เชฟรอนเดินหน้าปลดพนักงาน ให้สมัครใหม่มีผลทำงาน1ก.ค.หวังลดต้นทุน160ล้านดอลลาร์

05 พ.ค. 2559 | 04:30 น.
เชฟรอนประเทศไทย ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรใหม่แล้ว เริ่มกระบวนการปลดพนักงานคั้งแต่ 9 พ.ค.นี้เป็นต้นไป โดยจะสื่อสารให้พนักงานเข้าใจและยอมรับ พร้อมเปิดให้มีการสมัครและคัดสรรเลือกบุคคลใหม่เข้าทำงาน และประกาศชื่อ 1 ก.ค. ส่วนผู้ไม่ได้ถูกเลือกพร้อมจ่ายค่าชดเชย ขณะที่ภาครัฐวอนขอให้ปลดพนักงานเป็นทางเลือกสุดท้าย

แหล่งข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้มีการประกาศการปรับโครงสร้างองค์กรในการบริหารงานใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาถึงโครงสร้างใหม่จะเป็นอย่างไร ในการปลดพนักงานที่มีอยู่ราว 4 พันคน จากการได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ โครงสร้างใหม่ ได้มีการประกาศแผนปฏิบัติการให้กับพนักงานรับทราบทั่วกัน โดยมีขั้นตอนในการปลดพนักงานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป ที่จะเริ่มการสื่อสารผ่านไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายใน โดยวิธีการสัมมนา เพื่อถ่ายทอดวิธีการ และให้ได้รับการยอมรับจากพนักงาน และวันที่ 16 พฤษภาคม จะสื่อสารให้พนักงานทุกคนในองค์กรรับทราบแผนการ และแผนการชดเชย ในการถูกปลดให้ออกจากงาน

โดยจะมีการเปิดรับสมัครพนักงานในตำแหน่งต่างๆ ที่ได้จัดองค์กรใหม่ไว้เรียบร้อยแล้วระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม- 5 มิถุนายน และในวันที่ 15-22 มิถุนายน 2559 จะเริ่มต้นกระบวนการคัดสรร พนักงานปัจจุบัน เพื่อบรรจุในตำแหน่งงานเพื่อจัดวางในโครงสร้างใหม่ และในวันที่ 1 กรกฎาคม ประกาศผลแจ้งชื่อคนที่ได้รับเลือกให้อยู่ทำงานต่อไป และประกาศรายชื่อผู้ที่ถูกเลิกจ้าง และในวันที่ 5 กรกฎาคม จะเริ่มการทำงานภายใต้โครงสร้างองค์กรใหม่ และเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของผู้ที่ถูกบริษัทฯ เลิกจ้าง

ทั้งนี้ ในส่วนที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะที่กำกับดูแลบริษัทผู้รับสัมปทานพยายามที่จะสื่อสารไปถึงบริษัทที่มีแผนดังกล่าว ให้พิจารณาเลือกวิธีปรับลดพนักงานเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยต้องการให้ใช้แนวทางของการปรับลดค่าตอบแทน หรือหากมีความจำเป็นต้องปรับลดพนักงานจริง ก็ขอให้เป็นจำนวนที่น้อยที่สุด

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับจำนวนพนักงานที่ถูกปลดออกนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจำนวนเท่าใด แต่จะมีทั้งพนักงานคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งบริษัท เชฟรอนฯต้องการลดต้นทุนหรือค่าจ้างของพนักงานลงราว 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่ โดยภายในเดือนพฤษภาคมนี้ พนักงานทุกคนในบริษัทดังกล่าวจะได้รับทราบว่าใครจะได้อยู่ในตำแหน่งและใครจะต้องถูกปรับให้ออกจากงาน พร้อมรับเงินชดเชยตามแผนที่บริษัทวางเอาไว้

สาเหตุที่เชฟรอนตัดสินใจปลดพนักงาน ซึ่งอ้างถึงทิศทางของราคาน้ำมันดิบที่ยังตกต่ำ การปรับลดปริมาณการผลิตต่อวันตามสัญญาซื้อขาย (Daily Contract Quantity: DCQ) แหล่งอาทิตย์ลดลง 20-30% จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ยังอ้างถึงทิศทางที่ไม่แน่นอนที่จะต้องคืนแหล่งสัมปทานเอราวัณ ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2564

อย่างไรก็ตามในส่วนของแนวทางการช่วยเหลือนั้น แม้ว่ากรมฯ จะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทผู้รับสัมปทานให้ปฏิบัติตามกฎหมายปิโตรเลียม แต่เรื่องของการปรับลดพนักงาน ถือเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในองค์กร ที่กรมฯไม่สามารถจะเข้าไปแทรกแซงได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามสื่อสารที่จะขอความร่วมมือให้ฝ่ายบริหารเลือกใช้วิธีการปรับลดพนักงานเป็นแนวทางสุดท้าย

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติควรจะมีบทบาทในการเข้าไปดูแลพนักงานคนไทยที่อยู่ในข่ายจะถูกปรับออกจากงาน โดยอย่างน้อยก็ควรให้บริษัทที่มีแผนจะเลิกจ้างพนักงาน ที่มีผลกำไรมาโดยตลอด ได้อธิบายเหตุผลความจำเป็นในการปรับลดพนักงานของตัวเองลงในครั้งนี้ เพื่อให้รัฐได้รับทราบถึงสถานการณ์ ข้อเท็จจริง ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)หรือปตท.สผ. ที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้รับสัมปทานในอ่าวไทย และได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน จนมีผลประกอบการที่ขาดทุน ยังเลือกที่จะรักษาบุคคลากรของตัวเองเอาไว้ เพราะถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าขององค์กร แต่บริษัทต่างชาติ กลับเลือกที่จะปรับลดคน โดยเฉพาะพนักงานที่เป็นคนไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559