สถาบันอาหาร ชี้ค้าปลีกอาหารในซาอุฯแนวโน้มดี

09 พ.ค. 2559 | 07:38 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

panda นายยงวุฒิ  เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า  ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร(http://fic.nfi.or.th) ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจ ค้าปลีกอาหารในซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็น 1 ใน 6 ของกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับหรือ GCC (ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน) พบว่า ในภาพรวมระหว่างปี 2557 ถึง 2562 ปริมาณการบริโภคอาหารในกลุ่มประเทศ GCC คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.5  โดยคาดว่าในปี 2562 ปริมาณการบริโภคอาหารทั้งภูมิภาคจะอยู่ที่ 51.9 ล้านเมริกตัน เนื่องจากมีการขยายตัวของประชากร คาดว่าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.4 จาก 50 ล้านคน ในปี2558 เป็น 57.6 ล้านคน ในปี 2562  ทั้งมีแนวโน้มที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 ในปี 2562  ขณะที่รายได้ของประชากรในกลุ่มประเทศGCC คาดว่าต่อคนต่อหัวจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.5 ในปี 2562  ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกบริโภค โดยจะสนใจซื้ออาหารที่มีราคาสูงเพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์        เนื้อหมัก นมปรุงแต่ง และอาหารพร้อมปรุง  ส่วนธัญพืชเป็นหมวดสินค้าอาหารที่มีการบริโภคมากที่สุดในภูมิภาค โดยคาดว่าในปี 2562จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 46.5 ของปริมาณการบริโภคอาหารทั้งหมด

กล่าวเฉพาะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC  หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการบริโภคอาหารทั้งหมด สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของประชากรในประเทศ โดยมีจำนวนประชากรเกือบ2 เท่าของสมาชิกที่เหลืออีก 5 ประเทศรวมกัน ทั้งยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารและการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC คือราวร้อยละ 80 ของความต้องการบริโภคในประเทศ คาดการณ์ว่าซาอุดิอาระเบียจะมีประชากรประมาณ 40ล้านคนในปี 2568 ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 3 ต่อปี นอกจากนี้ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยให้รายได้ต่อหัวของคนในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต และมีความต้องการการบริโภคสินค้าอาหารที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น ในปี 2559 คาดการณ์ว่าการบริโภคอาหารในประเทศจะมีมูลค่าอยู่ที่ 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเพิ่มขึ้นของประชากรในวัยหนุ่มสาวของสังคมซาอุดิอาระเบียเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความต้องการบริโภคอาหารสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ประกอบกับสังคมเมืองในซาอุดิอาระเบียที่มีชีวิตรีบเร่ง ผู้บริโภคจึงนิยมซื้ออาหารพร้อมทานหรืออาหารที่นำกลับไปรับประทานที่บ้านจากซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านแทน

ปัจจุบันจำนวนไฮเปอร์มาร์เก็ตในซาอุดิอาระเบียยังมีค่อนข้างน้อยหรืออยู่ที่ประมาณ 220 แห่ง อาทิ Panda, Carrefour, Danube เป็นต้น  ซูเปอร์มาร์เก็ตมีประมาณ  680 แห่ง อาทิ Panda, Al-Othaim, Farm,  Al Raya, Tamimi, Bin Dawood เป็นต้น ส่วนร้านสะดวกซื้อมีอยู่ประมาณ 39,540 แห่ง อาทิ Pandaเป็นต้น มีสัดส่วนยอดขายคิดเป็นร้อยละ 22 ร้อยละ 23 และร้อยละ 55 ของยอดขายปลีกอาหารทั้งหมดตามลำดับ จากการขยายตัวของร้านค้าปลีกโดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต คาดการณ์ว่าในปี 2560 ยอดขายปลีกอาหารจะแตะอยู่ที่  45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายของภาครัฐ โดยองค์กรส่งเสริมการลงทุนแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย(Saudi Arabian General Investment Authority - SAGIA) ได้ออกกฎระเบียบใหม่ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ 100% ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งซาอุดิอาระเบีย โดยจะเริ่มใช้ในปี 2559 ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในซาอุดิอาระเบียมากยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลดีในหลายๆด้าน เช่น การปรับโครงสร้างของภาคธุรกิจในซาอุดิอาระเบีย การเพิ่มผลผลิต การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานของคนในซาอุดิอาระเบีย

“สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจนำสินค้าอาหารเข้าสู่ตลาดซาอุดิอาระเบีย ควรเป็นสินค้าอาหารพร้อมทานที่มีความสะดวกและง่ายในการรับประทาน อีกทั้งควรวางจำหน่ายในช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะเป็นช่องทางหลักที่ผู้โภคในเมืองเลือกซื้อสินค้า ทั้งนี้ควรตั้งราคาจำหน่ายให้ใกล้เคียงกับประเทศที่ส่งสินค้าไปขายในภูมิภาคนี้ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงค์โปร์ เน้นผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และมองหาสินค้าที่มีคุณภาพสูง  และจากจำนวนประชากรในวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มจำนวนขึ้นในกลุ่มประเทศGCC ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และ Twitter      มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสนใจกับช่องทางนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง และเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าได้อีกทางหนึ่ง  อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบการส่งออกสินค้าอาหารไปยังกลุ่มประเทศ GCC เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างส่งออกสินค้า เช่น เอกสารและหนังสือรับรองที่ต้องใช้ในการนำเข้าสินค้า ระบบการควบคุมสินค้าอาหารตามระดับความเสี่ยง ระบบการขนส่งสินค้า การสุ่มตัวอย่างสินค้าอาหาร และการติดฉลากสินค้าอาหาร “