SCG ยํ้าปักฐานยึดอาเซียน หวังขึ้นเป็นผู้นำใน 3 ธุรกิจ

10 พ.ค. 2559 | 10:00 น.
เปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ของนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ที่ได้เข้ามาบริหารงานมากว่า 4 เดือน แทนกานต์ ตระกูลฮุน ที่หมดวาระไป ซึ่งได้ยอมเปิดใจให้สัมภาษณ์อย่างจริงๆ จัง เป็นครั้งแรก ถึงวิสัยทัศน์ในการทำงานตลอดช่วง 8-9 ปี จากนี้ไป ที่ตั้งเป้าการเติบโตให้กับเอสซีจี ไม่ต่ำกว่าปีละ 5%

 รุกเติบโตในตลาดอาเซียน

นายรุ่งโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาและที่กำลังจะก้าวไป เอสซีจี ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญการดำเนินธุรกิจกับอาเซียนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการเติบโตค่อนข้างสูงและถือเป็นตลาดหลักที่ทำรายได้ให้กับเอสซีจี ถึง 23 % ของรายได้รวม

ทั้งนี้ มองว่าด้วยประชากรที่มีอยู่กว่า 600 ล้านคน เมื่อเทียบกับไทยที่มีกว่า 65 ล้านคน หรือกว่า 10 % ของอาเซียน และมีกำลังซื้อเพียง 20% ดังนั้น ศักยภาพของอาเซียนยังมีโอกาสเติบโตได้อีกหลายเท่าตัว ซึ่งวันนี้การเข้าไปดำเนินงานในอาเซียนของเอสซีจี ถือว่าเป็นเพียงเริ่มต้นของการเดินทาง ที่ต่อไปยังสามารถเข้าไปลงทุนพัฒนาได้อีกมาก โดยเอสซีจีมีเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นผู้นำของอาเซียนในการดำเนินธุรกิจทั้งปูนซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ให้ได้

 ผุดโรงงานปูนให้ครบทุกประเทศ

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีสัดส่วนสร้างรายได้ให้กับเอสซีจีอยู่ราว 39% ที่จะไปตอบโจทย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ปัจจุบันแต่ละประเทศยังขาดการลงทุนด้านนี้อีกมากอย่างอินโดนีเซีย กำลังการผลิตในประเทศมีเพียง 20 % ของความต้องการที่ 100 ล้านตันต่อปี ทำให้ที่เหลือต้องนำเข้า ทางเอสซีจี เห็นช่องทางการเติบโตก็ได้เข้าไปลงทุนโรงงานปูนซีเมนต์ กำลังการผลิต 1.8 ล้านตันต่อปี รวมถึงการตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ขนาด 2 ล้านตันต่อปีในกัมพูชาด้วย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ได้เปิดเดินเครื่องผลิตแล้ว ส่วนโรงงานที่เมียนมา กำลังผลิต 1.8 ล้านตัน จะเปิดเดินเครื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และโรงงานที่สปป.ลาว กำลังผลิต 1.8 ล้านตัน จะเปิดเดินเครื่องช่วงกลางปี 2560 ส่วนในเวียดนามนั้นเอสซีจีก็อยู่ระหว่างการศึกษาเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานปูนซีเมนต์เช่นกัน เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ความต้องการสูงถึงปีละกว่า 60 ล้านตัน ทำให้เอสซีจีต้องเข้าไปสร้างฐานในการผลิตรองรับการเติบโต

 สร้างฐานธุรกิจปิโตรเคมี

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจเคมิคัล มีสัดส่วนสร้างรายได้ราว 44 %ได้เข้าไปปักฐานอยู่ในอินโดนีเซีย โดยมีสัดส่วนหุ้นอยู่ราว 30 % ในปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ของบริษัท พีที จันทรา แอสซรีฯ (ผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจรที่อินโดนีเซีย) มีกำลังการผลิตราว 20.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงมีศักยภาพที่จะเข้าไปพัฒนาธุรกิจได้อีก โดยเฉพาะการเข้าไปสร้างฐานของเอสซีจีเอง ที่จะลงทุนในปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ แม้ว่าการดำเนินงานจะล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ล้มโครงการไป ซึ่งคาดว่าภายในกลางปีนี้ น่าจะหาผู้ถือหุ้นรายใหม่ แทนบริษัท กาตาร์ปิโตรเคมี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ที่ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ได้

