เว้นภาษีจูงใจตั้งเวนเจอร์แคป รมว.วิทย์เชื่อสิทธิประโยชน์ดีสุดในภูมิภาคอาเซียน

09 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
รัฐออกมาตรการปลอดภาษี 10 ปี กลุ่มนักลงทุนที่ให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพ พร้อมยกเว้นภาษีกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ตอัพหน้าใหม่ "พิเชฐ" โอ่ เป็นมาตรการที่ดีสุดในภูมิภาคนี้ พร้อมเผยความสำเร็จสตาร์ตอัพไทยแลนด์ มูลค่าลงทุน 4 พันล้านบาท เดินหน้าปลุกกระแสหัวเมืองใหญ่ต่อเนื่อง

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กระทรวงวิทย์ ได้ร่วมกันจัดทำ และผลักดัน มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน หรือ เวนเจอร์แคปิตอล เพื่อให้ เวนเจอร์แคปิตอล เป็นเครื่องมือสนับสนุนแก่ธุรกิจเทคโนโลยี โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น หรือ สตาร์ตอัพ จนล่าสุดรัฐบาลได้ออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 597 และฉบับที่ 602 พ.ศ. 2559 เพื่อยกเว้นภาษีให้แก่กิจการเงินร่วมลงทุนรวมถึงนักลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน และผู้ประกอบการรายใหม่

โดยการสนับสนุนดังกล่าวครอบคลุม 10 คลัสเตอร์เป้าหมายที่เป็น S-Curve ของประเทศ ประกอบด้วย 1.อาหารและการเกษตร , 2.พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน3.เทคโนโลยีชีวภาพ 4.การแพทย์สาธารณสุข 5.การท่องเที่ยว การบริการ และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ 6. วัสดุก้าวหน้า 7. สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ 8.ยานยนต์ และชิ้นส่วน 9. อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ และ 10. วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม หรือ อุตสาหกรรมใหม่

เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้แรงจูงใจแก่ธุรกิจเวนเจอร์แคปิตอล ในการเข้าไปมีส่วนสำคัญในการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน ตามแนวคิดประชารัฐ หรือ Public-Private Partnership ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างและขยายขนาดของธุรกิจเงินร่วมลงทุนให้เกิดขึ้นและเป็นเครื่องมือสนับสนุนธุรกิจฐานเทคโนโลยีเกิดขึ้นและให้เติบโตในประเทศไทยอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อไปอีกว่ามาตรการที่ออกมานั้นเท่าที่ทำการสำรวจเมื่อเทียบกับต่างประเทศถือเป็นมาตรการที่ดีสุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดึงดูดกลุ่มองค์กรธุรกิจในไทย รวมไปแบงก์ และเวนเจอร์แคปิตอลจากต่างประเทศ ให้เข้ามาสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพมากขึ้น นอกจากนี้ยังดึงดูดกลุ่มนักลงทุนไทยที่ไปตั้งกิจการกิจการเงินร่วมลงทุน กลับเข้ามาลงทุนในประเทศ

สำหรับงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2016 ที่ผ่านมานั้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีผู้สนใจเข้าร่วม 3 หมื่นคน เกิดมูลค่าการลงทุนที่สามารถจับตัวเลขได้ 4 พันล้านบาท ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศว่าเป็นงานสตาร์ตอัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเดินหน้าจัดกิจกรรมดังกล่าวไปสู่หัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ขณะเดียวกันก็จะเร่งสร้างสภาวะแวดล้อม หรือ อีโคซิสเต็มส์ ในการส่งเสริมสตาร์ตอัพ รวมไปถึงจัดทำแหล่งข้อมูลสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพขึ้นมา

ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจึงมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่นักลงทุน ธุรกิจ VC และผู้ประกอบการรายใหม่ สำหรับการลงทุนและประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการผลิตและการให้บริการ ในพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ : ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่บริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน และทรัสต์ เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน รวมทั้งบุคคลที่ลงทุนในเวนเจอร์แคปิตอล ทั้งในส่วนของเงินปันผล (Dividend) และรายได้จากการขายหุ้น (Capital Gain) เป็นระยะเวลา 10 ปี ภาษี หรือ 10 รอบระยะเวลาบัญชี และให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีกับผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานเป็นระยะเวลา 5 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559