ยกเครื่องระบบ ATM ครั้งใหญ่ เริ่ม16 พ.ค.เปลี่ยนแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ดรับอี-เพย์เมนต์

11 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
แบงก์ชาติ-สมาคมธนาคารไทย ประกาศความพร้อมยกเครื่องระบบเอทีเอ็ม พร้อมใช้บัตรชิปการ์ด ระบุสิ้นปีนี้ 6 หมื่นเครื่องทั่วประเทศ พร้อมใช้งาน 100% เล็งปี 62 โละบัตรแถบแม่เหล็ก 60 ล้านใบหมด ด้าน "ปรีดี" ลั่น ค่าธรรมเนียมเปลี่ยนบัตรคงอัตราเดิมไม่เก็บเพิ่ม ชี้ ระบบแบงก์ลงทุนครั้งนี้ เพื่อเดินหน้าระบบชำระเงินของไทยเชื่อมอี-เพย์เมนต์ของรัฐบาล มั่นใจบัตรใหม่มีเพียงพอรองรับ คาดใน 1 ปี เปลี่ยนได้ 10-12 ล้านใบ ฟาก "ไทยพาณิชย์" เตรียมพร้อมทันตามนโยบาย

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง หลังจากคณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.) ได้มีข้อตกลงในการกำหนดนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตจากแถบแม่เหล็กให้เป็นชิปการ์ดในปี 2556 โดยนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศจะเป็นแบบชิปการ์ดทั้งหมด ส่วนบัตรแบบเดิมที่เป็นแถบแม่เหล็กประมาณ 60 ล้านใบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันธนาคารจะเริ่มทยอยเปลี่ยนให้ครบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งตอนนี้บัตรเดิมยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดสามารถปรับเปลี่ยนระบบไปแล้วกว่า 80-90% อาจจะมีบางส่วนที่จะต้องลงทุนในการซื้อเครื่องใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาแต่คาดว่าสิ้นปีนี้ทุกเครื่องจะเปลี่ยนครบทั้งหมด

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและเดบิตมาเป็นชิปการ์ดนั้น เพื่อช่วยให้ผู้ถือบัตรมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะบัตรดังกล่าวสามารถป้องกันการถูกคัดลอกข้อมูลและโจรกรรมข้อมูลจากบัตร เนื่องจากบัตรชิปการ์ดจะถูกคัดลอกข้อมูลได้ยากกว่าบัตรแถบแม่เหล็ก ซึ่งในต่างประเทศมีการปรับเปลี่ยนบัตรเป็นชิปการ์ดแล้ว เช่น ในทวีปยุโรป ส่วนมาเลเซียเปลี่ยนตั้งแต่ปี 2547 และสิงคโปร์ เปลี่ยนในปี 2553 อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการป้องกันในบัตรชิปการ์ดอาจจะไม่ได้ทั้ง 100% เพราะกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีก็มีการพัฒนาตามไปด้วย จึงต้องมีวิธีการป้องกันตามไป

ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนดังกล่าวยังเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดเรื่อง National E-Payment ของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการให้สามารถทำได้อย่างราบรื่นขึ้นตามแผนเพย์เมนต์โรดแมป เพราะบัตรชิปการ์ดถือเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่ง โดยจะสอดคล้องกับโครงการอี-เพย์เมนต์ของรัฐบาลในโครงการที่ 2 เรื่องการวางเครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่อง M-Pos จำนวน 2 ล้านเครื่อง หลังจากทำเรื่องของ Any-ID ที่สามารถทำธุรกรรมผ่านเลขที่บัตรบัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยลดการใช้เงินสดลง จะเห็นว่าภายหลังจากมีนโยบายการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ปริมาณการพิมพ์ธนบัตรของธปท.ลดลงเกือบล้านฉบับจากปกติจะพิมพ์ธนบัตรเฉลี่ยปีละ 3 พันล้านฉบับ ปัจจุบันเหลือเพียง 2 พันล้านฉบับ นอกจากนี้ยังเป็นเชื่อมโยงระบบการชำระเงินให้เทียบเท่าระบบสากลตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 (มาสเตอร์แพลน) ของธปท.

"ภายหลังจากการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จะส่งผลต่อค่าธรรมเนียมที่จะถูกลง ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์กลับด้านอยู่ โดยธนาคารมีต้นทุนค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการหลังบ้านที่ทำธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์สาขาธนาคาร แต่ปัจจุบันไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากตรงนี้ได้ ซึ่งหากประชาชนทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และมีการกระตุ้นจากภาครัฐจะทำให้ค่าธรรมเนียมจะต้องถูกลง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมีการพูดคุยกันอีกรอบ"

