น้ำมันขึ้นเศรษฐกิจขยับ ส.อ.ท.ชี้ 3 ปัจจัยบวก/ส.ค้าปลีกสวนกำลังซื้อยังนิ่ง

05 พ.ค. 2559 | 00:00 น.
ประธานส.อ.ท.ชี้เปรี้ยง 3 ตัวชี้วัดเศรษฐกิจฟื้นปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้น เจาะเรียลเซ็กเตอร์ พบ 5 กลุ่มสำคัญมีบทบาทต่อตลาดส่งออกกำลังเข้าสู่แดนบวก ขณะที่อีก 5 กลุ่มอุตฯไตรมาสแรกซึม บางกลุ่มคำสั่งซื้อยังทรงตัวถึงไตรมาส2 ลุ้นอีกทีครึ่งหลัง นักวิชาการลั่นเศรษฐกิจยังไปไม่สุดทาง เอกชนยังไม่เชื่อมั่น100% หวังเห็นบวกครึ่งหลัง ขณะที่กลุ่มค้าปลีกเห็นต่าง

"ฐานเศรษฐกิจ"สำรวจเรียลเซ็กเตอร์หรือภาคการผลิตจริง จากกลุ่มอุตสาหกรรม 10 กลุ่ม พบว่าขณะนี้มีบางกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณบวกชัดเจนขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยมีคำสั่งซื้อขยับตัวได้ อีกทั้งราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่อีกกลุ่มอุตสาหกรรมคำสั่งซื้อยังไม่กลับมา ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ และกำลังซื้อภายในประเทศโดยรวมรักษาระดับดีแค่ทรงตัวใกล้เคียงปีก่อน ยังจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องไปลุ้นอีกครั้งในครึ่งปีหลัง(ดูตารางประกอบ)

[caption id="attachment_50236" align="aligncenter" width="700"] 3 ตัวชี้วัด ดันเศรษฐกิจฟื้น 3 ตัวชี้วัด ดันเศรษฐกิจฟื้น[/caption]

 3ตัวชี้วัดศก.ฟื้น

ต่อเรื่องนี้นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ถ้ามองเป็นภาพรวมเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยชี้วัดที่ดีที่สุดมี 3 ส่วนที่เห็นชัดเจน ไล่ตั้งแต่ 1.ราคาน้ำมันที่ล่าสุดเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยราคาน้ำมันดิบขณะนี้ ไต่ระดับอยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล สูงที่สุดในรอบ 5 เดือน ทำให้ราคาสินค้าเริ่มขยับได้ โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคายางสด ณ 3 พฤษภาคม 2559 อยู่ที่ 62 บาทต่อกิโลกรัม ปรับราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ราคา55.68 บาทต่อกิโลกรัม ตรงนี้จะทำให้กำลังซื้อระดับรากหญ้าดีขึ้น เพราะภาคเกษตรกรเป็นฐานกำลังซื้อสำคัญ

ปัจจัยชี้วัดตัวที่ 2 ยอดขายกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ดีขึ้นในแง่ที่ได้รับอานิสงค์จากตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีกว่าตลาดภายในประเทศ ทำให้คาดว่าทั้งปีตลาดยานยนต์น่าจะยังรักษาระดับยอดขายไว้ได้ตามเป้า ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยตัวที่ 3 ตลาดปูนซีเมนต์มีการขยับตัวแล้วโดยไตรมาสแรกการใช้ปูนซีเมนต์ในภาพรวมขยายตัว (อ้างตัวเลขที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีระบุไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 5 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน ขยายตัวเพียง 2 % ) ซึ่งต่อไปส.อ.ท.จะดึงอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มาเป็นดัชนีชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย เพราะจากนี้ไปการใช้ปูนซีเมนต์จะเติบโตต่อเนื่องตามงานโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม ดังนั้นปูนซีเมนต์จึงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกตัวหนึ่ง

