GPSC ฟุ้งไตรมาสแรกกำไรพุ่ง 871 ล้าน

09 พ.ค. 2559 | 15:46 น.
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ เผยผลประกอบการไตรมาสแรกโตต่อเนื่องกำไรพุ่ง 871 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 160% ชี้มีการบริหารต้นทุนการผลิตส่งกำไรเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์ ไฟฟ้า และไอน้ำ จากลูกค้าในกลุ่ม ปตท. และ กฟผ. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.เติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/59 โดยระบุว่า ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดี มีรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้ารายใหม่ และความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มสูงในช่วงฤดูร้อน ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ รวมทั้งบริษัทฯ ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้า (Plant optimization) เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ส่งผลให้ไตรมาส 1/59 บริษัทฯ มีรายได้อยู่ที่ 5.48 พันล้านบาท ประกอบกับยังรับรู้รายได้ปันผลจากการที่บริษัทฯ เข้าลงทุนใน บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) 15% คิดเป็นจำนวน 180 ล้านบาท จึงทำให้กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 871 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา เติบโตถึง 160%

“ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกถือว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรให้เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบกับโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างยังคงเป็นไปตามแผนงาน ส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงกระแสเงินสดหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากอัตราหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Total Debt to Equity Ratio) อยู่ที่ 0.48 เท่า ซึ่งน้อยกว่านโยบายที่ผู้บริหารกำหนดไว้ ทำให้บริษัทฯ ยังมีขีดความสามารถในการแสวงหาโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะการหาแหล่งเงินเพื่อมาลงทุนในอนาคตอย่างมั่นคง และยั่งยืน” ดร.เติมชัย กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างตามสัดส่วนการลงทุนอีก 584 เมกะวัตต์ โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในเดือนมิถุนายน ปี 2559 ถึงปี 2562 ดังนี้ โดยที่คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) เดือนมิถุนายน 2559 นี้ ประกอบด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด (NNEG) ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กำลังการผลิตไฟฟ้า 125เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 30% ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซล่าร์สหกรณ์ ผ่านบริษัทฯ ในเครือ ที่บริษัทฯ ถือหุ้น 100% เป็นผู้ดำเนินโครงการ มีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นไปตามกำหนดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คาดว่าภายใน 30 ธันวาคม 2559 นี้

ส่วนที่คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2560 ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด (IRPC-CP) ระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กำลังการผลิตรวมกับระยะที่ 1 ทั้งสิ้น 240 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 170 – 300 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทฯ ถือหุ้นสัดส่วน 51% ,บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กำลังการผลิตไฟฟ้า 117 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทฯ ถือหุ้นสัดส่วน 25% ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ichinoseki Solar Power 1 GK (ISP1) ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 20.8 เมกะวัตต์ โดยมี FIT 40 เยนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะเวลา 20 ปี บริษัทฯ ถือหุ้นสัดส่วน 99%

ขณะที่คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2561ได้แก่ โรงผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมกลุ่มปิโตรเคมี ตั้งอยู่บริเวณนิคมเอเชีย จังหวัดระยอง กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทฯ ถือหุ้นสัดส่วน 100% ,บริษัท ไฟฟ้าน้ำลิก 1 จำกัด ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้น (Run-of-River Hydropower) ที่ สปป.ลาว กำลังการผลิตไฟฟ้า 65เมกกะวัตต์ บริษัทฯ ถือหุ้นสัดส่วน 40%
และคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2562 ได้แก่ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้น (Run-of-River Hydropower) ที่ สปป.ลาว กำลังการผลิตไฟฟ้า1,285 เมกกะวัตต์ บริษัทฯ ถือหุ้นสัดส่วน 25%