ปตท.อัดอีก 2 แสนล้านใน 5 ปี ลุยโครงสร้างพื้นฐานท่อก๊าซฯและคลังรองรับนำเข้าแอลเอ็นจีพุ่ง

10 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
ปตท.ทุ่ม 2 แสนล้านบาท ลุยโครงสร้างพื้นฐานท่อส่งก๊าซธรรมชาติ-คลัง รองรับนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่ม หากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิด ล่าสุดเตรียมลงทุนคลังแอลเอ็นจีเฟส2 เงินลงทุน 3.8 หมื่นล้านบาท และ FSRU ภาคใต้และเมียนมา แห่งละ 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซปีนี้เติบโต 1% จากปีก่อน

[caption id="attachment_51293" align="aligncenter" width="433"] นพดล ปิ่นสุภา  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ  บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นพดล ปิ่นสุภา
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี 2015) ว่า ตามกรอบแผนในช่วง 5 ปี(2559-2563)ปตท.จะใช้เงินลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บนบกเส้นที่ 5 จาก จ.ระยอง ไปยังระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ผ่าน อ.ไทรน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา - โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ / พระนครใต้ ขนาดท่อ 42 นิ้ว กำหนดแล้ว และโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก จากสถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติราชบุรี - วังน้อยที่ 6 (RA#6) ไปยัง จ.ราชบุรี ขนาด 30 นิ้ว กำหนดแล้วเสร็จปี 2564 มูลค่าลงทุนรวม 1.1 แสนล้านบาท

การลงทุนโครงการคลังแอลเอ็นจี(LNG Receiving Terminal) เฟส 2 จ.ระยอง ขนาด 5-7.5 ล้านตัน ใช้เงินลงทุน 3.6-3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเลือกขนาดลงทุนว่าจะเป็น 5 ล้านตัน หรือ 7.5 ล้านตันนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งสัมปทานก๊าซที่จะหมดอายุลง ปัจจุบันการลงทุนคลังแอลเอ็นจีเฟสที่ 2 อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ และคาดว่าจะสามารถเริ่มจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) ภายในกลางปีนี้ และคงใช้ระยะเวลา 2 ปี จากนั้นก็เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2561 อย่างไรก็ตามคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 หากจำเป็นต้องขยายในอนาคตจะสามารถขยายได้มากถึง 15 ล้านตัน

โครงการคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ (พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา หรือ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง) หากเป็นขนาด 3 ล้านตัน จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และโครงการ FSRU ที่เมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน เงินลงทุน 2.5 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นทางรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างหารือกับทางรัฐบาลเมียนมา ซึ่งปัจจุบันยังรอความชัดเจนจากทางเมียนมา โดยโครงการ FSRU ในเมียนมา จะสามารถรองรับก๊าซจากแหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้าที่จะทยอยลดกำลังการผลิตลง รวมทั้งยังสามารถใช้ท่อส่งก๊าซจากจากเมียนมา มายังไทยด้วย

นอกจากนี้ยังมีโครงการคลังแอลเอ็นจีเฟส 1 ส่วนขยาย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติให้ขยายเพิ่มจาก 10 ล้านตัน เป็น 11.5 ล้านตัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก 1 พันล้านบาท สำหรับสาเหตุที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการขยายในส่วนของคลังเท่านั้น ไม่ได้ลงทุนถังและท่าเรือเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าวสามารถขยายคลังใหม่ได้ถึง 5 ล้านตัน ส่วนกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ศึกษาโครงการ FSRU เพื่อป้อนแอลเอ็นจีโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อดูว่าจะสามารถจัดหาต้นทุนต่ำกว่ารับซื้อจาก ปตท.หรือไม่ ซึ่งไม่ได้กระทบต่อแผนลงทุนของ ปตท. แต่อย่างใด

นายนพดล กล่าวอีกว่า ขณะที่ปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 2.64 ล้านตัน โดยแนวโน้มพบว่าความต้องการใช้แอลเอ็นจีในไทยจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยตามแผนพีดีพี 2015 พบว่าในปี 2579 จะอยู่ที่ 22 ล้านตัน แต่ส่วนตัวเห็นว่าหากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ล่าช้าออกไป อาจมีความเป็นไปได้ที่ความต้องการใช้แอลเอ็นจีจะมากกว่าแผน ดังนั้น ปตท.จะอาศัยจังหวะที่ราคาแอลเอ็นจีในตลาดลดลงในช่วง 3-5 ปีนี้ เจรจากับผู้ขายเพื่อทำสัญญาระยะยาว ทั้งเชลล์และบีพีรายละ 1 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเซ็นสัญญาและรับก๊าซในปี 2560 รวมทั้งเจรจากับปิโตรนาสในการซื้อแอลเอ็นจี รวมทั้งขอเข้าไปถือหุ้นในแหล่งก๊าซแอลเอ็นจีด้วย

สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศปีนี้ จะเติบโตจากปีก่อนเล็กน้อย หรือประมาณ 1% อยู่ที่ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เทียบกับยอดใช้ก๊าซปี 2558 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.8 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซในภาคไฟฟ้ายังทรงตัว ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี)ลดลง แต่ก๊าซสำหรับอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ก๊าซจะเพิ่มขึ้น 2-3% จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนกรณีที่กลุ่มโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก(เอสพีพี) โครเจนฯ ที่ขายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ลดกำลังการผลิตลงนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดใช้ก๊าซ เพราะแม้ว่าเอสพีพีจะผลิตลดลง แต่การผลิตไฟฟ้าก็จะเพิ่มในส่วนอื่นเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559