‘นิตินัย’ต่อจิ๊กซอว์ ลงทุนสนามบิน-ปลดล็อกการใช้ที่ดิน วางแต้มต่อขยายธุรกิจทอท.

10 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
ผ่านมากว่า 1 ปีกับการนั่งแท่นเก้าอี้ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. สำหรับ "นิตินัย ศิริสมรรถการ" หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ซึ่งการประเมินผลงานของเอ็มดีทอท.ที่จะเข้าบอร์ดทอท.ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ก็คงผ่านฉลุย จากผลงานราคาหุ้น รวมไปถึงการเติบโตของผู้ใช้บริการสนามบินที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของสนามบิน รวมถึงการขับเคลื่อนรายได้เชิงพาณิชย์ ในส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน(Non-Aero) ที่เขากำลังจะทยอยปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าในสนามบินที่มีอยู่ราว 3 พันไร่นำมาพัฒนาเพื่อเพิ่มรายได้ อ่านได้จากบทสัมภาษณ์

[caption id="attachment_51136" align="aligncenter" width="700"] สัดส่วนผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท. สัดส่วนผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.[/caption]

 สร้างความชัดเจน 2 เรื่องหลัก

ครบรอบ 1 ปีหลังรับตำแหน่งนี้ การทำงานที่ผ่านมา เขามองว่าต้องขอบคุณพนักงาน สำหรับการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี และการทำงานต่อจากนี้ เขายังคงโฟกัสทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจของทอท. คือ การสร้างสมดุลระหว่างเชิงพาณิชย์และการส่งเสริมสังคม(ด้านโอเปอเรชัน) เพื่อตอบสนองความคาดหวังต่อบริการต่างๆของทอท. ซึ่งเขาย้ำว่าต้องดำเนินการทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไป เพราะทอท.เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ถือหุ้นต้องคาดหวังถึงกำไรสูงสุด แต่ขณะเดียวกัน ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจในมุมของรัฐก็ต้องส่งเสริมต่อความความหวังของสังคม

ดังนั้นในแง่ของการทำงานต่อจากนี้ ภารกิจหลักๆที่เขาจะผลักดันต่อ คือ การสร้างความชัดเจนใน 2 เรื่อง คือ ความชัดเจนในเรื่องของทิศทางการลงทุนพัฒนาสนามบิน และการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความชัดเจน และใช้เป็นเข็มทิศในการขยายการลงทุนที่จะเกิดขึ้น และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ว่างเปล่าในสนามบินต่างๆของทอท. ที่เคยมีการพูดกันมานาน ผลศึกษาก่อนหน้านี้ก็มีมากมาย แต่ไม่สำเร็จเสียที เขาจึงต้องการปลดล็อกปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างความชัดเจนว่าพื้นที่ไหนพัฒนาได้และจะพัฒนาเป็นอะไร

การที่ทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องสร้างความชัดเจน เพราะปัจจุบันทอท. มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจการบิน(Aero) 60% และรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน( Non-Aero) 40% ซึ่งรายได้ในส่วนของAero จะเกาะเกี่ยวไปกับการเติบโตของผู้โดยสาร ดังนั้นรายได้ในส่วน Non-Aero ก็ยังเป็นโอกาสที่ทอท.ยังสามารถขยายฐานรายได้ในส่วนนี้ได้นั่นเอง ซึ่งไม่เพียงแต่การสร้างรายได้ เขายังย้ำว่าการขยายศักยภาพของสนามบิน ก็ถือเป็นการให้บริการแก่สังคม เพราะทอท.ไม่ต้องลงทุนขยายสนามบินเลยก็ทำได้ ผู้โดยสารแน่นก็ปล่อยไป แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากสนามบินต้องตอบสนองความคาดหวังของผู้โดยสารในแง่ของการให้บริการ และยังเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ที่เป็นกลไกสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศด้วย เราจึงอยู่เฉยๆไม่ได้

 เริ่มศึกษาสร้างสนามบินใหม่

ในเรื่องของการพัฒนาสนามบิน ปัจจุบันเขามองอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การพัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่งของทอท. ซึ่งเป็นการพัฒนาไปตามแผนแม่บทของแต่ละสนามบินในช่วง5 ปีนี้ (ปี2559-2563) เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารของทั้ง 6 สนามบินจากศักยภาพการรองรับในปัจจุบันอยู่ที่ 83.5 ล้านคน เป็นรองรับได้ 165 ล้านคนในปี 2565 มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นที่ราว 1.7 แสนล้านบาท เป็นการขยายศักยภาพในจุดสูงสุดที่แต่ละสนามบินสามารถขยายได้ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นแผนการพัฒนาแบบ Ultimate เฟส และ 2.การมองไปถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการลงทุนของทอท.ในอนาคต หรือ Airport Site Selection ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่

ทั้งนี้แผนอัลติเมต เฟส ปัจจุบันมีแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท และแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินดอนเมือง วงเงินเบื้องต้น 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท ทั้ง 2 แผนแม่บทผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดทอท.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเริ่มขั้นตอนการพัฒนา ส่วนแผนพัฒนาสนามบิน ซึ่งในส่วนการพัฒนาสนามบินภูมิภาคอีก 4 แห่งที่เหลือ คือสนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่และสนามบินเชียงราย อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทเพื่อทยอยนำเสนอให้บอร์ดทอท.พิจารณา