 5 กลุ่มอุตฯคำสั่งซื้อเริ่มมา

นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงปลายไตรมาส2 ปีนี้สัญญาณบวกจะชัดเจนขึ้น จากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบทบาทต่อตลาดส่งออก 5 กลุ่มหลัก ที่คำสั่งซื้อเริ่มทยอยเข้ามา ไล่ตั้งแต่ กลุ่มเครื่องใช้ฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีคำสั่งซื้อในกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่มีการปรับปรุงโปรดักส์ให้ไฮเทคขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ที่ปีนี้ได้อานิสงค์ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก เพราะสภาพอากาศร้อนจัดกว่าทุกปี

กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนที่จะได้รับอานิสงค์จากตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีกว่าตลาดภายในประเทศ โดยครึ่งปีหลังภาพจะชัดเจนยิ่งขึ้น และมองว่าผลจากนโยบายรถคันแรกเริ่มหมด และกระแสจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเริ่มน้อยลงจากกำลังซื้อในประเทศที่ชลอตัวก็จะพลิกกลับมาได้ เช่นเดียวกับกลุ่มยางที่ราคาขยับตามราคาน้ำมันแล้วในขณะนี้ รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมีที่ตลาดอยู่ในวัฐจักรขาขึ้น ทั้งความต้องการใช้ในตลาดโลกและราคา

 อีก 5 กลุ่มหลักลุ้นครึ่งหลัง

ขณะเดียวกันมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังต้องลุ้นว่าในครึ่งปีหลังจะดีหรือไม่ หลังจากที่ครึ่งปีแรกยังไม่เห็นสัญญาณบวกจากคำสั่งซื้อที่เข้ามาโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่นกลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เซรามิก รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ จากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปได้ว่าช่วงครึ่งปีแรกมีวันหยุดหลายวัน จึงยังไม่เป็นตัวชี้วัดที่มีเสถียรภาพมากนัด ยังต้องรอดูในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปอีกครั้ง ส่วนปัจจัยอื่นที่ทำให้คำสั่งซื้อไม่มา เช่นเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันที่สู้คู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าไม่ได้

ด้านความเห็นจากประธานกลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ส่วนใหญ่สะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยนายไชยยงค์ พงษ์สุทธิมนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กล่าวว่า 4-6 เดือนแรกปีนี้ยังมองไม่เห็นสัญญาณบวก เพราะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังไม่ขยับ ขณะที่ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศกำลังซื้อยังใกล้เคียงปี2558 ในช่วงเดียวกัน เพราะได้อานิสงค์จากที่ภาคอสังหามีการทยอยส่งมอบที่อยู่อาศัย ทำให้มีการตบแต่งภายใน จากเดิมที่คาดหวังว่าตลาดภายในน่าจะคึกคักกว่านี้ คงต้องไปลุ้นอีกครั้งครึ่งปีหลังที่ทุกปีไตรมาส3และ4จะดีกว่าครึ่งปีแรก

"ยังคาดหวังว่าปีนี้ตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์จะพลิกจากที่ติดลบ 10% มาเป็นบวก ส่วนตลาดในประเทศที่ปีก่อนขยายตัว 5% ก็น่าจะทำได้ดีสุดก็รักษาระดับเดิมไว้ เพราะกำลังซื้อภายในยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้มูลค่าตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศมีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาทต่อปี สูงกว่ามูลค่าตลาดส่งออกราว 2 เท่า(ปัจจุบันมูลค่าตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่ประมาณ 1.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ"

นายอำนาจ ยะโสธร รองเลขาธิการส.อ.ท.และเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกส.อ.ท. กล่าวว่าเวลานี้โดยภาพรวมตลาดภายในประเทศยังไม่ดี กำลังซื้อยังไม่กลับมา ส่วนหนึ่งมาจากที่การกู้เงินซื้อบ้านไม่ได้รับการปล่อยสินเชื่อจากแบงก์ได้ง่าย ขณะที่ผู้บริโภคยังไม่มีกำลังซื้อ อีกทั้งยังมีกระเบื้องปูพื้น ปูผนังจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงมาก ส่วนตลาดส่งออกก็ยังอยู่ในภาวะที่ทรงตัวมีสวิงตัวขึ้นลงเป็นระยะ

