ลุ้นไม่ขึ้นเรตติ้งทีวีดิจิตอล ช่อง7ยึดแชมป์/กูรูแนะสร้างคอนเทนต์ที่แตกต่าง

06 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
2 ปีทีวีดิจิตอล “เรตติ้ง” แชมป์ไม่เปลี่ยนมือ “ช่อง 7” นำโด่ง 3.340 ตามติดด้วยช่อง 3 HD 2.177 ด้านเอเยนซีชี้ผู้ประกอบการเร่งสร้างคอนเทนต์ระยะยาวและแตกต่าง วางรากฐาน 2-3 ปีจึงยืนหยัดได้ ขณะที่ “เวิร์คพอยท์” โอดเศรษฐกิจซบ ขยับขึ้นค่าโฆษณายาก ขณะที่ “โมโน” ให้คะแนนตัวเองแค่พอใช้ ลุ้นสิ้นปีเรตติ้งขยับ

[caption id="attachment_50344" align="aligncenter" width="700"] การจัดอันดับเรตติ้งทีวีดิจิตอล ประจำเดือนเมษายน 2559 การจัดอันดับเรตติ้งทีวีดิจิตอล ประจำเดือนเมษายน 2559[/caption]

การครบรอบ 2 ปีของทีวีดิจิตอลในเดือนเมษายนนี้ หลายฝ่ายต่างจับตามองว่า เรตติ้ง หรือตัวเลขที่ชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจสื่อโทรทัศน์จะเป็นอย่างไร เปลี่ยนมือจากแชมป์เดิมที่ครองตำแหน่งมาหลายยุค หลายสมัยหรือไม่ หลังจากที่ผู้ประกอบการแต่ละช่องพยายามปรับรูปแบบคอนเทนต์ การนำเสนอ เพื่อสร้างจุดขายและเข้าถึงผู้ชมให้มากที่สุด และล่าสุดบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดเผยถึงผลการวัดเรตติ้งทีวีล่าสุด ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 1-25 เมษายนที่ผ่านมาว่า ช่องทีวีที่มีเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นของช่อง 7 HD โดยมีเรตติ้งเฉลี่ย 3.340 รองลงมาได้แก่ ช่อง 3HD เรตติ้ง 2.177 เวิร์คพอยท์ 1.198 โมโน 0.735 ช่อง 8 0.498 ช่อง ONE 0.447 เป็นต้น (รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จากตาราง)

โดยนายรัฐกร สืบสุข เทรดดิ้งพาร์ตเนอร์ บริษัท กรุ้ปเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดทีวีดิจิตอลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในด้านของเนื้อหารายการมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ชมที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสามารถแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มช่องทีวีหัวแถวที่มีทิศทางชัดเจน 2.กลุ่มช่องทีวีที่กำลังทดลองตลาด 3.กลุ่มช่องทีวีที่รอโอกาสเหมาะสม และ 4.กลุ่มช่องทีวีที่ถอดใจ

สำหรับกลุ่มช่องทีวีกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มหัวแถวฟรีทีวีรายเดิม ที่สามารถหาทิศทางการตลาดและผังรายการที่ชัดเจน กลุ่มที่ 2 กลุ่มช่องทีวีที่กำลังทดลองตลาดกลุ่มนี้จะเน้นการแข่งขันเรื่องราคาโฆษณารุนแรง และทำแพ็กเกจการขายโฆษณาให้ดึงดูด คุ้มค่า โดยกลุ่มนี้ปัจจุบันเนื้อหาคอนเทนต์ยังไม่มีความโดดเด่นมากนัก กลุ่มที่ 3 กลุ่มช่องทีวีที่รอโอกาสเหมาะสม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รอจังหวะทุ่มงบประมาณพัฒนาเนื้อหาคอนเทนต์และรอลูกค้าต่างๆจะทดลองใช้เงินในตลาดทีวีดิจิตอล และกลุ่มที่ 4 คือกลุ่มช่องทีวีที่ถอดใจ ลงทุนพัฒนาเนื้อหาคอนเทนต์ด้วยงบประมาณที่ต่ำ มีผังรายการปกติไม่เปลี่ยนแปลงอย่างใด

“ปัจจุบันพฤติกรรมผู้ชมไม่สนใจว่าช่องไหน ยังไง แต่จะให้ความสนใจกับเรื่องของคอนเทนต์มากกว่าเมื่อไรที่มีคอนเทนต์ที่ดีหรืออยู่ในกระแส ผู้ชมสามารถเปลี่ยนช่องได้ทันที ขณะเดียวกันที่ผ่านมาจากการสังเกตตลาดคอนเทนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่น่าดึงดูดและเป็นรูปแบบ Short time เช่น ช่องไหนทำละครดัง ช่องอื่นๆก็จะทำละครชนเวลากัน เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนตัวอยากให้ทำคอนเทนต์ระยะยาวมากกว่า เช่น การผลิตข่าวเช้าของช่องฟรีทีวีรายเดิมที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ชมให้หันมาชมข่าวเช้าได้จากอดีตที่นิยมเสพข่าวช่วงกลางคืนเท่านั้น เป็นต้น ซึ่งคอนเทนต์รูปแบบนี้คือคอนเทนต์ระยะยาวเนื่องจากสามารถแปลงเปลี่ยนพฤติกรรมคนกลุ่มใหญ่ได้”

