ชม! ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 9 พค.นี้

04 พ.ค. 2559 | 06:04 น.
b รายงานข่าวจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันจันทร์ ที่ 9 พฤษภาคม ที่จะมาถึง จะเกิดปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 การเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับดาวเคราะห์วงในเท่านั้น เมื่อมองจากโลกได้แก่ ดาวพุธและดาวศุกร์ สำหรับดาวพุธในหนึ่งศตวรรษจะเกิดเหตุการณ์ดาวพุธการผ่านหน้าดวงอาทิตย์ประมาณ 13 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของดาวศุกร์ที่จะเกิดขึ้นเป็นคู่โดยแต่ละคู่ใช้เวลานานมากกว่า 1 ศตวรรษ

ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์จะมีชื่อลำดับเหตุการณ์ของปรากฏคล้ายกับชื่อลำดับเหตุการณ์ของปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน การผ่านหน้าจะเริ่มต้นด้วยสัมผัสที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์เริ่มสัมผัสด้านนอกของดวงอาทิตย์ ไม่นานหลังจากที่ดาวเคราะห์สัมผัสขอบด้านนอกของดวงอาทิตย์ผู้สังเกตบนโลกจะสามารถมองเห็นเป็นรอยเล็ก ๆ ตามขอบดวงอาทิตย์ เมื่อดาวเคราะห์เคลื่อนมาอยู่บนหน้าดวงอาทิตย์หมดทั้งดวงขณะที่ดาวเคราะห์แตะขอบด้านในของดวงอาทิตย์เหตุการณ์นี้คือสัมผัสที่ 2 จากนั้นดาวเคราะห์จะเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ผู้สังเกตจะมองเห็นดาวเคราะห์ที่กำลังผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นจุดสีดำ โดยดาวเคราะห์จะเปลี่ยนตำแหน่งไปช้า ๆ ซึ่งจะใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเคลื่อนที่ผ่านหน้าของดวงอาทิตย์ สัมผัสที่ 3 ดาวเคราะห์เคลื่อนที่ไปสัมผัสที่ขอบด้านในของดวงอาทิตย์ที่อยู่ด้านตรงข้าม สัมผัสที่ 4 เป็นจุดสิ้นสุดเหตุการณ์ เมื่อขอบของดาวเคราะห์สัมผัสกับขอบด้านนอกของดวงอาทิตย์ สัมผัสที่ 1 กับสัมผัสที่ 2 เป็นขั้นตอนที่เรียกว่า “ช่วงขาเข้า” ขณะที่สัมผัสที่ 2 กับสัมผัสที่ 4 คือช่วง “ขาออก”

a

การสังเกตปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์

สำหรับผู้ที่สนใจการสังเกตปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ในวันที่ 9 พฤษภาคม นี้สามารถทำการสังเกตได้เฉพาะช่วงสัมผัสที่ 1 และสัมผัสที่ 2 โดยสัมผัสที่ 1 จะเริ่มถึงในเวลา 18:12 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย) โดยในเวลาดังกล่าวดวงอาทิตย์จะอยู่ที่มุมเงยที่ประมาณ 5 องศา จากระนาบขอบฟ้า (บางพื้นที่อาจจะถูกภูเขาบังทำให้ไม่สามารถสังเกตได้) หลังจากที่เกิดสัมผัสที่ 1 ไปไม่นานดาวพุธจะค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาอยู่บนหน้าของดวงอาทิตย์ และเมื่อดาวพุธเคลื่อนเข้ามาอยู่บนหน้าดวงอาทิตย์หมดทั้งดวงแล้วขณะที่ดาวพุธแตะที่ขอบด้านในของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสัมผัสที่ 2 จะเกิดขึ้นในเวลา 18:15 น. หลังจากสัมผัสที่ 2 ไม่นานดวงอาทิตย์ก็จะตกหลับขอบฟ้าไปในช่วงเวลา 18:36 น. ในการสังเกตปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ครั้งนี้จะสามารถมองเห็นได้เป็นเวลาสั้นๆ หรืออาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้เลยเนื่องจากปรากฏการณ์เกิดใกล้ขอบฟ้ามากเกินไป

หลังจากปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ครั้งนี้แล้ว ปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์จะเกิดอีกครั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 (อีก 3 ปี) แต่ไม่สามารรถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทย ผู้สังเกตการณ์ในประเทศไทยต้องรอไปอีก 13 ปี จึงจะได้ชมปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2575 และครั้งถัดไปในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2582 ดังตารางที่ 2

c