ก.พ.ร. ผนึกภาคธุรกิจ-ชุมชน สร้างนวัตกรรมการมีส่วนร่วม

10 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
ช่วง 3 วัน 2 คืนที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ร่วมกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือสื่อมวลชนสัญจร นำโดยนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และคณะ เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด วงเงินกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม

ควบคู่ไปกับการศึกษาตัวอย่างความสำเร็จของโครงการเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งป่าชายเลนยั่งยืน" ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ณ ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด ที่คว้ารางวัล "ความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม" ประจำปี 2558 ประเภทรางวัลพัฒนาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมในระดับดีเยี่ยมจาก สำนักงาน ก.พ.ร. มาได้

ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าว พิจารณาผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการของหน่วยงาน เป็นการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนต่างๆในลักษณะหุ้นส่วน ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการบริหารราชการที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่นำไปสู่การยอมรับและการเป็นเจ้าของร่วมกันในผลสำเร็จที่ได้รับจากการดำเนินงานในระดับโครงการ (Project Level)

นายชูเกียรติ เลขาธิการสำนักงาน ก.พ.ร.ระบุตอนหนึ่งถึงวัตถุประสงค์ครั้งนี้ว่า เพื่อแสดงความโปร่งใสในการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมาของสำนักงาน ก.พ.ร. แล้ว มุ่งหวังให้สื่อได้เห็นพัฒนาการการทำงานของราชการที่บูรณาการกันมากขึ้น และเพื่อชี้ให้หน่วยงานห่างไกลได้เข้าใจและตระหนักถึงสิ่งที่ทำว่ามีคนสนใจติดตามอยู่ตลอดเวลา และจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้พบตัวอย่างของปัญหาที่น่าสนใจโดยเฉพาะกรณีจัดทำโครงการของรัฐในภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ ที่ควรให้เกิดภาพที่สมบูรณ์ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินโครงการของบประมาณ สำหรับโครงการท่าเทียบเรืออเนกประสงค์เรือคลองใหญ่ ถือเป็นตัวอย่างของข้อผิดพลาดที่ต้องรับไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะนำไปเป็นกรณีศึกษาการทำโครงการอื่นของรัฐต่อไป

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ พบว่า การดำเนินงานก่อสร้างโครงการคืบหน้าไปกว่า 97% ซึ่งภายหลังก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว กรมเจ้าท่าจะส่งมอบให้กรมธนารักษ์ดำเนินงานต่อไป จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า โครงการยังไม่สามารถหาผู้เข้ามาบริหารจัดการท่าเรือได้ ติดขัดกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกรมธนารักษ์ไม่ดึงดูดใจนักลงทุน

ขณะที่นางสาววิลาวัลย์ ตาน้อย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบราชการรักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบราชการ 2 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ก.พ.ร.ได้ปรับรูปแบบการทำงานมาเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมั่นว่า การให้คนในพื้นที่นั้นเป็นผู้ดูแลย่อมดีที่สุด

"สำหรับชุมชนบ้านเปร็ดใน ถือว่า เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งแล้ว แต่ที่ผ่านมาการทำงานร่วมกับภาครัฐยังไม่ได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ชุมชนเดินด้วยตัวเอง

ปัจจุบันแนวคิดการทำงานแบบมีส่วนร่วมมีมากขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ ก.พ.ร.ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ได้พยายามนำแนวคิด กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมมาใช้ ขั้นแรกเกิดขึ้นในลักษณะของการให้ข้อมูลซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ขั้นที่ 2 คือการร่วมคิด จัดทำให้เกิดกระบวนการคิด ร่วมรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน ขณะนี้กำลังผลักดันให้ก้าวไปสู่ขั้นที่ 3 คือร่วมทำระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน และก้าวสุดท้ายที่อยากเห็น คือภาครัฐลดบทบาทตัวเอง ทำหน้าที่เพียงผู้ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ยืนได้ด้วยตัวเอง ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนบ้างเป็นครั้งคราว นางสาววิลาวัลย์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559