ชัดถ้อยชัดคำกับอดีตบิ๊ก ททท. โด๊ปท่องเที่ยว ต้องไม่(เสีย)สมดุล

07 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
ยามเศรษฐกิจมีปัญหาการท่องเที่ยวมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟื้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลหลายยุคต่างก็หันมาใช้บริการของการท่องเที่ยว และให้ความสำคัญในเชิงรายได้ โดยไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมในการรองรับและปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา ท่องเที่ยวไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ติดตามได้จาก สัมภาษณ์พิเศษ "ภราเดช พยัฆวิเชียร" อดีตผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่แม้จะเกษียณราชการไปร่วม 10 ปี แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและมีส่วนร่วมในการทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในฐานะกูรูด้านท่องเที่ยวและนักวิชาการ ที่ทรงคุณวุฒิของหลายองค์กร

อดีตผู้ว่าการททท. ยอมรับว่า เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาก็มักใช้เรื่องท่องเที่ยวมาฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำได้แต่ก็ขออย่าให้เสียสมดุล เพราะตอนนี้เรามีตัวชี้วัดด้านเดียวคือรายได้ ซึ่งอันตรายมาก ทางที่ดีต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก ทั้งที่แผนพัฒนาการท่องเที่ยวตั้งแต่แรกเริ่ม ก็มีการพูดถึงการกระจายรายได้ การสร้างงานสู่ชุมชน แต่ตัวชี้วัดก็ยังคือจำนวนคนกับรายได้ แม้ตอนหลังเราจะมุ่งรายได้เป็นหลัก ไม่พูดถึงจำนวน แต่ถ้าวันพักเฉลี่ย ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่ม รายได้ก็ทำได้ยากก็กลับไปดูจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนเดิม

 นักท่องเที่ยวกระจุกแค่ 9 จังหวัด

ขณะที่การทำการตลาดไม่ใช่ปัญหาสำหรับการท่องเที่ยว ถ้าย้อนไปปี 2540 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 7 ล้านคน กระจายไป 7 หัวเมืองหลัก เพิ่มเป็น 14 ล้านคนก็ยังกระจายไป 7 เมืองหลักเหมือนเดิม โดยเมืองหลักที่ว่าวัดจากนักท่องเที่ยวพักเกิน 1 วัน และมีจำนวนเกิน 1 ล้านคนต่อปี ล่าสุดมีจำนวนนักท่องเที่ยว 32 ล้านคน การกระจายตัวนักท่องเที่ยวเพิ่มมาอีก 2 เมือง คือจังหวัดสงขลากับพังงา ส่วนอีก 7 เมืองก็เหมือนเดิมคือ เชียงใหม่ ชลบุรี กทม. สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ เมืองอื่นๆ เพิ่มน้อยมาก ทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลทางการท่องเที่ยว

ดังนั้นเป้ารายได้ 2.3 ล้านล้านบาท จากปีที่ผ่านมาปีนี้จะต่ำกว่าได้ไหม ผมมองว่าเราไม่ต้องตั้งเป้าเป็นตัวเลข แต่ขอให้เกิดการชี้วัดอย่างอื่น เช่น แหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง เมืองต้องห้ามพลาด หรือเมืองต้องห้ามพลาด (พลัส) ตั้งเป็นเป้าได้ไหมว่าต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปเพิ่มอีกล้านคน คนไทยจะไปเท่าไร มีการตั้งวิสาหกิจชุมชนเพิ่ม ท้องถิ่นมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มหรือไม่ มีการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นโซเชียล เอนเตอร์ไพรส์ ลองกำหนดขึ้นมาแล้วดูว่าท้องถิ่นเขาอยากทำอะไรและรัฐมีเครื่องมืออะไรไปสนับสนุน

กูรูด้านท่องเที่ยวยังย้ำอีกว่า ปัญหาท่องเที่ยวของไทยคือไม่กระจาย การเดินทางกระจุกอยู่ไม่กี่เมือง ขณะที่รัฐมีงบประมาณเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว แต่นโยบายก็ต้องมองให้ครบวงจร ถ้าให้ท้องถิ่นดำเนินการก็จะทำแต่เรื่องก่อสร้าง แต่ขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ ยกตัวอย่าง บ่อน้ำพุร้อน เมืองกาญจน์ ได้เงินไปสร้าง แต่ไม่มีการทำแลนด์สเคป แต่การก่อสร้าง เราปล่อยให้การพัฒนาเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ต้องทำให้ครบทั้งขบวนการ ให้ความรู้ ออกแบบ บริหารจัดการ พัฒนาคน ไม่งั้นก็ไม่เกิดประโยชน์

นอกจากนี้การพัฒนาโครงการต้องมีเป้าหมายให้ชัดด้วยเช่นว่า อยู่ในคลัสเตอร์ไหม ถ้าพัฒนาบ่อน้ำพุร้อน เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งต้องไม่ใช่แค่เพื่อการรักษา แต่ต้องทำให้เกิดการพัฒนากระจายพื้นที่ ทั้งทัวร์ปั่นจักรยาน เดินป่า ออกกำลังกาย มวยไทย ทำอาหาร ผลักดันไปในหลายมิติถ้าเชื่อมโยงกันได้ก็จะเกิดการกระจายตัว จากเมืองหลักไปเมืองรองโดยเอากิจกรรมเป็นตัวเชื่อม ที่ผ่านมาขาดการมองในเชิงระบบ เป็นคสัสเตอร์ คอนเซ็ปต์ ดังนั้นทิศทางการปฏิรูปต้องชัดนำไปสู่ภาคปฏิบัติ ไม่ใช่เอาโปรดักต์ที่ดังอยู่แล้วมาโปรโมต