"เมื่อต้นปี 2559 ตั้งเป้าตลาดโต 5% คงต้องมาปรับตัวเลขกันใหม่ โดยทั้งปีน่าจะอยู่ที่บวก-ลบ 5% เพราะเวลานี้เรายังมีปัจจัยเสี่ยงเดิมอยู่คือ เศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศก็ยังไม่กระเตื้อง"

 วิ่งบริหารความเสี่ยง

ล่าสุดกลุ่มเซรามิกต่างวิ่งบริหารความเสี่ยงโดยการรัดเข็มขัด เพื่อลดต้นทุน เพราะเวลานี้เฉพาะต้นทุนด้านพลังงานก็สูงถึงสัดส่วน 30% ขณะที่ปลายปีที่ผ่านมาก็เพิ่งลดโอทีลง นอกจากนี้สิ่งที่อยากให้รัฐบาลลงมาช่วยให้มากขึ้นคือการลดขึ้นตอนการนำเข้าวัตถุดิบให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่ราคาพลังงาน ก็ขอให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลก รวมถึงกรณีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลยังไม่ควรปรับขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีผลดำเนินงานไม่ดี ได้รับผลกระทบจากที่เศรษฐกิจซบเซา

ปัจจุบันตลาดรวมเซรามิกซึ่งประกอบด้วย กระเบื้อง สุขภัณฑ์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ลูกถ้วยไฟฟ้า วัสดุทนไฟ ฯลฯ มีมูลค่าตลาดรวมทั้งที่ขายในประเทศและส่งออกราว 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี

 หวั่นปัจจัยเสี่ยงการเมืองโผล่

ด้านนายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผยว่า ตลาดยานยนต์ในประเทศโดยรวมในขณะนี้ยังไม่ดี แม้เดือนมีนาคมขยับตัวได้เล็กน้อยก็ตาม ถือว่าโดยรวมถ้าผลิตได้ตามเป้าปี2559ที่จำนวน 2 ล้านคันก็เหนื่อยมากแล้ว โดยใน2ล้านคันนี้ตั้งเป้าว่าขายตลาดในประเทศ 7.50 แสนคัน และส่งออก 1.25 ล้านคัน ซึ่งในครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อไม่ขยับ เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าการเมืองไม่นิ่งกรณีที่มีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญจนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งได้ในที่สุด แต่เชื่อว่าภาพรวมทั้งปีน่าจะดีขึ้นโดยได้อานิสงค์จากตลาดส่งออกเป็นหลัก

 นักวิชาการมองศก.เชิงบวก

ด้านนักวิชาการโดยดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นทางเศรษฐกิจว่า ภาพรวมการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ดูจากที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงข่าว เพียงแต่ทิศทางเศรษฐกิจยังเดินไปไม่สุดทาง เพราะความเชื่อมั่นยังไม่กลับมา 100% มีตัวแปรตรงที่เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้ายังไม่ดีไล่ตั้งแต่จีน ที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 300% ต่อจีดีพี หลังจากที่รัฐบาลก่อหนีสาธารณะโดยนำเงินไปสร้างเมือง ญี่ปุ่นมีปัญหาแผ่นดินไหว และมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ เช่นเดียวกับยุโรป

