‘เกศรา มัญชุศรี’ สตรีเหล็ก‘ตลาดหุ้น’ตอบทุกประเด็นร้อน!

06 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
นับเป็นจังหวะเหมาะ โอกาสอำนวยด้วยเพราะเลข"สอง"ที่มาบรรจบกับ 3 วาระ วาระแรก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก้าวสู่ปีที่ 42 ตามมาด้วย "เกศรา มัญชุศรี" กรรมการและผู้จัดการตลท.คนที่ 12 จะมีอายุการดำรงตำแหน่ง 2 ปี หรือเดินมาครึ่งทางจากวาระ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557-31 พฤษภาคม 2561

ไม่เพียงเท่านี้ตลท.ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง ทั้งกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับตลาดทุน อยู่ระหว่างการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้งมีกระแสอีกระลอกว่าจะมีการแปรรูปองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้ในส่วนของตลท.และก.ล.ต.อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฏเกณฑ์หลายเรื่องเพื่อจัดระเบียบตลาดทุน

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด"ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้สัมภาษณ์"เกศรา" หนึ่งในดอกไม้เหล็กของวงการตลาดทุนที่กล้าตอบทุกเรื่อง ติดตามอ่านบรรทัดถัดจากนี้

  จับตากำไรภาค"เรียลเซ็กเตอร์"

"เกศรา" กล่าวว่า ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้หุ้นใหม่ หรือหุ้นไอพีโอไตรมาสแรกซบเซา อย่างไรก็ตามเธอกล่าวหนักแน่นว่า แผนที่ตลท.วางไว้ว่าจะมีมูลค่าหุ้นไอพีโอ 2.7 แสนล้านบาท น่าจะทำได้ แม้ว่าอาจจะมีบางบริษัทที่ล่าช้า แต่ก็มีบางบริษัทที่เลื่อนแผนเข้าตลาดเร็วขึ้น

ทั้งนี้กิจกรรมเรื่องหุ้นไอพีโอ ช่วงไตรมาส 2-3 จะมีมากขึ้น แม้ไตรมาสแรก อาจจะดูชะลอออกไปบ้าง ในขณะเดียวกันคงจะต้องกลับมาดูว่าผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.)ไตรมาส 1 ปีนี้จะเป็นอย่างไร
ซึ่งเมื่อดูจากงบแบงก์พาณิชย์ในไตรมาสแรก ก็มีทั้งดีและร้าย แบงก์เล็กโอเค แบงก์ใหญ่ต้องตั้งสำรองฯหนี้เสียมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องติดตามภาคเรียลเซ็กเตอร์ว่าผลประกอบการไตรมาสแรกจะเป็นอย่างไร

" วันนี้พี่ก็พูดไม่ได้ แต่นี่เราพูดเซ็นติเม้นท์ที่เวลาไปไหนเราก็จะสอบถามบจ. ก็พบว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯยังมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง ผลประกอบการก็ไปได้เรื่อยๆ แต่หากเป็นบริษัทเล็กที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯหรือธุรกิจเอสเอ็มอี ก็พบว่าหลายๆที่ก็มีความกังวลว่ามันลำบากเหมือนกัน ค้าขายไม่ค่อยดี "

 ข้อกังขาบจ.เล็ก กับราคาหุ้นผิดปกติ

"บ้านเราถ้ากลับไปดูมีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 600,000-700,000 บริษัท ขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 642 บริษัท จ่ายภาษีนิติบุคคลประมาณ 35-38% แล้วเหลืออีก 600,000 บริษัทก็จ่ายภาษีที่เหลือ

" คำถามคือ บริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทที่เล็ก เราจะบอกว่าเราจะหาบริษัทใหญ่เข้ามาจดทะเบียน แต่ทั้งหมดก็เพื่อนๆเราเล็กหมด อย่างนี้เราจะทำอย่างไรให้เค้าใหญ่ และโตขึ้นมากกว่า "