ด้านภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในตลาดทีวีดิจิตอลที่ผ่านมา ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อโดยรวมทั้งหมดยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะเดียวกันยังเกิดปัญหาแย่งเม็ดเงินโฆษณาในตลาดกันเอง ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายใดที่มีความพร้อมทั้งในด้านของเงิน บุคคลากรและสามารถรักษาฐานได้อย่างนี้ไปอีก 2-3 ปีจะเป็นผู้ที่อยู่รอดในอุตสาหกรรม อีกทั้งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใดที่เดินหน้าตลาดออนไลน์ก่อนเป็นรายแรกๆ ย่อมได้เปรียบ เนื่องจากต่อไปตลาดออนไลน์จะเริ่มมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และผู้ประกอบการรายใดที่สามารถพัฒนาเนื้อหาคอนเทนต์ให้โดดเด่นในช่องทางนี้ได้ก่อนก็จะดี

“ส่วนตัวมองว่าราคาโฆษณาของฟรีทีวีจะไม่มีวันลดลงกว่านี้ แม้จะมีช่องทีวีดิจิตอลจำนวนมากเกิดขึ้นก็ตาม หากสังเกตที่ผ่านมาแม้ภาพรวมตลาดทีวีอนาล็อกจะลดลง แต่ในด้านของรายการบางช่วงในช่องฟรีทีวีรายเดิมยังมีเรตติ้งสูงและมีผู้ชมจำนวนมาก ดังนั้นแม้ตลาดทีวีดิจิตอลจะเติบโตก็ยังเป็นสัดส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฟรีทีวีรายเดิม”
ด้านนายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง “เวิร์คพอยท์ ทีวี” กล่าวว่า 2 ปีที่ดำเนินงานช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ปัญหาหลักคือภาพรวมเศรษฐกิจทรงตัว ส่งผลให้มูลค่าตลาดเม็ดเงินโฆษณาติดลบ และส่งผลให้ผู้ประกอบการทำงานลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มราคาโฆษณาให้สอดคล้องกับเรตติ้งเป็นสิ่งที่ทำยากมาก ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมค่อนข้างรุนแรงมาก เนื่องจากมีผู้เล่นจำนวนมากเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแต่ละช่องต่างพยายามที่จะก้าวขึ้นมาในอันดับ Top 10 ดังนั้นบริษัทต้องทำงานละเอียด และรอบคอบมากขึ้นโดยเฉพาะความแม่นยำเรื่องคอนเทนต์

"เศรษฐกิจที่ทรงตัว ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาได้รับผลกระทบไปด้วย ในส่วนของบริษัทเองก็ทำงานยากขึ้นโดยเฉพาะการปรับขึ้นเรตค่าโฆษณาที่สามารถเพิ่มได้เพียง 30-35% เท่านั้นทั้งที่ความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับเรตติ้งที่บริษัทได้มานั้น น่าจะทำให้ปรับเรตโฆษณาได้มากกว่านี้ แต่อีกด้านก็พบว่า เมื่อลูกค้าระวังในการใช้เงิน เมื่อไม่สามารถซื้อโฆษณาช่องฟรีทีวีรายเดิมได้ตัวเลือกต่อไปก็คือ เวิร์คพอยท์ทีวี"

อย่างไรก็ตามวันนี้มองว่าการเข้ามาในธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นเรื่องที่ดีทั้งในด้านของเรตติ้งและรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี 100% เมื่อเทียบกับตอนออกอากาศช่องเวิร์คพอยท์ในรูปแบบทีวีดาวเทียม ในครั้งนั้นบริษัทมีฐานคนดูเฉลี่ย 0.1-0.2 เท่านั้น แต่ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนแพลตฟอร์มเป็นทีวีดิจิตอลบริษัทสามารถขยับฐานคนดูได้เพิ่มเป็น 1.2 ทั้งนี้มองว่าจากนี้ไปอีก 3-5 ปีข้างหน้าภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเร่งขยายฐานผู้ชมให้มากขึ้น หากรายใดไม่สามารถขยายฐานได้ก็ควรจะรักษาฐานให้ดี นอกจากนี้เป้าหมายในสิ้นปีนี้ของบริษัทคือการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 10-12% จากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งประมาณ 7% ขณะที่ปี 2557 มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 2% เท่านั้น

