ถึงคิว‘ซีเอฟโอ–สมุห์บัญชี’ ก.ล.ต.ลุยต่อคุมเข้มหุ้น‘ไอพีโอ’ที่ปรึกษาโอดขาดบุคลากร

11 พ.ค. 2559 | 10:00 น.
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็น เตรียมปรับปรุงเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติ ซีเอฟโอ-สมุห์บัญชี หุ้นไอพีโอ ที่ปรึกษาทางการเงิน โอด ภาคตลาดทุนขาดแคลนบุคลากร บล.อาร์เอชบี เผยลูกค้าไอพีโอ หาผู้สอบบัญชียาก ต้องรอถึง 2 รอบบัญชี กระทบแผนเข้าตลาดล่าช้า ขณะที่วาณิชธนากร บางรายหันไปทำอาชีพส่วนตัว เป็นนักลงทุน ชี้แนวทางแก้ปัญหาต้องลงไปปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยปี 2 ด้านบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯรับบุคลากรตึง

งานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เปิดเผยว่า ก.ล.ต. มีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้บริหารสูงสุดสายงานบัญชีและการเงิน (chief financial officer: CFO) หรือซีเอฟโอ และสมุห์บัญชีของบริษัทที่เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ)และบริษัทจดทะเบียนที่เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชน

ก.ล.ต.ระบุว่า ซีเอฟโอ และสมุห์บัญชีเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำงบการเงินของบริษัทดังกล่าว โดยเกณฑ์ที่เสนอจะกำหนดให้ซีเอฟโอ และสมุห์บัญชีต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักการบัญชี มีประสบการณ์ตามที่กำหนด และมีการพัฒนาความรู้ทางบัญชีอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งกำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลการศึกษา ประวัติการอบรมด้านบัญชีและประสบการณ์การทำงาน เพื่อส่งเสริมให้บริษัทมีบุคลากรที่เหมาะสม เข้าใจบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำรายงานทางการเงินและระบบการควบคุมภายใน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของรายงานทางการเงินให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

สำหรับเกณฑ์ในการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดคุณสมบัติของซีเอฟโอ และสมุห์บัญชีของบริษัทจดทะเบียนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดทำรายงานทางการเงินและระบบการควบคุมภายใน

นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าปัจจุบันบุคลากรภาคตลาดทุน ทั้งผู้สอบบัญชี วาณิชธนากร มีจำนวนน้อย ขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินก็มีงานงานล้นมือส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับกิจการที่ต้องการจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ( mai)

ทั้งนี้การที่ผู้สอบบัญชีมีไม่มากนั้น ส่งผลให้การรับบริษัทที่จะสอบบัญชีมีเงื่อนไขมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อเงื่อนเวลา โดยบริษัทที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ยังไม่มีผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเวลานี้ จะต้องรอเวลาไปอีก 2 รอบบัญชี แทนที่จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

"การที่บุคลากรทางด้านผู้ตรวจสอบบัญชีมีค่อนข้างน้อย มีผลต่อบริษัทต้องการเข้าตลาดทั้ง SET และ mai เพราะทำให้ระยะเวลาที่ยืดออกไป เพื่อรอผู้ตรวจสอบบัญชีว่าง นอกจากนี้กว่าจะยื่นได้ผู้ตรวจสอบบัญชีเองก็ต้องใช้เวลาที่นานพอสมควรในการเข้าไปอยู่ในบริษัท ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นอุปสรรค"นายรัฐชัย กล่าวและว่า

ขณะที่ในส่วนของที่ปรึกษาทางการเงินเองก็ถือว่ามีจำนวนจำกัด โดยบริษัท หรือผู้ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในงานวาณิชธนกิจ ต่างก็เปลี่ยนแนวทาง หรือฟิลลิ่งไปทำอาชีพอื่น โดยบางรายก็หันไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือบางรายก็หันมาเป็นนักลงทุน ทำให้ความต้องการซึ่งหมายถึงบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และซัพพลายซึ่งหมายถึงผู้สอบบัญชี และปรึกษาทางการเงินไม่มีความสมดุลกัน

ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหา นายรัฐชัย มองว่าคงต้องลงไปปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับการศึกษา ทั้งการเข้าไปให้ความรู้กับนักศึกษาว่ามีช่องทางที่สามารถเติบโตในอาชีพ รวมถึงการจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมเพื่อสร้างความสนใจใคร่รู้ โดยอาจจะต้องเข้าไปปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยในชั้นปีที่ 2 เนื่องจากกว่าที่ระดับจูเนียร์จะกลายเป็นระดับซีเนียร์ได้จะต้องใช้ระยะเวลาที่นานพอสมควร เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าไปส่งเสริมกันตั้งแต่ต้น

นายรัฐชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ปีนี้บริษัทฯมีแผนเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วมในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) อีก 2 บริษัท เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าในกลุ่มวิศวะกรรม ซึ่งจะระดมใน SET และตลาด MAI อย่างละบริษัท โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการเพื่อยื่นขออนุญาต ซึ่งทั้ง 2 บริษัทที่จะเข้าระดมทุนนั้น คาดว่าน่าจะยื่นขออนุญาตทำ IPO ได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ขณะที่ในปี 2560 มีลูกค้าไอพีโอ 4-5 บริษัท ทั้งในส่วนของ SET และ MAI

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าบริหาร บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวยอมรับว่า การขาดแคลนบุคลากรทางด้านผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษาทางการเงิน มีส่วนที่ทำให้จำนวนหุ้นไอพีโอที่เข้าสู่ตลาดมีน้อย

"หากมองในภาพรวมอาจจะดูว่าบุคลากรไม่เพียงพอจริง แต่เชื่อว่าด้วยปริมาณขนาดนี้น่าจะเป็นความสมดุลแบบตึงๆ ซึ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะด้วยบรรยากาศที่เอื้ออำนวยทำให้มีหลายบริษัทต้องการเข้าตลาดฯ และมีผลทำให้บุคลากรไม่เพียงพอ" นายมนตรี กล่าวและว่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559