ไทยจัดเต็ม 1 ปีแก้ไอยูยู ลุ้นสภายุโรปปลดใบเหลือง

11 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
จากที่สหภาพยุโร(อียู)ได้ให้ใบเหลืองแจ้งเตือนประเทศไทยเร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) มาครบ 1 ปีเต็ม (อียูให้ใบเหลืองประเทศไทยเมื่อ 21 เม.ย.58) ท่ามกลางกระแสข่าวกระพืออียูไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของไทยและขู่จะให้ใบแดงมีออกมาเป็นระยะ อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยมีความคืบหน้าแค่ไหน และทิศทางแนวโน้มต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์ "พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์" รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะโฆษกศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่วงในและรู้เรื่องนี้ดีที่สุด ดังรายละเอียด

1 ปีเดินตามมาตรฐานFAO

พล.ร.ท.จุมพล กล่าวว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูของไทยได้มีการวางแผนปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาตามมาตรฐานสากลอย่างเต็มที่ โดยยึดตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS 1982) ภายใต้องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)ซึ่งอียูได้นำหลักการของ FAO มาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาและให้คำแนะนำกับประเทศต่างๆ ที่มีการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งไทย

อย่างไรก็ดีในส่วนของประเทศไทยรอบ 1 ปีได้มีการวางระบบและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไอยูยูในหลายเรื่องที่สอดคล้องกับหลักการของ FAO ที่สำคัญได้แก่ 1.การออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 ต่อด้วยการออกกฎหมายลูกที่เรียกว่า "อนุบัญญัติ" อีก 91 ฉบับ ซึ่งความคืบหน้าได้ออกกฎหมายลูกแล้วเสร็จและบังคับใช้ไปแล้ว 49 ฉบับ ส่วนที่เหลือจะเร่งดำเนินการร่างให้แล้วเสร็จภายใน 15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งมีทั้งประกาศกรมประมง บางอันเป็นประกาศกระทรวง บางอันเป็นประกาศจังหวัด ที่ประกาศและบังคับใช้ได้เลย แต่บางอันต้องผ่านกฤษฎีกาเพื่อสู่ขั้นตอนของการออกฎหมายต่อไป

เรื่องที่ 2 การบังคับใช้กฎหมาย หลังจากที่ ศปมผ.ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ได้มีการตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกท่าเรือ (PIPO) 28 ศูนย์และมีหน่วยเฉพาะกิจเพื่อตรวจเรือในทะเลทั้งในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน อ่าวไทยตอนล่าง และทะเลอันดามัน และมีการบังคับให้เรือประมงพาณิชย์ขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือ(VMS) เรื่องที่ 3 ได้มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรประมงแห่งชาติ (FMP) หรือแผนแม่บทการทำประมงตามมาตรฐาน FAO ซึ่งได้แล้วเสร็จแล้ว และยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ต่อเนื่องด้วย เรื่องที่ 4 การจัดตั้งคณะทำงานแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยู (NPOA-IUU) และเรื่องที่ 5 การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) สินค้าประมงไทย โดยล่าสุดได้มีการลงนามระหว่างองค์การสะพานปลากับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทยในความร่วมมือจัดทำหนังสือการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำอิเล็กทรอนิกส์(E-MCPD) นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีพันธกรณีร่วมกับองค์กรประมงในภูมิภาค เช่น คณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย(IOTC) เพื่อให้การทำประมงของไทยถูกต้องตามหลักสากล

เร่ง 65 งานตามคำแนะนำ

"ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง เพื่อวางระบบในการแก้ไขปัญหาจากที่เราเคยมีมาก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา หลายเรื่องเรียบร้อยแล้ว หลายเรื่องต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปตามข้อแนะนำระหว่างประเทศ ซึ่งอียูได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำเราในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2559 ได้มาติดตามงานครั้งสุดท้ายก็ได้ให้คำแนะนำเราให้ดำเนินการรวม 65 งาน ซึ่งส่วนใหญ่งานทั้งหมดก็อยู่ภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรประมงแห่งชาติของไทยอยู่แล้ว แต่อันไหนที่เขาเห็นว่าเราช้า เขาก็มาเร่งรัด"

ทั้งนี้แบ่งเป็นกลุ่มงานที่ต้องทำทันที 25 งาน, กลุ่มงานที่ต้องทำใน 1 เดือน 4 งาน, กลุ่มงานที่ต้องทำใน 3 เดือน 25 งาน และต้องทำใน 6 เดือน 5 งาน และถึงสิ้นปีอีก 6 งาน ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่แต่ละเนื้องานมีความต้องการใช้เวลาแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น ผู้เชี่ยวชาญอียูได้แนะนำให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ในศูนย์ PIPO ซึ่งขณะนี้ก็ได้อนุมัติไปแล้ว 200 อัตรา แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกคนและสร้างความรู้ความเข้าในวิธีการปฏิบัติงาน ขณะนี้ภาพรวมในส่วนของงานที่ต้องเสร็จทันทีก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วน 4 รายการที่ต้องเสร็จใน 1 เดือนก็เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ต้องเสร็จใน 3 เดือน 25 รายการก็เสร็จไปแล้ว 15 รายการ เหลืออีก 10 รายการ เป็นต้น