ที่กล่าวข้างต้น"เกศรา"บอกว่า เป็นแผนของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ไม่ใช่มองแค่อยากให้มีบริษัทมาจดทะเบียน
"วันนี้เราเห็นปัญหาของหลายคนที่เข้ามาแล้วเอาเปรียบคนอื่น หรือไม่เข้าใจ แล้วเราบอกว่าเวลาที่เข้ามาตัวเล็ก หรือเป็นบริษัทเล็ก ๆ เราก็จะสนับสนุนคุณ จริงๆ สอนหนังสือจนบริษัทจดทะเบียนบอกว่าทำไมเรียนเยอะขนาดนี้

"บริษัทที่เอาเปรียบคนอื่นก็มีมากอยู่หรอก บางทีอาจจะไม่ได้เรียกว่าเอาเปรียบแต่เรียกว่าไม่เข้าใจ มีหลายคนบอกว่าให้คนเล็กๆเข้ามาจดทะเบียนทำไม ให้เอาแต่บริษัทใหญ่เข้ามา เพราะบริษัทเล็กๆเข้ามาชอบทำให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงอย่างไม่สมเห็นสมผล ซึ่งก็ไม่ถูกนัก เราต้องเปิดโอกาสให้เข้ามาตามเกณฑ์ของเรา หากไม่ได้ก็ไม่ได้ เค้าควรที่จะได้โอกาส"

กรรมการผู้จัดการตลท. กล่าวอีกว่า เมื่อบจ.เข้ามาจะมี 2 คำถามคือ คือ ตัวบจ.เองรู้หรือไม่ว่าต้องพูดกับนักข่าวอย่างไร ต้องประกาศงบยังไง หรืออีกทาง คือ เรื่องตัวบริษัทเองมีสับสนวุ่นวาย

ส่วนอีกเรื่อง คือ ตัวของนักลงทุนเอง เพราะบางทีผู้บริหารบจ.บอกว่าผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งอาจจะไม่รู้เรื่องจริง หรือไม่รู้เรื่องไม่จริงก็ไม่รู้ แต่ว่าเป็นเรื่องของผู้ลงทุนที่มีการซื้อขาย แล้วอาจทำให้ราคาหุ้นผิดปกติไปก็ได้ หรืออาจจะผิดปกติด้วยความสุจริต คือ เป็นหุ้นตัวเล็ก แต่คนอยากได้หรืออยากลงทุนมาก ราคาก็ดีมาก

"ถ้าคุณสุจริตแล้วคุณเข้ามามันโอเค (หมายถึงบจ.) ตัวบริษัทก็คงจะไม่มีประเด็น ทีนี้ก็ต้องมาดูฝั่งผู้ลงทุน ถ้าผู้ลงทุนทำไม่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะเป็นฝ่ายตรวจสอบเบื้องต้น เสร็จแล้วทำเคสส่งไปที่ก.ล.ต. ซึ่งเราบอกไม่ได้ ใครมาถามก็บอกไม่ได้ว่าทำไปกี่เคส หรือเคสนั้นเคสนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯตรวจสอบหรือไม่ บอกเลยตอบไม่ได้ เพราะว่าคนที่จะตัดสินตรงนี้ก็คือ ก.ล.ต. "

ตลาดหลักทรัพย์ฯตามเกมบจ.-นักลงทุนทันไหม?

"พี่ก็เข้าใจว่ามี 2 ทาง ใครๆก็คงอยากได้ผลตอบแทนที่สูง โดยมีความแน่ใจว่าจะได้ ฉะนั้นสิ่งที่ตลาดทำถ้าในระยะยาว ทำไมเราต้องให้ความรู้คนเพื่อที่จะบอกว่า หรือแม้กระทั่งการที่เราบอกว่าจะเพิ่มจำนวนทั้งผู้ลงทุนรายบุคคล และสถาบัน เพราะตลาดที่มันมีจำนวนคนเยอะๆ จำนวนทรานเซ็กชั่นเยอะๆยังไงคุณก็ทำไม่ได้ มันจะไม่เหลือโอกาสในการให้ทำถ้าตลาดมีสภาพคล่องมากเพียงพอ"