ถ้าโฟกัสมาเฉพาะประเทศไทยภาพรวมไตรมาส 2 เริ่มมองเห็นสัญญาณบวกในแง่กำลังซื้อจากคำสั่งซื้อที่เข้ามา แต่มาไม่หมดทุกกลุ่ม เราเจอภัยแล้ง สินค้าเกษตรอาจจะไม่มีของป้อนได้ตามที่ตลาดต้องการ เพราะมีของน้อย จากที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนกำลังซื้อภายในประเทศยังทรงๆตัวอยู่ เนื่องจากภัยแล้งทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้ ขณะที่คนไทยไม่ออกไปเที่ยวเพราะอากาศร้อน "เวลานี้สัญญาณบวกจะมี 2 ส่วนคือ สัญญาณบวกจากในประเทศที่มีการเร่งจับจ่ายใช้สอย และสัญญาณบวกจากต่างประเทศที่ดีขึ้นเพียงแต่ยังขยับได้ไม่สุดทาง เพราะมีตัวแปรที่เป็นลบเข้ามาอีก เช่นกรณีญี่ปุ่น ที่ปี2559 ตั้งเป้าว่าจีดีพีจะโต 1% จากปี2558 ที่จีดีพีโต 0.6% แต่พอมาเจอแผ่นดินไหวจีดีพีหดเหลือ 0.5% ส่วนจีนเมื่อปีที่ผ่านมาจีดีพีโต 6.9% ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี ปี2559ยังลุ้นว่าจีดีพีน่าจะโตที่7% หรือลงไปที่6% เพราะจีนยังน่าจับตากรณีการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ที่ระยะหลังจีนเน้นการออกมาลงทุนนอกประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะลงทุนในตลาดCLMV"

ขณะที่รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน เปิดเผยว่า นับแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป จีนไม่ใช่ตัวแปรที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหา เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณบวกเกิดขึ้น ดูจากไตรมาสแรกปีนี้ที่จีดีพีจีนโต 6.7% จากเดิมตั้งเป้าจีดีพีไตรมาสแรกโตเพียง 6.5% ที่สำคัญเวลานี้เงินดอลลาร์ในจีน ที่เคยไหลออกเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็กลับมาไหลเข้า เพราะทุนสำรองต่างประเทศของแบงก์ชาติจีนที่เคยไหลออก 8-9 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาเริ่มมีเงินไหลเข้า 1.20 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกของจีนก็เริ่มพลิกบวก การบริโภคภายในประเทศก็เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับหุ้นก็มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น
อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจจีนกระเตื้องขึ้นในเดือนมีนาคม สะท้อนให้เห็นว่าการส่งออกของไทยในเดือนเดียวกันก็ดีขึ้น เพราะได้รับอานิสงค์จากจีน ในฐานะที่จีนเป็นศูนย์กลางซัพพายเชนโลก

 ค้าปลีกมองกำลังซื้อยังไม่กลับ

ด้านดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เชื่อว่ากำลังซื้อในครึ่งปีหลังจะยังไม่กลับมา เพราะยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาส่งผลทำให้เกิดกำลังซื้อในระยะสั้นนี้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบหนักมาตั้งแต่ปี 2558 ต่อเนื่องมายังปี 2559 โดยดัชนีที่ชี้วัดได้ชัดเจนที่สุดคือยอดซื้อรถจักรยานยนต์ที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกหากกำลังซื้อยังไม่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้าง โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ

"ผู้ประกอบการต้องมองเศรษฐกิจเป็นรายไตรมาส จะวางแผนข้ามปีเหมือนในอดีตไม่ได้ จะมุ่งหวังเมกะโปรเจ็คท์ของรัฐก็ไม่ได้ เพราะหากรัฐบาลกดปุ่มโครงการใดๆ ในไตรมาส 3 ผมตอบรับก็จะเกิดขึ้นในปี 2560 ไม่ใช่วันนี้ หรือพรุ่งนี้ และแม้จะเข้าสู่ไตรมาส 2 แล้วแต่ยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นนี้ ดังนั้นเมื่อก้าวเข้าสู่โลว์ ซีซั่น จะยิ่งแย่หนักขึ้น ดังนั้นภาครัฐและผู้ประกอบการจะต้องหามาตรการหรือกลยุทธ์มาจูงใจ กระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม , การลดภาษี เป็นต้น"

ด้านกระทรวงพาณิชย์เมื่อเร็วๆ นี้ ออกมาเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(เงินเฟ้อ) เดือนเมษายน2559 เท่ากับ 106.42 สูงขึ้น 0.07% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วเป็นอัตราเงินเฟ้อที่กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 16 เดือนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.55% (อ่านต่อ “เฟดชี้ทิศทางบาททั้งปีแตะ 36.7” หน้า11)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559