 ต้องมองมิติทางสังคม/วัฒนธรรม

" เราซีเรียสกับเป้ารายได้ แต่ตอนนี้เมื่อเทียบกับปัญหาระยะยาวหักลบกันแล้วอาจจะไม่เหลืออะไรมากเมื่อเทียบปัญหากับเงินที่ได้มา เพราะถ้าเราไม่พร้อมโตเร็วไปมีต้นทุนทั้งนั้น การท่องเที่ยวต้องกินยาว และต้องมองถึงมิติทางสังคม วัฒนธรรม เป็นตัวชี้วัดไม่ใช่ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว" อดีตผู้ว่าการ ททท.ให้ความเห็น

อย่างไรก็ดีการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่รัฐและเอกชน แต่ต้องมีบทบาทที่ 3 คือชุมชน ซึ่งเขาเป็นเจ้าของต้นทุนวัฒนธรรมท้องถิ่น ตัวอย่างไนท์ซาฟารี รัฐลงทุนหลายร้อยล้านบาท นักท่องเที่ยวไปกี่ครั้ง เทียบกับตลาดน้ำสามชุก สุพรรณบุรีนักท่องเที่ยวไปมากกว่าหรือไม่ รัฐให้อะไรเขาบ้าง ประเทศไทยมีมากกว่าสามชุก แต่ไม่มีใครเข้าไปต่อยอด ขยายออกไป เมืองหลัก เมืองรอง เหมือนทีมฟุตบอลดิวิชันเอ ระดับ 1 ก็ต้องมี บีและซี ค่อย ๆ ทำ อย่าใจร้อน ก็จะเกิดสินค้าใหม่ ๆ

ส่วนการอัดฉีดการท่องเที่ยวเพราะรัฐถังแตกใช้ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อปั๊มตัวเลขระยะสั้น ๆ ถูกนำออกมาใช้หลายรัฐบาล เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการหารายได้ เพราะถ้าคนมาก็ยังมีการใช้เงิน แต่ปัญหากลับทับถมไปเรื่อย ๆ และก่อให้เกิดต้นทุนทางการท่องเที่ยว เพราะถ้ามาแล้วไม่มาอีกเรายิ่งเสีย ทำให้การลงทุนด้านการท่องเที่ยวต่อคนต่อหัวใช้มากกว่าคนอื่น ตัวอย่างง่าย ๆ โรงแรม 4 ดาวในบ้านเราเทียบกับในเสียมราฐ ในลาวหรือเมียนมา อาจจะบริการแย่กว่าเรา แต่กลับขายได้ราคาดีกว่า แสดงว่าต้นทุนเราสูง และยิ่งถ้าเราใส่เงินลงทุนเข้าไปอีกเพราะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านเขาใหม่ สดกว่า จึงขายได้ราคา ก็ยิ่งเพิ่มต้นทุนเข้าไปอีก

 ต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น

"ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่า สัดส่วนต้นทุนรายได้ กับค่าใช้จ่าย percapita ต้นทุนเราสูงกว่าประเทศอื่น และเป็นการเสี่ยงระยะยาว ถ้ามองแค่รายได้" อยากชี้เทรนด์ให้เห็นว่า ถ้าเราไม่คิดสัดส่วนต้นทุน ระยะยาวอันตราย ต้องยึดอะไรหลัก อะไรรอง ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เพราะถ้าเราห่วงแต่เพิ่มจำนวน และนักท่องเที่ยวยังกระจุกตัว มุ่งแต่ตลาดทัวร์จีน ไม่บาลานซ์นักท่องเที่ยว เสร็จแน่ เพราะไม่ใช่เราไม่อยากได้นักท่องเที่ยวจีน แต่ต้องพอเหมาะพอควร ต้องไดเวอร์ ต้องแมตชิ่ง สิ่งที่เขาต้องการ โดยจัดสินค้าทางการท่องเที่ยวให้เหมาะสม เพราะถ้าโตเร็วเกินไป ก็เอาต์ออฟคอนโทรล พอมีเสียงบ่น ฟลีตเขาก็จะหาว่าเราไม่ต้อนรับทัวร์จีนเป็นปัญหาตามมาอีก

ส่วนการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น ก็ต้องทำให้ท้องถิ่นมีเน็ตเวิร์ก มีอำนาจในการต่อรอง มีไมโครไฟแนนซ์ มีพันธมิตรทางธุรกิจ ความรู้ทางวิชาการ เกิดกระบวนการคิดร่วมกัน เขาอยากได้อะไรกับการท่องเที่ยวและไม่อยากได้อะไร ท้องถิ่นต้องมีภูมิคุ้มกัน ต้องบูรณาการทั้งสินค้าและวัฒนธรรม เพราะการท่องเที่ยวคือการเอาตลาดไปถึงผลิตภัณฑ์ ต้นทุนโดยตรง ถ้าทำดีๆ จะเป็นโปรดักต์

เทสเตอร์ให้แต่ละชาติรู้ว่านักท่องเที่ยวแต่ละชาติต้องการอะไร แต่ต้องมีคนช่วยประคับประคอง ทำได้ ก็จะเกิดกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเกิดขึ้นมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559