"เกศรา"กล่าวว่าสำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯเองนั้น ในระยะยาว อยากเห็นฐานผู้ลงทุนหนาแน่นกว่านี้ โดยเฉพาะทางด้านนักลงทุน

"ถ้าดูจากในตลาดหุ้น ตอนนี้ทุกคนเป็นกูรู หรือเป็นนักลงทุนหุ้นคุณค่า หรือ"วีไอ" หมด ฉะนั้นจึงเห็นมีอาชีพนักลงทุนเกิดขึ้น สมัยนี้มีแม่บ้านไปทำเครดิตการ์ดหากใส่อาชีพแม่บ้านไม่ได้เครดิตการ์ด ตอนนี้ใส่อาชีพนักลงทุนปรากฏว่าผ่าน "
สิ่งที่สะท้อนข้างต้น"เกศรา" บอกว่า ต้องกลับไปดูว่าตอนนี้คนลงทุนมีบางคนที่จริงจังมาก เรียนรู้เรื่องการลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่เรียนรู้แล้วไปหลอกล่อคนอื่นก็เป็นเรื่องไม่ดี ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีนโยบายขยายฐานนักลงทุนให้หลากหลาย ทั้งนักลงทุนรีเทล และสถาบัน

ในส่วนของบจ.เอง ส่วนหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะพูดถึงคือ "คุณจะโตอย่างเดียวไม่ได้ คุณจะต้องไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม อยู่ในสังคมไหนก็อย่าเป็นที่รังเกียจหรือถูกเค้ารังเกียจทั้งในเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การไม่เบียดบังทรัพยากร "

กรณีก.ล.ต.รื้อพ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ

"เอาเรื่องบอร์ดตลท.ก่อน โดนเรื่องโครงสร้างนั้นไม่แน่ใจ คือว่า ณ วันนี้ ก.ล.ต. จะแต่งตั้งมา 5 ท่านและโบรกเกอร์แต่งตั้ง 5 ท่าน มันครึ่งๆ" กรรมการและผู้จัดการตลท.ตอบในประเด็นนี้อย่างฉะฉาน

พร้อมอธิบายว่า ปัจจุบันก.ล.ต. ส่งผู้แทนมาเป็นบอร์ดตลท.ก็จะมี 1.ประธานบอร์ด 2.คนที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่ามาจากบริษัทจดทะเบียน 3.คนกลุ่มที่เรียกว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านของการบริหารหรือมาจากบลจ. 4.เป็นตัวแทนจากผู้สอบบัญชี หรือกลุ่มนักกฎหมาย เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าโครงสร้างบอร์ดตลท.จะมีความหลากหลาย

ส่วนอีกเรื่องที่ระทรวงการคลังจะแปรรูปตลท. "เกศรา" กล่าวว่า ก็คงต้องถามคนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง มองว่าหากกลับมาดูองค์กรตลท.ซึ่งมีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 42 ปี ถามว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานของตลท.มีจุดที่ดูแล้วน่าจะปรับปรุงอะไรบ้าง ต้องถามว่าแล้วที่เป็นอยู่มันไม่เหมาะสมตรงไหน หรือควรจะปรับปรุงด้านใด อันนี้ควรต้องถามจะต้องเสต็กโฮเดอร์ทั้งหลาย

" เราจึงบอกว่าสิ่งที่เราทำมาจนวันนี้ทุกคนทั้งอาเซียนให้การยอมรับตลาดหุ้นไทย เพราะเราเดินมาถูกทาง โปรดักซ์ที่เราออกก็ออกอย่างรวดเร็ว แม้จะไมได้เท่าที่ใจนึกว่ายังช้าอยู่ " เกศรา กล่าวทิ้งท้ายให้คิด

อนึ่งระหว่างวันที่ 22 มีนาคม ถึงวันที่ 21 เมษายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น หรือเฮียริ่ง เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

เหตุผลที่ก.ล.ต.ระบุสำหรับการแก้ไขกฏหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลท. คือ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลท.ให้ได้ตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวทางกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ของตลท. ตามความคาดหวังและเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559