ยอดตั้งโรงงาน 4เดือนลดลง แต่อุตฯเป้าหมายดีต่อเนื่อง

05 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
กรอ.เผยยอดตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการ 4 เดือน ยอดโครงการลดลงอยู่ที่ 1.543 พันแห่ง และเงินลงทุนลดลงเหลือ 1.58 แสนล้าน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ชี้เหตุผู้ประกอบการยังไม่เชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจ ไม่กล้าตัดสินใจลงทุน แต่ได้กลุ่มอุตสาหกรรม 4 เป้าหมายใหม่ตั้งโรงงานเพิ่ม มีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 1.59 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_50214" align="aligncenter" width="376"] ดร.พสุ โลหารชุน  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ดร.พสุ โลหารชุน
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)[/caption]

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวอยู่ ได้ส่งผลให้สถิติการตั้งโรงงานและขยายโรงงานในช่วง 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.59 ) ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนโรงงานที่ขอตั้งประกอบกิจการใหม่และขยายโรงงานรวมจำนวน 1.543 พันโรงงาน มีมูลค่าเงินลงทุน 1.58 แสนล้านบาท คนงาน 6.09 หมื่นคน ซึ่งเป็นการลดลงทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุนจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.593 พันโรงงาน และเงินลงทุนอยู่ที่ 1.69 แสนล้านบาท คนงาน5.36 หมื่นคน

ทั้งนี้ จากยอดโครงการและเงินลงทุนที่ลดลงนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า ผู้ประกอบการอาจจะยังลังเลกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ จึงยังไม่กล้าที่จะตัดสินใจลงทุน แต่กรอ.เห็นว่า หากพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 10 กลุ่ม ที่รัฐบาลพยายามเร่งรัดการส่งเสริม ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนที่ดี โดยเห็นได้จากในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ มีการจดประกอบกิจการและการขยายโรงงาน มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมมูลค่าลงทุนกว่า 1.59 หมื่นล้านบาท และหากรวมตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีมูลค่าลงทุนกว่า 2.45 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากแยกเป็นอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร จะมีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 141 โรงงาน เงินลงทุน 6.756 พันล้านบาท คนงาน 4.9 พันคน และหากพิจารณาการลงทุนตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จะมีโรงงานถึง 985 โรงงาน มีการใช้แรงงานจำนวนมาก มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.17 แสนล้านบาท และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงโดยกลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร ปทุมธานี และกรุงเทพฯ

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยายในช่วง 4 เดือนจำนวน 18 โรงงาน เงินลงทุน 2.072 พันล้านบาท คนงาน 842 คน แต่หากพิจารณาจากปี 2557 เป็นต้น จะมีการลงทุนรวม จำนวน 307 โรงงาน เงินลงทุน 6.76 หมื่นล้านบาท มีคนงาน 1.57 หมื่นคน โดยกลุ่มนี้ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 5.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยกลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยาย จำนวน 22 โรงงาน เงินลงทุน 5.54 พันล้านบาท คนงาน 5.24 พันคน หากรวมโครงการลงทุนตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันจะมีการลงทุนรวม จำนวน 275 โรงงาน เงินลงทุนรวม 4.2 หมื่นล้านบาท คนงาน 2.64 หมื่นคน โดยกลุ่มจังหวัดที่มีขยายตัว อาทิ จังหวัดชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ รวมถึงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ มีจำนวนโรงงานที่จดประกอบและขยายในช่วง 4 เดือนนี้อยู่ที่ 5 โรงงาน เงินลงทุน 1.577 พันล้านบาท มีคนงาน 87 คน หากรวมการลงทุนตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีโรงงานรวม 52 โรงงาน เงินลงทุน 1.88 หมื่นลานบาท โดยจังหวัดที่มีการเติบโต อาทิ อ่างทอง นครสวรรค์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น

ดร.พสุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในกลุ่มเป้าหมายใหม่หรือ News S-Curve ปัจจุบันมีการจดประกอบโรงงาน จำนวน 11 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุนรวม 302.33 ล้านบาท

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559