ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง

12 พ.ค. 2559 | 00:00 น.
อุตสาหกรรมทูน่าของไทยถือเป็นเบอร์ 1 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2558 ที่ผ่านมากว่า 6.74 หมื่นล้านบาท เป็นหนึ่งในสินค้ากลุ่มอาหารที่ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ สร้างงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปข้างหน้า ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จของการส่งออกข้างต้นหลายคนคงไม่ทราบว่ามาจากบริษัทสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยเพียงกว่า 20 บริษัทเท่านั้น และอยู่ภายใต้การบริหารงานของ "ชนินทร์ ชลิศราพงศ์" ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรกมาตั้งแต่ปี 2556 และได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกสมาคมในสมัยที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน

[caption id="attachment_52150" align="aligncenter" width="503"] ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ชนินทร์ ชลิศราพงศ์[/caption]

"ชนินทร์" ฉายภาพอุตสาหกรรมทูน่าไทยว่า ได้ส่งออกไปใน 200 ประเทศในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งจากปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่าของโลกที่จับได้ประมาณปีละ 5 ล้านตัน ในจำนวนนี้ ประเทศไทยนำเข้าผลิตและแปรรูปส่งออกสัดส่วน 15-18% ของปริมาณปลาทูน่าที่จับได้ หรือคิดเป็นปริมาณ 7-8 แสนตันต่อปี ซึ่งโจทย์ใหญ่ก็คือในปริมาณปลาที่มีอย่างจำกัดดังกล่าวจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าให้มากที่สุด รวมถึงการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (อาร์ แอนด์ ดี) ลงทุนในเรื่องตลาด ลงทุนในเรื่องแบรนด์ให้ติดตลาดโลก ซึ่งถือเป็นความยั่งยืนเพื่อหนีคู่แข่งออกไปเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกันจากอุตสาหกรรมทูน่าของไทยที่ถึงจุดอิ่มตัวระดับหนึ่งแล้ว โอกาสที่บริษัททูน่าในประเทศจะขยายตัวและแตกบริษัทใหม่ ๆ คงมีไม่มาก แต่สิ่งที่เป็นไปได้คือการออกไปลงทุนในประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ และเป็นตลาดเพื่อโตในต่างประเทศ ซึ่งต้องยอมรับการส่งออกของไทยช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีอุปสรรคทางการค้าอันเนื่องมาจากประเทศที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่าที่ไม่ต้องการให้ไทยส่งออกสินค้าเข้าไปมาก เช่น ในสหภาพยุโรป และอื่นๆ ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า เขาจะมีมาตรการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายใน

"ณ วันนี้ ถ้าเราจะโตทั่วโลก เราจะต้องไปโตในต่างประเทศ ขณะนี้ก็มีสมาชิกของสมาคมออกไปลงทุน และสร้างแบรนด์ในต่างประเทศแล้ว เช่นกลุ่มไทยยูเนี่ยน กลุ่มซีแวลู และบริษัทอื่นๆ ที่ค่อยๆ ตามกันไป ซึ่งเวลานี้ไทยถือเป็นเบอร์ 1 ของทูน่าโลก รองลงมาเป็นประเทศสเปนผลิตปีหนึ่ง 3-4 แสนตัน รองไปคือเอกวาดอร์ ปีละประมาณ 3 แสนตัน และฟิลิปปินส์ประมาณปีละ 2 แสนตัน"

"ชนินทร์" กล่าวว่า การทำงานบริหารสมาคมสิ่งท้าทายคือกฎระเบียบในต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่นล่าสุดกฎระเบียบทางด้านไอยูยู (การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของสหภาพยุโรป) กฎระเบียบทางด้านแรงงาน ทางด้านฟูดเซฟตี้ตามระเบียบของคู่ค้า และตามหลักสากล ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการปรับตัวของสมาคมและสมาชิกให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งต้องปรับตัวตลอดเวลา

ขณะเดียวกันทางสมาคมมีนโยบายหลักในการส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนหลายประการ ได้แก่ การใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะปลาทูน่า การส่งเสริมการทำประมงที่ถูกกฎหมาย, การเป็นหน่วยงานที่จะดูแลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยและในระดับสากล, การมีบทบาทในการเจรจาแก้ไข ลดอุปสรรคทางการค้า ด้านภาษี และอื่น ๆ, การส่งเสริมและสนับสนุนจริยธรรมในการปฏิบัติต่อแรงงาน, การเป็นหน่วยงานช่วยส่งเสริมหาแหล่งวัตถุดิบทูน่าทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพ และการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจต่างๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมทูน่าของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก

"สิ่งที่ผมต้องทำคือ พยายามเอานโยบาย และหลักการของสมาคมไปอธิบายให้สมาชิกของสมาคมปฏิบัติให้ได้และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมาสมาชิกของสมาคมไม่มีแตกแถว พูดเสียงเดียวกัน และลุยไปพร้อม ๆ กัน โดยมีเป้าหมายให้อุตสาหกรรมทูน่าของไทยเป็นท็อปทรี ของโลกอย่างยั่งยืนตลอดไป"

ขณะเดียวกันจากที่ในแต่ละปีนายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยต้องไปประชุมทั้งในและนอกสถานที่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มากกว่า 400 ครั้ง (ปี 2558 กว่า 460 ครั้ง) ดังนั้นสิ่งที่เป็นคีย์ซักเซส แฟกเตอร์(กุญแจแห่งความสำเร็จ) ของการเป็นนายกคือ ต้องยึดมั่นในหลักการอย่างแน่วแน่ เพราะในการเจรจาหรือร่วมประชุมกับรัฐบาล และในการเจรจากับต่างประเทศต่างๆ จะต้องมีหลักการและมีข้อมูลที่ชัดเจน มีการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ศึกษาเทคนิคระหว่างประเทศ และมีจุดยืนของสมาคมไปคุยกับคู่ค้าต่างประเทศ คุยกับรัฐบาล และทำงานล้อไปกับรัฐบาลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

"การทำงานที่สมาคม เรามีคณะกรรมการบริหารกลั่นกรองเรื่องหลักการ และนโยบายต่างๆ ไม่มีวันแมนโชว์ที่นี่ กรรมการรับทราบและบริหารร่วมกัน ผมเพียงเป็นผู้นำนโยบายและหลักการของสมาคมไปคุยกับภาครัฐ ไปคุยกับคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งหากผมหมดวาระ ใครจะมาเป็นนายกสมาคมก็ไม่มีปัญหา เพราะหลักการจะไม่เปลี่ยน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559