นับถอยหลังลุ้นตั้ง‘ธนาคารที่ดิน’สปท.ส่งร่างก.ม.ถึงมือ‘บิ๊กตู่’

05 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดินทำกิน อันเกิดขึ้นจากการถือครองที่ดินไปกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุนใหญ่ ถือเป็นวาระเร่งด่วนอันดับต้น ๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ นับตั้งแต่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน

[caption id="attachment_49953" align="aligncenter" width="700"] กลไกการดำเนินงานของธนาคารที่ดิน กลไกการดำเนินงานของธนาคารที่ดิน[/caption]

 ไฟเขียวต่ออายุบจธ.

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เจ้าของเรื่อง โดยมีสาระสำคัญคือ เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันดังกล่าว ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559

รวมทั้งขอขยายระยะเวลาการดำเนินการของบจธ. จากที่กำหนดไว้ 5 ปี เป็น"ให้ บจธ.ยุบเลิกเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน หรือเมื่อพ้นระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ร่าง พ.ร.ก.ในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับ แม้จะยังมิได้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน" เนื่องจากตามข้อบังคับเดิมวาระการทำงานของบจธ.งวดเข้ามาเต็มที ขณะที่การผลักดันกฎหมายจัดตั้งธนาคารที่ดิน แม้จะรุดหน้าไปมากแล้วแต่ยังต้องใช้เวลาตามขั้นตอนของกระบวนการนิติบัญญัติอีกระยะ

"ฐานเศรษฐกิจ"จึงติดตามสถานะของร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ซึ่งจะเป็นกลไกหลักหนึ่งในการถอดสลักปัญหา ความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม

 ร่างก.ม.ธนาคารที่ดินส่งถึงมือครม.

วันเดียวกัน (26 เมษายน) ที่รัฐสภา ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน เรื่อง ธนาคารที่ดินและร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. .... ซึ่งยึดหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ได้เคยเสนอเอาไว้ และเพิ่มเติมในบางเรื่องให้รัดกุมยิ่งขึ้น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะกรรมาธิการ ชี้แจงความคืบหน้าของรายงานว่า ธนาคารที่ดินจะดำเนินการในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ดินเป็นสำคัญ โดยเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่จะช่วยดูแลฟื้นฟูหนี้เสียในภาคเกษตรของไทยให้กลับเป็นปกติอีกครั้ง และไม่จำเป็นต้องนำสินทรัพย์มาเร่งขายทอดตลาด โดยรับโอนหนี้ดังกล่าว และที่ดินติดจำนองหรือขายฝากไว้มาไว้ที่ธนาคารที่ดิน เป็นกลไกสำคัญของรัฐที่จะช่วยลดปัญหาที่ดินหลุดมือให้กับภาคเกษตรของไทย ทั้งนี้ ธนาคารที่ดินแห่งนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะรับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป

ส่วนแหล่งที่มาเงินทุนนั้น นายกอบศักดิ์ชี้ว่าเพื่อให้หน่วยงานนี้เข้มแข็ง มีกำลังที่จะทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ กมธ.จึงเสนอให้มีเงินทุนในการจัดตั้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 พันล้านบาท เป็น 1 หมื่นล้านบาท และให้ดำเนินการเฉพาะในส่วนของที่ดินของภาคเอกชนเท่านั้น อย่างไรก็ตามการดำเนินการของธนาคารที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงเห็นสมควรให้มีมาตรการฟื้นฟูควบคู่ไปด้วย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้เกษตรกรและคนยากจน มีความสามารถที่จะไถ่ที่ดินกลับคืนไปได้ จากนั้นที่ประชุมสปท.มีมติเห็นชอบรายงาน 165 ต่อ 7 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ก่อนจะส่งรายงานนี้ให้ประธานสปท.เพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

 เปิดสาระสำคัญก.ม.ธนาคารที่ดิน

ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ที่สปท.เห็นชอบจากต้นร่างเดิม ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สนช.)เคยพิจารณาไว้ก่อนหน้า มีความยาว 11 หน้าพิมพ์รวม 49 มาตรา แบ่งเป็น หมวด ประกอบด้วย หมวด 1 การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ หมวด 2 ทุนและรายได้ หมวด 3 คณะกรรมการและการบริหารจัดการ หมวด 4 การได้มา และการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพย์สิน หมวด 5 การบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผลงาน หมวด 6 การกำกับดูแล หมวด 7 บทกำหนดโทษ และสุดท้ายบทเฉพาะกาล

