาทางแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อผลดำเนินงานไตรมาสแรกที่ผ่านมาของธนาคารพาณิชย์ (สิ้นมีนาคม2559) พบว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ธนาคารมีเอ็นพีแอลก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 61,841 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 30.3% จากเดือนมีนาคมปีก่อนอยู่ที่ 47,473 ล้านบาทและอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสำรองขั้นต่ำ 207.7% ลดลง 61.1%จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 268.8% อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังเน้นการบริหารความเสี่ยงด้านคุณภาพสนเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมพร้อมทั้งให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเสมอมา

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาเงินให้สินเชื่อจัดชั้นและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พบว่า เงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับรวม 1.88ล้านล้านบาท และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากการจัดชั้นตามเกณฑ์ธปท.จำนวน 4.99 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นจัดชั้นปกติมีจำนวน 1.76ล้านล้านบาท จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ 4.68หมื่นล้านบาท จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน 8.42พันล้านบาท จัดชั้นสงสัย 1.42หมื่นล้านบาท และจัดชั้นสงสัยจะสูญ 3.92 หมื่นล้านบาท

ขณะที่บมจ.ไทยพาณิชย์มีสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามงบการเงินรวมเพิ่ม 2.64%ของสินเชื่อรวม(จำนวน 55.1พันล้านบาท) ณสิ้นมีนาคมที่ผ่านมาจาก 2.13%(จำนวน 43.2 พันล้านบาท)ของเดือนมีนาคมปีก่อน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลนั้นส่วนใหญ่มาจากลูกค้ารายใหญ่ 2 รายในอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งมีสินเชื่อรวมทั้งหมด 22 พันล้านบาท ถูกจัดชั้นเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 3/2558 ทั้งนี้สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษมีจำนวน 30.4 พันล้านบาทลดลง 33.9 พันล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้าขนาดใหญ่ 2 ราย (SSI และ SSI UK) ซึ่งเคยอยู่ในชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษได้ถูกจัดชั้นเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ (3/58)โดยทั้ง 2 รายได้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษในปี 2557

สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จและอยู่ระหว่างผ่อนชำระคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด ตามด้วยสินเชื่อด้อยคุณภาพที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ,อยู่ระหว่างบังคับคดี และอยู่ระหว่างดำเนินคดีซึ่งไตรมาสแรกสินเชื่อด้อยคุณภาพส่วนใหญ่ที่ปรับลดจากการชำระหนี้ การประมูลและยึดทรัพย์ การปรับโครงสร้างหนี้ การตัดหนี้สูญ และการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ 1.8 พันล้านบาท ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดใหม่ค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อนที่ 0.41% (สินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดใหม่ตามประเภทธุรกิจ อาทิ ธุรกิจขนาดใหญ่ 0.05% เอสเอ็มอี 0.86% สินเชื่อเคหะ 0.51% และเช่าซื้อ0.41%)แต่ลดลงจาก 0.50% (ไตรมาส4/2558) และลดลงในทุกกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะการลดลงของสินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดใหม่ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี

ในส่วนของบมจ.ไทยพาณิชย์การปรับโครงสร้างหนี้ใช้หลากหลายวิธี อาทิ การรับโอนสินทรัพย์และหุ้นทุน การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ และผสมผสานหลายวิธีเข้าด้วยกัน ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีเงินให้สินเชื่อแก้ลูกหนี้ที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้รวม 35.2 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.9 พันล้านบาทจาก 28.3 พันล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนส่วนใหญ่มาจากลูกค้าขนาดใหญ่รายหนึ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559