 ส่งคืนก.เกษตรแม่งานหลัก

"งานทั้งหมด ศปมผ.เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งจากเดิมที่ ศปมผ.ทำงานในลักษณะเฉพาะกิจ และต้องรายงานท่านรองนายกฯ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และรายงานท่านนายกรัฐมนตรี ในลักษณะเดิมที่ใช้คำสั่ง คสช. แต่หลังจากที่มีกฎหมายประมงบังคับใช้ชัดเจนแล้ว และมีการวางระบบต่างๆ แล้ว ล่าสุดได้มีการโอนเนื้องานที่ ศปมผ.ทำอยู่เดิม กลับสู่สายงานปกติหรือหน่วยปฏิบัติประจำ ไปให้กับท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ(พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ)ในฐานะเจ้ากระทรวงที่ดูแลงานของกรมประมง ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีคำสั่ง คสช. มอบให้รัฐมนตรีเกษตรฯเป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเรืองไอยูยู แต่ผู้บัญชาการ ศปมผ.โดยท่านผู้บัญชาการทหารเรือยังดูแลในภาคปฏิบัติในฐานะรองประธานอนุฯ และมีท่านปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นเลขานุการคณะอนุฯ มีอธิบดีกรมประมงเป็นผู้ช่วยเลขาฯ

ลุ้นผลอียูติดตามงานออกมาดี

ทั้งนี้ในการประชุม ศปมผ.ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัยได้มาร่วมประชุมแบบเต็มคณะเพื่อติดตามความคืบหน้าของแต่ละเนื้องาน เพื่อสรุปให้กับคณะเจรจาแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยที่มีดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นหัวหน้าคณะจะได้นำไปหารือกับคณะผู้แทนของกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงของอียู(DG MARE) ที่ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำไทย เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินการของไทยกับทางอียูในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ว่าไทยทำได้ตามมาตรฐานและยังไม่ได้มาตรฐานตรงไหน และจะให้คำแนะนำไทยอย่างไร ก่อนที่ทางผู้เชี่ยวชาญจะรวบรวมข้อมูลนำเสนอให้สภาอียูพิจารณาในโอกาสต่อไปซึ่งยังไม่ทราบวันเวลาที่แน่ชัด อย่างไรก็ดีสภาอียูเพิ่งประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 บอกชัดเจนยังไม่เคยพูดเรื่องให้ใบแดงไทย แต่ระบุยังคงให้ใบเหลือง โดยเห็นว่าไทยมีความตั้งใจจริงการแก้ไขปัญหาซึ่งต้องใช้เวลา

คนให้เหลือง-แดงคือสภาอียู

ที่ผ่านมามีข่าวสับสนหลายเรื่อง เกี่ยวกับเรื่องอียูจะให้ใบเหลืองต่อหรือไม่ จะมีเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า ถึงขนาดบอกเขาให้ใบแดงแล้วใช่มั้ย อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพื่อป้องกันความสับสนอยากจะอธิบายสั้นๆ ว่า ภาพของการให้ใบเหลือง หรือใบแดงขึ้นอยู่กับสภายุโรป ซึ่งผู้แทนในสหภาพยุโรปจะจัดผู้แทนของตัวเองมาอยู่ในสภานี้แล้วส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอยูยูซึ่งเป็นกลุ่มคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำเรา และจะติดตามการแก้ไขปัญหาของเรากลับไปรายงานที่สภายุโรป ซึ่งสภายุโรปจะให้เหลือง ให้แดง ให้อะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องของสภา เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับอาจารย์ตรวจเอกสารวิทยานิพนธ์ให้เรา เขาก็จะดูว่า เนื้องานของเราเป็นอย่างไร แล้วอาจารย์ก็จะรายงานผลการศึกษาของเราไปที่สภามหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยจะเป็นคนตัดสินว่าเราผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งจะเป็นในลักษณะเดียวกัน

พล.ร.ท.จุมพล กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยในครั้งนี้ไม่ได้ตอบโจทย์อียูเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการยกระดับมาตรฐานประมงไทยสู่ระดับสากล และเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับคืนมาอย่างยั่งยืน แน่นอนว่าย่อมมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการเยียวยาก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องดูแลควบคู่กันไป ระหว่างนี้เป็นช่วงของการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติคือชาวประมง กับผู้บังคับใช้กฎหมายคือภาครัฐ ซึ่งจะมีครบทั้งหมดทั้งกฎหมายแรงงาน กฎหมายประมง กฎหมายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการจัดระเบียบการทำประมงครั้งแรกของประเทศ หากไทยสอบผ่านก็เหมือนกับเราได้ มอก.จะขายสินค้าให้ตลาดไหนก็ได้ ซึ่งในแง่คนทำงานมองว่าเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559