นอกจากนี้ จากการเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติกส์ ของประเทศ มีการออกไปรุกตลาดในประเทศซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการรุกเข้าไปสู่จีนตอนใต้ เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะต้องใช้การขนส่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาที่สำคัญ และถือเป็นการขยายฐานจากที่เอสซีจีมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว

ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีไทยเป็นตลาดหลักอยู่ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 17 % ปัจจุบันก็ได้ขยายฐานการผลิตไปเวียดนาม แล้ว และเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตค่อนข้างมาก เพราะมีการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับการบรรจุใช้ในการขนส่ง ซึ่งเอสซีจีจะต้องสร้างฐานในธุรกิจนี้ในประเทศต่างๆ ให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งมีโอกาสค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในการสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และสามารถตอบโจทย์ความต้องการระดับกลางไปจนถึงระดับล่างได้ด้วย

 10 ปีขึ้นผู้นำอาเซียน

ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุนที่เอสซีจีวางไว้ปีละ 5 หมื่นล้านบาท จะเข้าไปใช้สำหรับการลงทุนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจปูนซีเมนต์-วัสดุก่อสร้าง ที่จะไปอาศัยในการร่วมทุนกับพันธมิตรหรือเข้าซื้อกิจการได้เลย เพราะจะทำให้มีผลตอบแทนคืนมาได้เร็ว ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี นั้น อาจจะมีการลงทุนเอง หลังจากนี้ไป โดยเฉพาะในเวียดนาม ที่ปัจจุบันยังไม่มีโรงงานปิโตรเคมีเกิดขึ้นมากนัก ก็เป็นโอกาสที่จะไปลงทุนรองรับตลาดส่วนนี้ได้ ส่วนปิโตรเคมีที่เป็นการร่วมทุน 30 % กับบริษัท พีที จันทรา แอสซรีฯ คงยังไม่เพียงพอ ก็จะมีปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ขึ้นมารองรับ สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ก็สามารถหาพันธมิตรที่ดีได้ ก็สามารถเข้าซื้อกิจการได้ เพราะจะช่วยให้เข้าสู่ตลาดได้รวดเร็วหรือหากไม่มีรายใดที่เหมาะสม ก็อาจจำเป็นต้องลงทุนขึ้นมาใหม่เอง

ดังนั้น ใน 3 ธุรกิจที่เอสซีจีมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใหม่หรือการเข้าซื้อกิจการ เอสซีจีมีเป้าหมายที่จะต้องเข้าไปแทรกในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ครบ เพราะต้องเข้าใจว่า เทรนด์อุตสาหกรรมต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและกำลังเดินก้าวไปในการวางฐานการผลิตหรือตลาด จะช่วยให้เอสซีจีสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในอาเซียนได้ ในเวลาไม่เกิน 10 ปี โดยตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตในภูมิภาคนี้ไว้ปีละไม่ต่ำกว่า 5% ของรายได้รวม

 เสริมกำลังคน-วิจัยรองรับ

อย่างไรก็ตาม การจะไปสู่จุดนั้นได้ ไม่เพียงการใส่เม็ดเงินลงทุนเข้าไปเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญด้านบุคลากรด้วย ที่จะต้องเตรียมบุคลากรมารองรับการก้าวกระโดดของธุรกิจ และการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง การสอนหรือฝึกอบรมให้พนักงานมีความเข้าใจลงลึกรายละเอียดในแต่ละงานที่ตนเองทำอยู่ เพื่อจะได้ทราบว่าแต่ละคนมีความถนัดและมีความสามารถในแบบไหน เพราะแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องหาคนที่เหมาะกับงาน นอกจากนี้ จะต้องให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมหรือกล้าแสดงความคิดเห็นต่องานและผู้บังคับบัญชา เพื่อที่ผู้บริหารจะได้เข้าใจความรู้ ความสามารถของลูกน้องตัวเองได้อีกทั้ง การสร้างนวัตกรรม ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในเวลานี้ เพราะเอสซีจีที่เติบโตได้ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรืออาร์แอนด์ดี เพื่อผลิตสินค้าไปสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า หรือเป็นการฟังเสียงของลูกค้า มากกว่าที่จะผลิตสินค้าตามใจบริษัท ซึ่งในส่วนนี้ก็จะต้องดึงพนักงานเข้ามามีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจ และเรียนรู้ไปกับงาน เพื่อให้เข้าใจถึงแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559