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในระบบได้มีการปรับปรุงระบบเครื่องเอทีเอ็มให้สามารถรองรับบัตรชิปการ์ดได้แล้วประมาณ 86% จากทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 6 หมื่นเครื่อง และคาดว่าจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ส่วนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม นี้จะเริ่มใช้บัตรชิปการ์ด ส่วนบัตรแถบแม่เหล็กธนาคารแต่ละแห่งจะทำการทยอยเปลี่ยนบัตรให้ลูกค้า โดยภายในสิ้นปี 2562 บัตรแถบแม่เหล็กที่มีอยู่กว่า 60 ล้านใบ จะถูกเปลี่ยนมาใช้เป็นบัตรชิปการ์ดทั้งหมด ถือว่าเป็นจุดเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบอี-เพย์เมนต์ และต่อยอดระบบการชำระเงินของประเทศไทยในอนาคต

สำหรับในส่วนของค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนบัตรนั้น แม้ว่าแต่ละธนาคารจะมีการเรียกเก็บค่าบัตรแต่ละประเภทไม่เท่ากัน แต่ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะยังคงอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเท่าเดิม ไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เช่น ธนาคารกสิกรไทย บัตรเดบิต จะเรียกเก็บค่าบัตร 200 บาท และอัตราแรกเข้า 100 บาท เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพที่เรียกเก็บค่าบัตร 200 บาท แรกเข้า 100 บาท ส่วนธนาคารกรุงไทย มีบัตรหลายประเภท ขั้นต่ำสุดค่าบัตรอยู่ที่ 230 บาท แรกเข้า 100 บาท เป็นต้น จะเห็นว่าอัตราการเรียกเก็บค่าทำบัตรใหม่ยังคงอัตราเดิมที่เหมือนเรียกเก็บการทำบัตรแถบแม่เหล็ก ส่วนจะอยู่ในอัตราเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับธนาคารแต่ละแห่ง เนื่องจากมีการเรียกเก็บที่แตกต่างกัน ส่วนสิทธิประโยชน์ยังคงเดิม เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมการถอนเงินต่างธนาคารได้จำนวน 4 ครั้ง แต่ไม่สามารถทำยอดในต่างประเทศได้ เป็นต้น

"ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรแต่ละแห่งจะเก็บไม่เท่ากัน แต่การเก็บนั้นนั้นจะคงอัตราเดิมที่คิดไว้ ไม่มีการปรับขึ้นแม้จะเป็นบัตรชิปการ์ด อย่างไรก็ดี การจะขึ้นค่าธรรมเนียมอะไรธนาคารไม่สามารถจะเก็บหรือขึ้นได้ทันที จะต้องมีประกาศจากธปท.ก่อนถึงจะทำได้ ซึ่งครั้งนี้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีการลงทุนทำระบบใหม่ เพื่อระบบการชำระเงินของประเทศ ซึ่งจะเห็นธปท.และสมาคมธนาคารไทยทำเรื่องอื่นๆ ตามมาอีก โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่จะเห็นออกมาเรื่อยๆ หลังจากนี้ ส่วนเรื่องจำนวนบัตรชิปการ์ดที่จะมาใช้แทนนั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหาในเรื่องจำนวนไม่พอ เพราะแต่ละธนาคารมีไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว และมีระยะเวลาการเปลี่ยนจนถึงปี 2562 ลูกค้าสามารถทยอยมาเปลี่ยนตามอายุบัตรได้"

นายยศ กิมสวัสดิ์ หัวหน้าคณะทำงานระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวเสริมว่า การปรับเปลี่ยนมาใช้บัตรชิปการ์ดนั้น ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) อีก 4 แห่ง จะต้องมีการลงทุนในการปรับปรุงและเปลี่ยนระบบด้วยกัน 4 เรื่อง คือ การปรับระบบงานหลังบ้าน เรื่องการทำบัตรใหม่ เรื่องการรับบัตร และการเปลี่ยนบัตร ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนค่อนข้างมาก เพราะบางธนาคารอาจจะต้องมีการลงทุนซื้อเครื่องหรือระบบใหม่ ซึ่งโดยรวมมูลค่าการลงทุนอยู่ในหลักพันล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถออกบัตรชิปการ์ดได้ประมาณ 4-5 ล้านใบ และภายใน 1 ปี จะเพิ่มเป็น 10-12 ล้านใบ อย่างไรก็ดี ในช่วงการเปลี่ยนระบบชิปการ์ดในช่วง 4-5 เดือนแรก ต้องทำการสื่อสารให้ประชาชนคุ้นเคยก่อน และจะมีการปรับเปลี่ยนระบบเป็น Chip&Pin ที่จะช่วยป้องกันความปลอดภัย 2 เท่า จากเดิมที่เป็นชิปและเซ็น

นางสาวพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อมเรื่องระบบ และการปรับเปลี่ยนเครื่องเอทีเอ็มให้สามารถรองรับบัตรชิปการ์ดได้ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย โดยระบบพร้อมออกบัตร Debit Chip Card ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมตามนโยบายของธปท. และเครื่องเอทีเอ็มตู้ทั้งหมดของธนาคารพร้อมรับบัตร Chip Card ใหม่ 100%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559