ส่วนแผน Airport Site Selection ขณะนี้เพิ่งจะเริ่มศึกษาใน 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ภาคใต้และภาคเหนือ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ มองไว้ว่าจะอยู่ที่จังหวัดพังงา (ข้ามสะพานสารสิน) เนื่องจากมีที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ ทอท.สามารถขอเช่าทำสนามบินได้ เพราะมีพื้นที่ซึ่งสามารถก่อสร้างรันเวย์ 4 กิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจากสนามบินภูเก็ต ส่วนภาคเหนือมองไว้ที่จังหวัดลำปาง ที่มี 2 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในส่วนที่จังหวัดลำปาง เสนอพื้นที่ขึ้นมา อยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ราว 70 กิโลเมตร และอีกพื้นที่ คือ บริเวณจังหวัดลำพูน พื้นที่จะอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ออกไป 30 กิโลเมตร ที่ทอท.ศึกษาไว้อยู่ แต่จะเลือกลงทุนเพียงที่ใดที่หนึ่ง

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมินั้น ที่มี 3 ส่วนหลัก คือ 1.การลงทุนโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ได้เปิดขายซองประกวดราคาแล้ว 3 สัญญา เหลือ 4 สัญญา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ 2. งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มูลค่าราว 2.7 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างนำผลศึกษา เสนอกระทรวงคมนาคม และเตรียมจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)โดยจะใช้งบประมาณปี 2559 ที่จะขอเพิ่มเติม เพื่อใช้ในเรื่องของการออกแบบ คาดออกแบบเสร็จในเดือนสิงหาคม-กันยายนปีนี้ และเริ่มประมูลต้นปี 2561 และ3.งานสร้างทางวิ่งหรือรันเวย์ เส้นที่ 3 มูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างนำเสนอจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) หากปลายปีนี้ผ่านคาดว่าจะใช้เวลา 9 เดือนหรือราวปลายปี 2560 จึงจะเปิดประมูลได้ ซึ่งการนำมาตรา44 มาใช้ ช่วยให้โครงการเดินหน้าเร็วขึ้นราว 4 เดือน แต่หาก EHIA หรือ EIA ไม่ผ่านก็ยังไม่สามารถลงนามจ้างงานกับเอกชนได้

 เคลียร์ธนารักษ์พัฒนาพื้นที่ Non-Aero

ขณะที่ในแง่ของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าที่มีอยู่ราว 3 พันไร่ บริเวณสนามบินทั้ง 6 แห่งของทอท.นั้น ขณะนี้ทอท.ได้จ้างที่ปรึกษาคณะบุคคล 3 ท่าน รวมถึงกรมธนารักษ์ กรมท่าอากาศยาน และทหารอากาศ เข้ามาร่วมพิจารณาเรื่องการแก้เงื่อนไขการใช้ที่ดิน เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องของค่าเช่า คอนเซ็ปต์การใช้ที่ดิน และสิ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนได้ ซึ่งผลการศึกษาน่าจะพอเห็นคอนเซ็ปต์ของการพัฒนาได้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะเป็นการศึกษาการใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ และให้เทียบเคียงกับการใช้ที่ดินเพื่อเชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานในต่างประเทศ

เช่นการสร้างโรงแรมในสนามบิน ก็จะมีการเทียบสัดส่วนผู้โดยสาร อาทิ 10 ล้านคน ควรมีโรงแรมขนาด 200 ห้องไว้รองรับ ร้านค้าปลีก หากสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ก็จะช่วยขยายรายได้ Non-Aeroได้มากขึ้น หรือแม้แต่ค่าเช่าก็ต้องหารือกับกรมธนารักษ์ให้ชัดเจน เพราะมีผลการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน ยกตัวอย่างการลงทุนที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ตรงข้ามสนามบินดอนเมือง จะถูกคิดส่วนแบ่งรายได้ 50% ขณะที่โรงแรมโนโวเทล สนามบินสุวรรณภูมิ คิดส่วนแบ่งรายได้ 5% ดังนั้นทอท.ต้องถามเจ้าของที่ดิน เพื่อวางคอนเซ็ปต์เงื่อนไขการใช้ที่ดินให้มีความชัดเจน เพราะทอท.ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน

หากได้คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน ก็เป็นจุดแรกของการปลดล็อกเรื่องของการใช้ที่ดิน ต่อไปต้องมาดูว่าการพัฒนาในแต่ละสนามบินที่มีข้อจำกัดแตกต่างกัน อาทิ บางสนามบิน มีข้อจำกัดเรื่องความสูง ต้องปลดล็อกเรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงต่อไป เพราะอย่างการพัฒนาพื้นที่แปลง 37 สนามบินสุวรรณภูมิ บนพื้นที่ร่วม 1 พันไร่ พอแผนแม่บทมีเรื่องการลงทุนสร้างรันเวย์เส้นที่ 3 ก็ต้องมาดูเรื่องของมาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้จะทำให้ทราบว่าจะพัฒนาอะไรได้บ้างในพื้นที่ หรือแม้แต่ที่ดิน 723 ไร่ที่ทอท.เวนคืนมาเมื่อครั้งก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ก็มีข้อจำกัดเรื่องของการติดโซนนิ่งพื้นที่สีเขียว ทำโรงแรมไม่ได้ ต้องไล่ดูว่าจะลงทุนอะไรได้ หรือจะแก้ไขอะไรได้บ้าง ซึ่งการปลดล็อกเรื่องเงื่อนไขการใช้ที่ดินได้ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มนับหนึ่ง ถามเจ้าของที่ดินว่าทำได้ไหม หรืออนุญาตไหม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาได้ ไม่เหมือนในอดีตที่เริ่มต้นจากศูนย์ ทำให้ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนได้เสียที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559