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินฉบับนี้ กำหนดให้จัดตั้ง ธนาคารที่ดินขึ้น อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร กฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ กฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียตามประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน

สอดรับกับวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเกษตรกรและผู้ยากจนในการกระจายการถือครองที่ดิน ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ยากจนเข้าถึงที่ดินทำกิน และใช้เป็นที่อยู่อาศัย ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดินในทุกมิติ นับตั้งแต่ที่ดินเพื่อทำกิน และเพื่อการอยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชน และบริหารจัดการที่ดินของเอกชน รวมถึงเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐ

 รัฐลงทุนประเดิม 1 หมื่นล.

ในร่างฉบับนี้กำหนดให้ธนาคารที่ดินมีทุนและรายได้มาจากส่วนต่างๆ อาทิ รับโอนกิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิผูกพัน งบประมาณของ บจธ. ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 รวมถึงรัฐบาลให้ทุนประเดิมเริ่มต้น 1 หมื่นล้านบาท โดยจัดสรรให้ปีละ 2 พันล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ ตลอดจนค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการหรือรายได้จากการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร รวมถึงดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของธนาคาร

"คณะกรรมการธนาคารที่ดิน" ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงทางด้านการบริหาร ด้านการเงินการธนาคาร ด้านการจัดการที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ หรือวิทยาการอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของธนาคาร ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกลุ่มเกษตรกร ผู้แทนองค์กรชุมชนแออัด ผู้แทนภาคประชาสังคมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากกระบวนการสรรหา มีผู้อำนวยการธนาคารที่ดิน เป็นกรรมการและเลขานุการ

ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีมาตรการควบคุม ประธาน กรรมการ ผู้อำนวยการและพนักงานของธนาคาร ในระดับที่เข้มข้น กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการสำคัญ อาจเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และเสียค่าสินไหมทดแทนได้ ทั้งยังห้ามมิให้ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและแข่งขันกับกิจการของธนาคารที่ดิน

รวมถึงเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทเอกชนหรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของธนาคารที่ดิน ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ผู้อื่น เว้นแต่จะได้แจ้งให้คณะกรรมการทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง รวมถึงห้ามมิให้ซื้อทรัพย์สินของธนาคารที่ดิน หรือขายทรัพย์สินให้แก่ธนาคาร หรือกระทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งกับธนาคารที่ดิน ไม่ว่าจะกระทำในนามของตนหรือของบุคคลอื่น โดยมิได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการ

กรณีผู้ใดรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ 1 -4 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 ให้เวลา5ปีทายาทไถ่คืนได้

ร่างกฎหมายธนาคารที่ดินฉบับนี้ ยังได้กำหนดรูปแบบและวิธีการจัดการทีดินและการเข้าถึงที่ดินได้อย่างน่าสนใจ อาทิ กรณีที่ดินเอกชนที่ธนาคารจัดซื้อมา กำหนดให้จัดให้กลุ่มเป้าหมายในลักษณะของการเช่าเท่านั้น ส่วนกรณีที่ธนาคารที่ดินให้ความช่วยเหลือไถ่ถอนจำนำ จำนอง ขายฝาก หากเจ้าของไม่สามารถผ่อนชำระกับธนาคารได้ ที่ดินนั้นตกเป็นของธนาคาร กำหนดให้ทายาทโดยธรรมสามารถไถ่ถอนที่ดินนั้นจากธนาคารที่ดินได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ที่ดินตกเป็นของธนาคารที่ดิน โดยการไถ่ถอนดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธีการเช่าซื้อที่มีกำหนดระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ในร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการธนาคารที่ดินสามารถเพิกถอนสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินจากกลุ่มเป้าหมายได้ กรณีหากใช้ที่ดินไม่ตรงตามระเบียบหรือขัดระเบียบอื่นที่คณะกรรมการกำหนดขึ้นได้

ต้องตามติดว่า ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดินนี้ จะผ่านกระบวนการนิติบัญญัติออกมาจนมีผลบังคับใช้ได้ทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559