‘โนเกีย’ตั้งเป้ารุกธุรกิจอี-เฮลธ์ ทุ่มเงินซื้อกิจการบริษัทสตาร์ตอัพ

04 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
"โนเกีย" เดินหน้าแผนรุกกลับเข้าสู่ธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลังขายกิจการโทรศัพท์มือถือไปเมื่อ 2 ปีก่อน เตรียมทุ่มเงินซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับสุขภาพรูปแบบดิจิตอล วิทธิงส์ ของฝรั่งเศส

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โนเกีย คอร์ป ผู้ผลิตอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมจากฟินแลนด์ เตรียมทุ่มเงิน 170 ล้านยูโรซื้อกิจการบริษัท วิทธิงส์ บริษัทสตาร์ตอัพของฝรั่งเศสที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ตรวจสุขภาพรูปแบบดิจิตอลเป็นรายแรกๆ

แผนการซื้อกิจการวิทธิงส์ของโนเกียในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของบริษัทที่ต้องการกลับมาเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคอีกครั้ง โดยหลังจากถอนตัวออกจากธุรกิจผลิตโทรศัพท์มือถือด้วยการขายกิจการไปให้กับไมโครซอฟท์เมื่อ 2 ปีก่อน โนเกียแทบไม่มีธุรกิจการผลิตอุปกรณ์อื่นใดเลยนอกจากแท็บเลตคอมพิวเตอร์ในตลาดจีน และเพิ่งเปิดตัวกล้องระบบความจริงเสมือนสำหรับธุรกิจในราคา 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเมื่อเดือนก่อน
แรมซี ไฮดามุส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของโนเกียกล่าวว่า "เมื่อตอนที่ผมได้รับเลือกให้มาดำรงตำแหน่งนี้ หน้าที่ของผมคือพาบริษัทกลับสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ เป้าหมายคือการกลับสู่รากเหง้าด้านนวัตกรรมของและฟื้นฟูบริษัทขึ้นอีกครั้ง"

การควบรวมกิจการของวิทธิงส์จะทำให้โนเกียก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดอุปกรณ์เพื่อสุขภาพดิจิตอล ซึ่งมีความใกล้เคียงกับตลาดอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ เช่น ฟิตเนสแทร็กเกอร์ และสมาร์ทวอตช์ โดยธุรกิจดังกล่าวได้เปลี่ยนจากเพียงธุรกิจสตาร์ตอัพมาเป็นสนามแข่งขันของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ด้วยผลิตภัณฑ์ อาทิ นาฬิกาข้อมือตรวจวัดชีพจร หรือสายคาดศีรษะตรวจจับคลื่นสมอง ที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ เป็นต้น

วิทธิงส์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ด้วยผลิตภัณฑ์ตัวแรกคือเครื่องชั่งน้ำหนักที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ หลังจากนั้นได้ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาสู่สมาร์ทวอตช์ ฟิตเนสแทร็กเกอร์ เธอร์โมมิเตอร์ เครื่องวัดความดัน และอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพการนอนหลัง เป็นต้น

เซดริก ฮัตชิงส์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของวิทธิงส์ กล่าวว่า ได้พยายามมองหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาช่วยเหลือการขยายธุรกิจของบริษัทตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ทั้งนี้ ปัจจุบันวิทธิงส์มีพนักงานประมาณ 200 คนทำงานอยู่ที่สำนักงานในฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง

"ในฐานะเจ้าของกิจการ ผมมองหาช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับแหล่งเงินทุนเพื่อให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป้าหมายคือเร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแผนแม่บทของเรา" ฮัตชิงส์กล่าว

โนเกียซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์มือถือ ตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจดังกล่าวด้วยการขายกิจการให้กับไมโครซอฟท์ในปี 2557 หลังจากไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสมาร์ทโฟนอย่างแอปเปิลและซัมซุงได้ นับตั้งแต่นั้นโนเกียหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคม และเสริมความแข็งแกร่งด้วยการซื้อกิจการบริษัท อัลคาเทล-ลูเซ่นฯ เป็นมูลค่า 1.56 หมื่นล้านยูโรเมื่อไม่นานมานี้ โดยในปีที่ผ่านมาโนเกียทำกำไรได้ 1.26 พันล้านยูโร

ไฮดามุสกล่าวว่า โนเกียได้เริ่มทำการวิจัยภายในเกี่ยวกับการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีเซ็นเซอร์บนข้อมือไปแล้ว แต่การซื้อกิจการของวิทธิงส์จะเป็นการช่วยเพิ่มอุปกรณ์และช่องทางจำหน่ายให้กับโนเกียโดยไม่ต้องพัฒนาขึ้นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559