PwCเผยบจ.เกือบ40%ตกเป็นเหยื่อทุจริตองค์กร

11 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
PwC ชี้บริษัทจดทะเบียนไทยตกเป็นเหยื่อการทุจริตเรื้อรัง พบปีนี้เกือบ 40% ยอมรับตรวจพบการทุจริตสูงกว่าปีที่ผ่านมา ประเภทของการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุด 3 อันดับแรกของไทย คือ ยักยอกสินทรัพย์รั้งอันดับ 1 ที่ 78% ตามด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ 24% และการรับสินบนและคอร์รัปชัน 19%

นายวรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensic services บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอลซัลติ้ง (ประเทศไทย) หรือ PwC เปิดเผยถึงผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ PwC’s 2016 Global Economic Crime Survey: Economic crime in Thailand ประจำปี 2559 ซึ่งบริษัทเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีผู้ตอบแบบสอบถามสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 261 ราย จากครั้งก่อนมีเพียง 76 ราย ซึ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามมาจากองค์กรธุรกิจหลายประเภท ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐว่า ปีนี้มีการตรวจพบการทุจริตในบริษัทจดทะเบียนไทย(บจ.) สูงกว่าครั้งก่อน

โดยผลสำรวจพบว่า 39% ของบริษัทจดทะเบียนไทย ยอมรับว่ามีการตรวจพบการทุจริตในปีนี้ ขณะที่มีบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนเพียง 16% ที่มีการตรวจพบการทุจริต เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 41% และ 30% ตามลำดับ

สำหรับปัญหาอาชญากรรมเศรษฐกิจของไทยนั้น มีสัญญาณดีขึ้น โดยอัตราการทุจริตอยู่ที่ 26% ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 37% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มตื่นตัวร่วมกันป้องกัน ตรวจสอบ และปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ยังมีหลายองค์กรเช่นกันที่ไม่มั่นใจว่า ระบบการป้องกันของตนมีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจจับการกระทำความผิดจนอาจเป็นที่มาของอัตราการทุจริตที่ลดต่ำลงในปีนี้

ทั้งนี้จากผลสำรวจพบว่า ประเภทของการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุด 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ การยักยอกสินทรัพย์ที่ 78% ตามด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ 24% และการรับสินบนและคอร์รัปชันที่ 19%

"การยักยอกสินทรัพย์ยังคงเป็นประเภทของการทุจริตที่พบมากที่สุดในไทย โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกกว่า 10% ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลในเรื่องนี้อย่างมาก ขณะที่ผู้ที่กระทำการทุจริตส่วนใหญ่เกือบ 80% ล้วนเป็นพนักงานในองค์กรทั้งสิ้น โดยในปีนี้เราพบว่า พนักงานระดับล่างประกอบการทุจริตมากที่สุด ต่างจากปีก่อนที่ตรวจพบมากในหมู่พนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไป" นายวรพงษ์ กล่าวและว่า

การรับสินบนและคอร์รัปชันถือเป็นภัยร้ายแรงทางเศรษฐกิจที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 3ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่าอัตราการรับสินบนและคอร์รัปชัน ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 19% เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนที่ 39%

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเปิดเผยว่า 15% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยถูกถามให้จ่ายสินบนในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าว ปรับลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 28% ขณะเดียวกัน มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 9% ในปีนี้ที่ระบุว่า ตนสูญเสียโอกาสทางธุรกิจให้แก่คู่แข่งที่เชื่อว่ามีการจ่ายสินบน ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนที่ 24%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559