ขณะที่นายนวมินทร์ ประสพเนตร ผู้ช่วยประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง “MONO 29” กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเรตติ้งทีวีในช่วง 2 ปีที่เกิดทีวีดิจิตอลนั้น เริ่มเห็นได้จากการถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกที่ผ่านมา ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านช่องฟรีทีวีรายใหม่ (ช่องONE) พบว่า แม้จะเป็นช่องใหม่แต่สามารถทำเรตติ้งได้กว่า 10 ดังนั้นในวันนี้เชื่อว่าโครงข่ายและข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับทีวีดิจิตอลเข้าถึงประชาชนหมดแล้ว รวมถึงคอนเทนต์ในตลาดที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมของโมโนฯ เริ่มดีขึ้นตามลำดับ โดยตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเรตติ้งของช่องโมโนขยับขึ้นต่อเนื่อง จนสามารถเพิ่มเรตค่าโฆษณาได้ทุกไตรมาส จากเดิมปีแรกที่ขายโฆษณาเฉลี่ยทั้งช่องได้เพียงหลักพันบาท ปัจจุบันสามารถขยับเพิ่มเป็นหลักหมื่นบาทแล้ว

"ปัจจุบันแม้ภาพรวมอุตสาหกรรมจะยังไม่ดีเท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ก็ตาม แต่ก็นับว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างพอใจ ส่วนในด้านของธุรกิจ 2 ปีที่ผ่านมาน่าพอใจเช่นกัน อย่างไรก็ตามในแง่ของการทำธุรกิจต้องการเป้าหมายที่ดีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในด้านของรายได้และเรตติ้ง ซึ่งในสิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มเรตติ้งเป็น 0.8-0.9 จากปัจจุบันเรตติ้งอยู่ที่ประมาณ 0.55-0.6 ขณะที่ด้านของรายได้ปีนี้บริษัทตั้งเป้าอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาทจากปีก่อนมีรายได้กว่า 600 ล้านบาท"

โดยภาพรวมอุตสาหกรรมหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละช่องว่า มีสายป่านยาวแค่ไหน ทั้งในด้านของทีมบุคลากร และงบประมาณคอนเทนต์ นอกจากนี้บริษัทเชื่อว่า 3-5 ปีจากนี้จุดสมดุลของราคาโฆษณาระหว่างทีวีรายเดิมและทีวีรายใหม่จะขยับใกล้เคียงกัน เนื่องจากต่อไปช่องทางการวัดเรตติ้งจะมาจากที่เดียวกันเมื่อการวัดเรตติ้งโฆษณามาจากช่องทางเดียวกัน ราคาโฆษณาต้องมีอัตราใกล้เคียงเช่นเดียวกัน

เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ยังระบุว่าผลการรับชมโทรทัศน์ของคนไทยทั่วประเทศ ในเดือนเมษายน 2559 มีผู้ชมฟรีทีวีรายใหม่ (ทีวีดิจิตอล) สัดส่วน 43.41% และฟรีทีวีรายเดิม (ช่อง 3 5 7 9 ) สัดส่วน 56.59% ซึ่งเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนที่ฟรีทีวีรายใหม่มีสัดส่วน 28.62% และฟรีทีวีรายเดิมมีสัดส่วน 71.38%

สัดส่วนการรับชม (Market Share) ฟรีทีวีดิจิตอลรายใหม่ในเดือนเมษายน 2559 พบว่าช่อง 7 เป็นอันดับ 1 ที่มีการรับชมมากที่สุดในสัดส่วน 32.71% รองลงได้แก่ ช่อง 3 HD 19.95% , เวิร์คพอยท์ 11.11% , โมโน 6.81% , ช่อง 8 4.79% , ช่อง ONE 4.12% , ช่อง 3SD 2.41% , ทรูโฟร์ยู 2.20% , ช่อง 9 อยู่ที่1.95% , ไทยรัฐทีวี 1.88% , จีเอ็มเอ็มแชนแนล 1.64% , ช่องนาว 1.64% , พีพีทีวี 1.19% ,ช่อง 3 Family 1.07% , อมรินทร์ทีวี 1.03% , ไทยพีบีเอส 0.95% , เนชั่นทีวี 0.82% , ช่อง 5 0.70% , สปริงนิวส์ 0.69% , นิวทีวี 0.65% , ทีเอ็นเอ็น 0.49% , NBT 0.33% , ไบร์ททีวี 0.30% , วอยซ์ทีวี 0.30% และ MCOT Family 0.28%

ขณะที่สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) ได้สำรวจมูลค่าการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในเดือนมีนาคม 2559 พบว่ามีมูลค่ารวมราว 6.57 พันล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 25% จากเดือนกุมภาพันธ์ แบ่งเป็นการโฆษณาในช่องรายการเดิม 4.84 พันล้านบาท ช่องรายการดิจิตอลใหม่ 1.72 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 281 ล้านบาท จากเดือนกุมภาพันธ์ที่มีเม็ดเงินโฆษณา 1.44 พันล้านบาท

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559